บทเรียน 62 โจทย์หิน ปชป. กู้กระแส สู่พรรค “แตะร้อย”
สัญญาณเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ กลายเป็นด่านหินของบรรดา "บิ๊กปชป." ที่จะต้องหยุดวิกฤติเลือดไหล เพื่อเตรียมพร้อมสู้โหมดเลือกตั้งเป็น "พรรคแตะร้อย" ตามเป้าที่วางไว้ให้ไดเ
กลเกมการเมือง ที่ดูเหมือนจะไปสอดรับกับสัญญาณเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน หลังจากนี้ เสมือนเป็นสัญญาณเร่งเร้าให้บรรดาพรรคการเมืองน้อยใหญ่ ต่างเร่งจัดทัพรับศึกที่กำลังจะมาถึง
ทว่า ท่ามกลางปี่กลองเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเวลานี้ สภาวะในค่าย “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ ยามนี้กลับยังคงเผชิญกับ “วิกฤติเลือดไหล” ที่เกิดขึ้นแบบไม่หยุดหย่อน
นับเฉพาะช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในรอบสัปดาห์มี “บิ๊กเนมพรรค” ทั้ง อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม.และอดีตแกนนำกปปส. และไพร พัฒโนลา อดีต ส.ส.สงขลา ทยอยยื่นหนังสือออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แม้หัวหน้าพรรค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” จะบอกว่า เป็นเรื่องปกติเหมือนทุกพรรคการเมืองทุกสมัย และมั่นใจว่า ปชป.ยังแน่นเหนียว ทั้งสมาชิกเก่า และสมาชิกใหม่ที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์ เพื่อเดินหน้าเป็นพรรค “แตะร้อย”
แต่ภาพที่เกิดขึ้นย่อมสะท้อนนัยสำคัญอันอาจส่งผลไปถึงการเลือกตั้งหลังจากนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ปชป.มีบทเรียนจากความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งปี 2562 โดยเฉพาะขุมกำลังสำคัญ ฐานที่มั่นภาคใต้ได้ ส.ส.มาเพียง 21 ที่นั่ง เสียเก้าอี้ให้พลังประชารัฐ 14 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 8 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือเป็นของประชาชาติ 6 ที่นั่ง และรวมพลังประชาชาติไทย 1 ที่นั่ง
ฉะนั้น แม้ก่อนหน้านี้ ปชป.จะฮึกเหิมจากการกำชัยชนะ “ 2 สนามเลือกตั้งซ่อม” ทั้งเขต 6 สงขลา และเขต 1 ชุมพร
แต่ด้วยสภาวะเลือดไหลไม่หยุดเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
สถานการณ์ขาลงจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของ “บิ๊กปชป.” โดยเฉพาะ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง แม่ทัพใต้คนล่าสุด ที่เวลานี้กำลังเผชิญศึกสองด้าน ขนาบข้างโดยเฉพาะคู่แข่งในแดนสะตอ ที่รอบนี้ต้องเจอกับอดีตคนคุ้นเคยในหลายพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่สงขลาบ้านเกิด
ไม่ต่างจาก “สนามเมืองหลวง” อย่าง กทม.ซึ่งถือเป็นโจทย์สุดหินของ ปชป. เมื่อรอบที่ผ่านมาพ่ายแพ้ชนิดสูญพันธุ์ ไร้ที่นั่ง ส.ส.กทม.
ทว่า ก่อนถึงการเมืองสนามใหญ่ ปชป.อาจต้องไปลุ้นที่ด่านสำคัญ นั่นคือ ศึกเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯ กทม." ที่ส่ง “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงชิงเก้าอี้ คู่ขนานไปกับการจัดทัพผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขต
โดยรอบนี้ ปชป.เผชิญกระแสดูด ส.ก.เก่าหายไปกว่าครึ่ง จุดนี้เองที่อาจเป็นหนึ่งโจทย์ ในการพลิกวิกฤติ เพื่อกู้ศักดิ์ศรีในพื้นที่เมืองหลวง
นอกจากนี้ด้วยผลโพลที่หล่นวูบในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ด้วยบริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสนามผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งกระแสยามนี้ ให้ความสนใจไปที่ตัว "ผู้สมัคร" มากกว่าการสร้างแบรนด์ ขายความเป็นพรรคการเมือง
จึงไม่แปลกที่การเปิดตัวของบรรดาแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนลงสมัครในนามอิสระ เลือกชูจุดขายตัวบุคคล แม้จะเป็นที่รู้กันว่า แต่ละคนมีพรรคการเมืองใดหนุนหลัง
ฉะนั้น ดร.เอ้ ที่แม้จะสวมเสื้อพรรคสีฟ้าแต่พักหลังจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีการปรับกลยุทธ์ โดยลงพื้นที่ร่วมกับทีมผู้สมัคร ส.ก. มากกว่าการขนแกนนำพรรคปชป.ลงพื้นที่เพื่อขอคะแนนเสียง
อย่างที่รู้กันว่า สนามกทม.รวมถึง ส.ก.รอบนี้ เป็นเสมือนด่านสำคัญ ที่เป็นปัจจัยชี้วัดคะแนนนิยม ที่จะส่งผลไปถึงการเมืองสนามใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ฉะนั้นด้วยกระแสนิยมในค่ายสีฟ้า บวกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในพรรค ทั้งศึกชิงพื้นที่ รวมถึงสภาวะเลือดไหล ที่ยังไม่หยุด ย่อมกลายเป็น ด่านสุดหินของ “บิ๊กปชป.” ต่อจากนี้
โดยเฉพาะ “หัวหน้าจุรินทร์” พักหลังๆ พยายามขายภาพความเป็นเอกภาพภายในพรรค ชูประเด็นการ “ประสานรอยร้าวคนรุ่นเก่า - เป็นกาวเชื่อมคนรุ่นใหม่”
แต่ ปชป.ยามนี้มี “ผู้มากบารมี” ที่กุมอำนาจตัวจริงอาจไม่ใช่ “จุรินทร์” ที่เป็นหัวหน้าพรรค หากแต่เป็น “เสี่ยต่อ”เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ซึ่งทำหน้าที่มือประสานสิบทิศอยู่ ณ เวลานี้
สะท้อนภาพชัด จากท่าที “ลูกหาบ ปชป.” บางคนถึงขั้นประกาศกร้าว พร้อมรับฟังคำสั่ง เสี่ยต่อเพียงคนเดียวเท่านั้น
ยิ่งยามนี้ เป็นยุคที่ “ขั้วเฉลิมชัย” ผงาดด้วยแล้ว จังหวะก้าวย่างของค่ายสะตอจากนี้ ถือเป็นจังหวะที่ต้องจับตา
ยิ่งไปกว่านั้น ท่ามกลาง “ปี่เสียงเลือกตั้ง” ที่ดังไม่หยุดหย่อน เสียงเรียกร้องของบรรดาสมาชิก ที่ส่งไปยังแกนนำ เรื่องการรื้อโครงสร้างพรรค เพื่อหยุดวิกฤติ เลือดไหลก็จะยิ่งเริ่มทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และนับเป็นการส่งสัญญาณอย่างมีมีนัยสำคัญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เอง จึงต้องจับตากลเกมภายในค่ายสีฟ้า ต่อจากนี้ ภายใต้โจทย์สำคัญในการ “ชิงพื้นที่-กู้ศรัทธา-รักษาฐานเสียง” พรรคเก่าแก่ที่สุดในสนามการเมืองไทยให้กลับคืนมา