"นิกร" ชี้สภาฯล่มบ่อย สัญญาณเตือน "ยุบสภา"
"นิกร" ประเมินสัญญาณเตือนยุบสภา หากสภาฯมีปัญหา-ล่มบ่อย พร้อมเผย ปมเหตุ สภาฯ ล่มล่าสุด เพราะ "ก้าวไกล" เห็นแย้งรายงานลุ่มน้ำ
นายนิกร จำนง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสภาล่ม 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์ โดยล่าสุดเกิดขึ้นวันที่ 17 ธันวาคม ก่อนการลงมติรายงานรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มี นายธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ฯ ว่า ตน ได้ให้ความเห็นไว้ในที่ประชุมแล้วว่า ในการประชุมเพิ่มวันศุกร์จะ มีปัญหาตามสมควรเนื่องจากเป็นช่วงปลายของสภา กฎหมายประกอบและธรรมนูญก็ออกแล้วเป็นบัตร 2 ใบ เขตเลือกตั้งเริ่มจะไม่แน่นอนว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นส.ส.เขต ซึ่งมีหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นปากเสียงของประชาชน จึงน่าเห็นใจส.ส.เขต และสัญญาเลือกตั้งก็เริ่มมาแล้ว ส.ส.ต้องลงพื้นที่เพราะเป็นสภาพบังคับ เมื่อเป็นวันศุกร์เขาก็จะมีปัญหากดดัน
"ประธานสภาฯ หหรือวิปทั้ง2ฝ่ายไว้ว่า วันศุกร์จะพิจารณารายงานของกรรมาธิการ เพื่อส่งไปยังรัฐบาล ขออย่าเคร่งครัดในเรื่ององค์ประชุม อย่างไรก็ตาม ผมได้ชี้ว่าจะต้องระวังฉบับที่มีปัญหานี้ เนื่องจากถูกแย้งโดยพรรคก้าวไกล เมื่อไม่เห็นด้วยอาจต้องมีการลงมติ ส.ส.บางคนจึงคิดว่าคงไม่มีการเสนอให้นับ คงเข้าใจว่าไม่ซีเรียสเพราะเคยคุยกันไว้เดิมแล้วว่าถ้าเป็นรายงานของสภาไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านหรือของฝ่ายรัฐบาลก็จะช่วยกันประคับประคองเพื่อจะได้ส่งต่อไปยังรัฐบาล จึงเกิดปัญหาขึ้น" นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่า ในการประชุมสภาฯ สัปดาห์หน้า มีความเห็นกันว่าในช่วงปีสุดท้ายเนื่องจากยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ต้องเปิดโอกาสให้วันเวลาของส.ส.ได้ลงพื้นที่บ้าง เพราะเขตเลือกตั้งก็ยังไม่แน่นอนเพราะเพิ่มเป็น 400 เขต บัตร2ใบ สัญญาณการเลือกตั้งเริ่มขึ้น ต้องหาเสียงพบประชาชน ซึ่งก็เห็นใจส.ส.เขต เพราะ ไม่เช่นนั้นรักษาสภาได้แต่รักษาความเป็นส.ส.ของตัวเองไม่ได้ ขอให้วิป2ฝ่าย ได้ตกลงกันให้ชัดเจน ควรจะเป็นลักษณะเหมือนกระทู้ เพราะถ้าเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งก็สามารถดำเนินการได้ ในช่วงปีหลังต่างฝ่ายต่างต้องเห็นใจกันในฐานะตัวแทนประชาชน ที่ต้องทำหน้าที่นิติบัญญัติและทำหน้าที่ในฐานะเป็นปากเสียงของประชาชน
มีการวิจารณ์ว่าสภาล่มบ่อยอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าสภามีปัญหาอาจทำให้เกิดการยุบสภา
นายนิกร กล่าวว่า การยุบสภาคือสภามีปัญหา ซึ่งการที่องค์ประชุมไม่ครบแล้วทำให้สภาล่มก็ถือเป็นปัญหาอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงต้องพึงรักษาสภากันไว้ ในฐานะส.ส. ถ้าไม่อยากจะเลือกตั้งกันเร็วก็ต้องช่วยกันรักษา เพราะเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสามารถนำไปเป็นเหตุยุบสภาได้ ส่วนที่มีส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีหลายคนไม่มา คงเพราะติดงาน เร่งทำงานเข้าพื้นที่เพราะใกล้สิ้นปี
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านเองก็อยู่ในที่ประชุมจำนวนมาก
นายนิกร กล่าวว่า ฝ่ายค้านเองก็ทำได้ เป็นบทบาทของฝ่ายค้านที่จะทำอย่างนั้น แต่โดยองค์รวมของสภา ก็ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันด้วยในเมื่อเป็นส.ส.ด้วยกัน
ความคืบหน้าร่างกฎหมายลูกของพรรคร่วมรัฐบาล
นายนิกร กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคมนี้เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญคณะทำงานยกร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ2ฉบับฯ ชุดที่มีนายวิเชียร ชวลิต เป็นประธานคณะทำงาน อาทิ ตนเอง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายราเมศ รัตนะเชวง นายชาดา ไทยเศรษฐ์ นายศุภชัย ใจสมุทร นายโกวิทย์ พวงงาม นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ และนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชา (พปชร.) ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (ประธานวิปรัฐบาล) เข้าหารือร่วมกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เรื่องที่จะยื่นร่างดังกล่าวผ่านรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดมีปัญหายุ่งยากในภายหลังจึงต้องหารือกันก่อน เพราะร่างที่กกต. ยกขึ้นมาทำบัตรเป็นเบอร์เดียวกัน อาจจะเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 แต่ทางพรรคร่วมเห็นว่า เป็นบัตรคนละเบอร์กันจะมีปัญหาน้อยกว่า
"ส่วนร่างกฏหมายพรรคการเมือง กกต.แก้มา 2-3 มาตราเท่านั่น ตามอำนาจหน้าที่กกต. แต่ในความเป็นจริง ทราบว่ากกต.เอง มีปัญหาตัวแทนประจำจังหวัดเขตเลือกตั้งอยู่มากในการบริหารจัดการ ก็ต้องเห็นใจกกต. เรา พรรคร่วมรัฐบาลจึงมีการขอแก้กฎหมายพรรคการเมือง เช่น สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนประจำจังหวัด ซึ่งแก้เพื่อให้บริหารจัดการพรรคการเมือง ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น" นายนิกร กล่าว.