"กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ส.ว." แนะ 4ข้อ ให้ "นายกฯ" เตรียมพร้อม คุมโควิด ระลอก5

"กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ส.ว." แนะ 4ข้อ ให้ "นายกฯ" เตรียมพร้อม คุมโควิด ระลอก5

สมชาย เผย ส่งจดหมาย ถึง นายกฯ แนะ 4 ข้อเร่งเตรียมพร้อม รพ., ATK , จัดระบบฉีดวัคซีน และ ทำความเข้าใจประชาชน หวังลดความตระหนก การระบาดระลอก5

         นายสมชาย แสวงการ  ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ฯ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเสนอแนะถึงการเตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและรวดเร็ว ที่เชื่อว่าจะเป็นการระบาดในระลอก 5 จำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 

 

           1. รัฐบาลควรหาแนวทางการบริหารจัดการระบบการกระจายวัคซีนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการจองวัคซีนได้โดยง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะการระบาดของสายพันธ์ุโอมิครอน ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่5 อย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับวัคซีนและมีผู้ต้องการวัคซีนกระตุ้น เข็มสาม แต่พบว่าระบบจองวัคซีนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนสับสน

 


             2. รัฐบาลควรจัดระบบการรักษาพยาบาลให้มีความชัดเจน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศสามารถรองรับผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง ควรกักตัวและรักษาอาการป่วยที่บ้านพัก กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง กลุ่มที่มีโรคประจำตัวและเด็กให้ส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นต้น เพราะการแพร่ระบาดที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ที่ไม่สามารถจัดสรรการรักษาพยาบาลให้เพียงพอ 

        นายสมชาย กล่าวด้วยว่า

3.รัฐบาลควรจัดหาชุดตรวจ ATK เพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมทั้งให้ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดตรวจดังกล่าวได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

4. รัฐบาลควรมีการสื่อสารข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 5 กับประชาชนโดยตรง ทั้งในเรื่องการเข้ารับการรักษาพยาบาล การเข้าถึงวัคซีนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเตรียมความพร้อมและรองรับการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

         "คณะกรรมาธิการฯ ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์ โอมิครอน ที่มีการแพร่ระบาดและมีอัตราการติดและแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และพบว่า ภายหลังช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวเป็นอย่างมาก" นายสมชาย กล่าว.