ป.ป.ช.เปิดตัว “ศูนย์ป้องปรามทุจริต” รวมเบาะแสชี้ช่องโกง ป้องราชการเสียหาย
ป.ป.ช. เปิดตัว “CDC” ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมการแจ้งเบาะแสทุกช่องทาง วิเคราะห์ข้อมูลก่อนเข้าเตือน ป้องราชการเสียหาย หากพบกระทำผิดเสร็จไปแล้ว ลุยสอบต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการแถลงข่าวเรื่อง “CDC ป้องปรามทุจริต มิติใหม่” โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้แถลง พร้อมด้วย 2 ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คือ นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล และนายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 63 โดยรัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. สร้างบทบาทภาคีเครือข่าย ทั้งประชาชน เอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ ชี้ช่องเบาะแสเข้ามา เมื่อมีกลุ่มภาคีเครือข่ายที่จัดตั้งแล้วทั่วประเทศ ต้องสร้างช่องทางการชี้ช่องเบาะแสให้เขา กลุ่มภาคีฯมีการตื่นตัวมาก หากสังเกตในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่สามารถแชร์ข้อมูลในระบบสารสนเทศ เป็นช่องทางใหม่ให้ผู้แจ้งเบาะแสส่งข้อมูล ประเด็นการพบเห็นความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่รัฐมาให้กับ ป.ป.ช. ได้ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ ตรวจสอบขยายผล
“เมื่อมีการแจ้งหลายช่องทาง รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ ศูนย์ดำรงธรรม ตู้ ปณ.100 ก็ตาม อาจก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน การรับรู้ร่วมกัน จึงเกิดแนวความคิด CDC เพื่อรวมเครือข่ายทั้งหมด และเฝ้ามอนิเตอร์เครือข่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือประเด็นต่าง ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากพบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. จะเข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นก่อน โดยกระจายไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดต่าง ๆ โดยศูนย์ CDC จะเฝ้ามอนิเตอร์ทั้งหมดว่ามีข้อมูลข่าวสารอะไร และมีการนำเสนอไปยังส่วนกลาง และมีศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ก่อนสั่งการไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ทั่วประเทศ” นายนิวัติไชย กล่าว
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า ส่วนการทำงานในเชิงป้องปราม เมื่อ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่า การกระทำผิดอาจเกิดขึ้น แต่ไม่สำเร็จผล เช่น เมื่อมีโครงการก่อสร้าง มีการร้องเรียนเข้ามา ก่อสร้างไม่ถูกต้อง เครือข่ายสมาชิกแจ้งเบาะแสมาในช่องทางข้างต้น ปรากฏว่า ป.ป.ช. รับทราบ และลงพื้นที่ตรวจสอบ ให้ข้อแนะนำหน่วยงานราชการว่า ก่อสร้างไม่ถูกต้อง ขอให้ปรับปรุงแก้ไข ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐแก้ไขตามข้อแนะนำของ ป.ป.ช. มาโดยตลอด เป็นเหตุให้ไม่มีการกระทำผิด ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ทางราชการไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำ เพราะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นต้น
“นี่เป็นมิติใหม่ของ ป.ป.ช. จะชูนโยบายในการป้องปราม หากเหตุการณ์กระทำผิดเกิดขึ้นสำเร็จไปแล้ว จะเข้าสู่โหมดการปราบปราม ป.ป.ช. จริง ๆ ไม่อยากจะเข้าโหมดนี้ เพราะคดีแต่ละวันเยอะมาก เพราะต้องใช้ระยะเวลา 1-3 ปี เพื่อไต่สวนคดีให้แล้วเสร็จ มีคนรับผิด ราชการเสียหาย ดังนั้นแนวคิด CDC จะคอยมอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสารทุกอย่าง มีการวิเคราะห์ เพราะไม่ใช่ทุกเรื่องเป็นอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. แต่มีการประสานหน่วยงานข้างเคียงด้วย เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย” นายนิวัติไชย กล่าว