"จรัญ" ตำหนิ ฝ่ายบริหาร ลดโทษ "คนโกง" กระทบ กระบวนยุติธรรม-จี้ นายกฯ ดูแล

"จรัญ"  ตำหนิ ฝ่ายบริหาร ลดโทษ "คนโกง" กระทบ กระบวนยุติธรรม-จี้ นายกฯ ดูแล

"จรัญ" ชี้ลดโทษคนโกง กระทบกระบวนการยุติธรรม แนะหาทางแก้ไข วางบรรทัดฐานป้องกัน เสนอให้ประชาชน ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ชี้ลดโทษคนโกง ขัดรัฐธรรมนูญ

          นายจรัญ ภักดีธนากุล ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่าน FM101 ต่อกรณีที่สังคมวิจารณ์กรณีที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เสนอลดโทษนักโทษในคดีทุจริต คอรัปชั่น ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะกว่าจะตัดสินคนที่ทำผิดต้องตรวจสอบ ไต่สวน สืบสวนนานหลายปี เพื่อไม่ให้กล่าวหาใส่ร้ายคนที่สุจริต ทั้งนี้ ต้องรู้ธรรมชาติของคนเกเร หากไม่จำนนด้วยหลักฐานจะมีช่องทางหาทางออกไปเรื่อย ต้นเหตุมาจากการบริหารโทษ ไม่ว่าบริหารอะไร ไม่ใช่ทำตามใจชอบต้องทำให้ถูกกฎหมาย จึงอ้างกฎหมาย และระเบียบ การบริหารกิจการใดไม่ใช่เอากฎหมายอย่างเดียว แน่นอนต้องไม่ผิดกฎหมายเป็นสำคัญ พวกฉลาดทำถูกกฎหมาย แต่ระบบคุ้มครองสังคมต้องดูต่อไปว่า ฝ่าฝืนสำนึกของสุจริตของสังคมหรือไม่ มีที่ไหนในโลก จำคุกมา 4 ปี 4เดือนขออภัยโทษให้ 4 รอบ

 

          นายจรัญกล่าวด้วยว่าการยกร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษไม่ต้องโทษหน่วยงาน เพราะรัฐมนตรีเป็นคนยกร่าง เสนอให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ความเห็นชอบ แต่ยอมรับว่า ครม. ต้องพิจารณาเป็นร้อยเรื่อง พิจารณาแบบไฟลนก้น เมื่อพิจารณาเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะปล่อยคนจน คนยาก เป็นทานบารมี แต่กรณีที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ คือ นำพระราชอำนาจมาใช้ ควรตรวจสอบรายละเอียดไม่ใช่ ขอเป็นการทั่วไป และต้องกลั่นกรอง และตรวจสอบในเหตุผลที่สมควร

         “คดีทุจริตโกงบ้านกินเมืองที่ทำลายประเทศมากกว่าคดียาเสพติด และทำให้ประชาชนทุกยากแสนเข็ญมากกว่า  ดังนั้นคดีทุจริต คอรัปชั่นต้องเคร่งครัดมากกว่าคดียาเสพติดที่มีเงื่อนไข อย่างคดียาเสพติดยังมีการขอรอบเว้นรอบ แต่คดีทุจริตนี้นี้ทุกรอบ คนที่โกงและจับได้ชัดๆ มีโทษจำคุก 50 ปี แต่ลดเหลือ 6 ปี 10 ปี แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากเป็นการบริหารไม่ใช่ good governance แบบนี้เป็น bad governance แบบนี้ต้องแก้ไข ไม่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่คนแย่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกันหมด อย่างไรก็ดีตนมองว่าเรื่องดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมต้องดูแล เพราะคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหารต้องดูแลประเทศ” นายจรัญ กล่าว

 

 

         นายจรัญ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขเรื่องดังกล่าวมีช่องทางที่ทำได้ คือ ใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230(1) เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) และมาตรา 63  โดยกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญต้องรับ เพราะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 175 และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญจริงจะถูกตีตก  แต่กรณีดังกล่าวหาใช้ตามช่องทางและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างไรต้องเคารพในอิสระและความเป็นกลางของสถาบันตุลาการของชาติ

 

         “ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่ากฎหมายในชั้นพระราชกฤษฏีกา ขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชกฤษฏีกาเลือกตั้ง หลายครั้งขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ดังนั้นช่องทางนี้เป็นไปได้ และไม่กระทบกระเทือนพระองค์ เพราะไม่ใช่กระแสรับสั่ง เป็นการบริหารโทษของฝ่ายบริหารที่คานอำนาจของฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้ผมเชื่อว่าคำวิจฉัยดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต แต่ผลที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศใช้ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะตามกฎหมายห้ามย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ” นายจรัญ กล่าว