เช็ค‘วาระร้อน’จ่อคิวสภา กม.เลือกตั้ง-ญัตติซักฟอก
โควิด - 19 สายพันธุ์โคมิครอน เป็นเหตุ ให้ "ชวน หลีกภัย"สั่งงดประชุมสภาฯ ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2565 และนั่นอาจกระทบต่อการพิจารณาวาระสำคัญ ที่จ่อคิวรอพิจารณาหลายเรื่อง
เปิดศักราชปี2565 ฟากฝั่ง “สภาหินอ่อน” ยังมีวาระร้อนที่จ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาอีกหลายกรรมหลายวาระ แต่ทว่าท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ อย่างโควิด-19 สายพันธุ์โคมิครอนเวลานี้ อาจเป็นเหตุ ให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาฯ ต้องสั่งงดประชุมสภาฯ ในสัปดาห์แรกของเดือนม.ค.2565ออกไป
จากเดิมที่ได้ตกลงร่วมกันระหว่าง “ผู้ควบคุมเสียง” ฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายค้าน ไล่ตั้งแต่ วันที่ 5 ม.ค. 2565 จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ.... ซึ่ง กรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว
ต่อด้วย พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.... คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ , ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ครม. เสนอ ตามการผลักดันของ “ชาวคณะพรรคภูมิใจไทย” ที่ต้องการปลดล็อคลูกหนี้ กยศ. ตามที่เคยได้หาเสียงไว้ และ ร่าง พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ... ครม. เสนอ
แต่แน่นอนว่า “โอมิครอน” กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้งานสภาฯ ที่หวังเหยียบคันเร่ง ต้องชะลอออกไปอีก อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ขณะที่วาระอื่นที่รอจ่อคิวเข้าสภาฯก็จำต้องขยับตามไปด้วย
กระนั้นเมื่อไล่ดูไทม์ไลน์งานสภาฯ ที่สมัยประชุมสามัญ ประะจำปีครั้งที่สอง ที่จะหมดวาระในสิ้นเดือนก.พ.2565 จะเหลือวันที่สามารถนัดประชุมตามสัปดาห์ จำนวน 14 ครั้ง แต่หากนัดเพิ่มพิเศษ ในวันศุกร์ จะได้เพิ่มมาแค่ 7 ครั้ง รวมเป็น 21 ครั้ง
งานหนักจึงตกไปอยู่ที่สภาฯในการแบ่งสรร เวลาที่เหลืออยู่ให้เพียงพอกับวาระที่คั่งค้าง โดยเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายที่ทุกพรรคการเมือง อยากเร่งผลักดัน เพราะได้หาเสียงไว้กับประชาชน หากเข้าสู่วาระพิจารณาและคลอดออกมาใช้ได้ จะเท่ากับว่าได้แต้มต่อในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป ในการสร้างผลงานเชิงนโยบาย
รวมถึงญัตติต่างๆ ที่ “นักการเมือง” ใช้เป็นเวทีเพื่อสร้างกระแสสื่อสารไปยังสังคม เพื่อตรึงความนิยมจากฐานเสียงเดิม และ เพิ่มการรับรู้ - ขยายฐานไปสู่ฐานเสียงกลุ่มใหม่ เช่น ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาฯ ตั้งกมธ.พิจารณาศึกษาและสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกินและขัดต่อหลักนิติธรรมต่อผู้ต้องขังทางการเมือง
ญัตติด่วน ให้ ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและสอบหาข้อเท็จจริงในการสลายการชุมนุม ยุทธภัณฑ์และขั้นตอนสลายการชุมนุมเป็นไปตามกฎหมายหรือมาตรฐานสากล ซึ่งการชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอโดย “ส.ส.พรรคเพื่อไทย” เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้วยังต้องจับตาการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ต้องแก้ไข เพื่อเตรียมใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ล่าสุดมีเสนอต่อ “ชวน” ฐานะประธานรัฐสภา แล้ว 7 ฉบับ
แบ่งเป็น ของพรรคร่วมรัฐบาล 2 ฉบับ, ของพรรคเพื่อไทย 2 ฉบับ, ของพรรคก้าวไกล 2 ฉบับ และ ของพรรคประชาชาติ 1 ฉบับ และขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น 5 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ยกเว้นของพรรคก้าวไกล 2ฉบับ ที่ยื่นเข้ามาในช่วงสัปดาห์ส่งท้ายปี
เบื้องต้นใช้เวลารับฟังความเห็นประมาณ 15 - 20 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ของสภาฯ จะสรุปรวบรวมความเห็น เสนอต่อรัฐสภา ประกอบการพิจารณาในชั้นรับหลักการ ที่คาดว่าไม่เกินปลายเดือนมกราคม 2565 นี้ เวทีถกกฎหมายลูกจะเปิดฉาก
ทว่าการระบาดของ “โอมิครอน” เหยียบถึงขั้นวิกฤต วาระกฎหมายลูกอาจต้องเลื่อน แม้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐสภาพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน แต่หากวาระรับหลักการ เกินเลยกว่าเดือนมกราคม 2565 เป็นจุดเสี่ยงที่กฎหมายลูกจะเสร็จไม่ทันใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้า
และอีกวาระที่ต้องจับตา คือการยื่นญัตติเพื่อขอให้สภาฯ เปิดอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนะแนะปัญหาต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่ พรรคร่วมฝ่ายเตรียมหารือในรายละเอียด และจะยื่นต่อ “ชวน” ช่วงกลางเดือนมกราคม 2565
ในเรื่องนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า การหารือในช่วงต้นปีใหม่ คือ การเลือกประเด็นที่จะนำไปอภิปราย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยหารือและขอให้แต่ละพรรคกำหนดประเด็น โดยพรรคประชาชาติมีประเด็นที่เตรียมอภิปราย คือ การบริหารงบประมาณและการใช้เงินแก้ปัญหาให้ประชาชน ที่ยังพบความเหลื่อมล้ำและพบปัญหาการทุจริต ทำให้คนบางกลุ่มมีความสุข แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังจมอยู่กับความทุกข์ยาก
ขณะที่เวลาเปิดเวทีซักฟอกแบบไม่ลงมตินี้ คาดว่าจะอยู่ในช่วงกลาง หรือ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก่อนที่สมัยประชุมนี้จะหมดลง
เช่นกัน หากวิกฤตโอมิครอนระบาด เกินขีดควบคุม อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เวทีโชว์อภิปรายของ “ฝ่ายค้าน” อาจได้รับผลกระทบ
ทว่า นอกจากประเด็นการเร่งเครื่องพิจารณาร่างกฎหมาย-ญัตติ-เรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ต้องยอมรับว่าในช่วงปีที่ผ่านมาสภายังเผชิญกับสภาวะ “องค์ประชุมล่ม” ที่กลายเป็นโจทย์สำคัญ ว่า “ฝ่ายรัฐบาล” จะหาทางแก้เกม “ฝ่ายค้าน”ได้อย่างไร
เพราะในขณะนี้แม้แต่ “พรรคพลังประชารัฐ” ฐานะพี่ใหญ่ของวงพรรคร่วมรัฐบาลเอง ยังมีปัญหาขัดแย้งภายใน
แม้ก่อนหน้านี้ เคยกำชับ ส.ส.ให้เข้าประชุม จนถึงขั้นเช็คชื่อเรียงคนและเรียงพรรค ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ หากเปิดประชุม และพบสภาฯ ล่มอีก ตั้งแต่ต้นปี ปัญหานี้จะไม่ใช่เรื่อง ภายในสภาฯอีกต่อไป
แต่จะถูกทวงถามไปยัง “ผู้คุมเสียงตัวจริง” ทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ว่าจะเล่นเกมสองหน้า ให้ “รัฐบาลลอยตัว” ทิ้ง “สภาอับปาง” ไปถึงเมื่อไร?.