จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น กำลังยั้งภาวะสายตาสั้นทั่วโลก
ศูนย์ดวงตาแห่งชาติสิงคโปร์ สถาบันวิจัยดวงตาสิงคโปร์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น ผนึกกำลังหยุดยั้งภาวะสายตาสั้นทั่วโลก
ความร่วมมือครั้งใหม่มูลค่า 26.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มุ่งหาทางป้องกันและรักษาภาวะสายตาสั้นที่กำลังเป็นภาระมากขึ้นเรื่อยๆ
ศูนย์ดวงตาแห่งชาติสิงคโปร์ (SNEC) สถาบันวิจัยดวงตาสิงคโปร์ (SERI) และบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น (Johnson & Johnson Vision) ได้ประกาศความร่วมมือด้านการวิจัยมูลค่า 26.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (36.35 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) เพื่อรับมือกับภาวะสายตาสั้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามสุขภาพดวงตาที่ใหญ่หลวงที่สุดในศตวรรษนี้ [1,2,3] โดยภายในปีพ.ศ. 2593 คาดว่าประชากรโลกครึ่งหนึ่งจะมีภาวะสายตาสั้น และราว 1 พันล้านคนจะมีภาวะสายตาสั้นรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคจอตา และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะทำให้ตาบอด [1]
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนครั้งแรกในเอเชียเพื่อรับมือกับภาวะสายตาสั้น จะสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับการเกิดภาวะสายตาสั้น การลุกลามของอาการ และการสกัดกั้นอาการ โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องมือคาดการณ์เพื่อระบุตัวบุคคลที่อาจเสี่ยงต่อภาวะสายตาสั้นรุนแรง รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับกลไกลของภาวะสายตาสั้น การพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ รวมถึงการแสวงหาวิธีการป้องกันการเกิดและการลุกลามของอาการ
นายแพทย์พอล สตอฟเฟลส์ รองประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กล่าวว่า "ภาวะสายตาสั้นกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจทั่วโลก และหากปล่อยไว้ ภาระด้านมนุษย์และการเงินอาจพุ่งสูงขึ้นในอีกหลายสิบปีข้างหน้า โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย"
"เรายินดีที่ได้ร่วมมือกับ SERI และ SNEC เพื่อทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้นต่อภาวะสายตาสั้น และหาทางยับยั้งภัยคุกคามด้านสาธารณะสุขระดับโลกนี้ เราหวังที่จะนำความก้าวหน้าที่สำคัญมาสู่บุคคลและครอบครัวทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกในท้ายที่สุด"
ศาสตราจารย์ออง ติน กรรมการบริหารของ SERI กล่าวว่า "การเพิ่มขึ้นของภาวะสายตาสั้น โดยเฉพาะในประชากรอายุน้อยเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างมาก หากเราเข้าใจกลไกที่ทำให้ภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจะสามารถขุดรากถอนโคนปัญหานี้ได้ SERI มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับบรรดาบริษัทชั้นนำเพื่อจัดการกับโรคที่เกี่ยวกับดวงตา และเรายินดีที่ได้สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อเปิดศักราชใหม่ในการจัดการกับภาวะสายตาสั้น"
ศาสตราจารย์หว่อง เทียน หยิน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ SNEC ระบุว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการผสานรวมทรัพยากร ประสบการณ์ทางคลินิกและวิทยาศาสตร์ และองค์ความรู้ เพื่อสร้างศูนย์วิจัยภาวะสายตาสั้นระดับแนวหน้าที่พร้อมมอบการดูแลรักษาและให้ความรู้ เพื่อสนับสนุนความพยายามระดับภูมิภาคและระดับโลกในการต่อสู้กับภาวะสายตาสั้น "SNEC รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มต่างๆที่มารวมตัวกันเพื่อจัดการกับภาระที่เพิ่มขึ้นของภาวะสายตาสั้น เราอาศัยความแข็งแกร่งหลากหลายด้านของบรรดาแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างกรอบการทำงานใหม่และแบ่งปันความรู้ไปสู่ประชาคมโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดภาวะสายตาสั้นให้หมดสิ้นไป"
ภาวะสายตาสั้นเป็นข้อบกพร่องของดวงตาที่พบมากที่สุดในโลก [1,2] และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคจอตาเสื่อม จอตาลอก ต้อกระจก และต้อหิน หากไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจเป็นสาเหตุหลักของความบกพร่องทางการมองเห็นและภาวะตาบอด [1] ทั้งนี้ ภาวะสายตาสั้นเกิดจากลูกตาที่ยาวกว่าปกติเนื่องจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม [4] ปัจจุบันมีไม่กี่วิธีที่หน่วยงานกำกับดูแลอนุญาตให้ใช้ควบคุมภาวะสายตาสั้น
การคาดการณ์ภาระที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย
- คาดว่าประชากร 5 พันล้านคนทั่วโลกจะมีภาวะสายตาสั้นภายในปี 2593 [1]
- ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและประเทศสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยปัจจุบัน อัตราความชุกของภาวะสายตาสั้นในประชากรอายุน้อยสูงถึง 80-97% ในเขตเมือง [5]
- เด็กๆเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุด เช่นในประเทศจีน อัตราความชุกของภาวะสายตาสั้นในเด็กอายุ 6-18 ปี พุ่งขึ้นจากไม่ถึง 10% เป็น 80% [6] และกลุ่มที่มีการลุกลามจนกลายเป็นภาวะสายตาสั้นรุนแรงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคร้ายแรงเกี่ยวกับดวงตาและสูญเสียการมองเห็นถาวร [7]
- ในสิงคโปร์ เด็ก 1 ใน 2 คนเริ่มมีภาวะสายตาสั้นเมื่ออายุ 12 ปี [8] และ 75% ของวัยรุ่นมีภาวะสายตาสั้นและต้องใส่แว่นตา [9]
- ค่าสายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะสายตาสั้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในระบบดูแลสุขภาพทั่วโลกราว 2.02 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี [1] และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณตามความชุกและความรุนแรงของภาวะสายตาสั้นที่เพิ่มขึ้นตลอดหลายสิบปีข้างหน้า
- เฉพาะในสิงคโปร์ ค่าใช้จ่ายโดยตรงของการแก้ไขภาวะสายตาสั้นอยู่ที่ราว 755 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.04 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ต่อปี [10]
เนื่องจากความซับซ้อนและความชุกของภาวะสายตาสั้น การยับยั้งการแพร่ระบาดจึงต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลาย ตั้งแต่การวิจัยทางคลินิกใหม่ๆ ไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาและการรักษา ทั้งนี้ SNEC, SERI และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น มุ่งมั่นที่จะสานต่อความพยายามเหล่านี้ และร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การรับมือกับภาวะสายตาสั้นในวงกว้าง
จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น มีความเชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาและการวัดสายตา โดยได้รับการสนับสนุนจากความแข็งแกร่ง ศักยภาพ และความครอบคลุมของบริษัทต่างๆในเครือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาสาธารณสุขโลกที่มีความซับซ้อน ส่วน SERI และ SNEC มีจุดแข็งในการวิจัยด้านดวงตาและความเป็นเลิศในการรักษา อันนำไปสู่การยกระดับวิธีการตรวจวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาในสิงคโปร์ ภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลก
เกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์
โครงการมูลค่า 26.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (36.35 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) เป็นความร่วมมือระยะเวลากว่า 3 ปีระหว่างจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น กับสถาบันวิจัยดวงตาสิงคโปร์ (SERI) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของศูนย์ดวงตาแห่งชาติสิงคโปร์ (SNEC) โดยจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น ได้ลงทุนด้วยเงินสดและการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ คิดเป็นมูลค่า 15.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (21.77 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ขณะที่ SERI ได้ลงทุนด้วยเงินสดและการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ คิดเป็นมูลค่า 10.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (14.58 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)
จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น
จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในการปฏิรูปการดูแลสุขภาพดวงตาทั่วโลก เราส่งมอบนวัตกรรมผ่านทางบริษัทในเครือ เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตาสามารถให้การรักษาที่ดีขึ้นแก่ผู้ป่วยตลอดชีวิต ด้วยผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่จะตอบสนองความจำเป็นต่างๆ เช่น การรักษาภาวะสายตาผิดปกติ ต้อกระจก และตาแห้ง เราช่วยให้ผู้คนในชุมชนที่มีความต้องการมากที่สุดได้เข้าถึงการดูแลดวงตาที่มีคุณภาพ นอกจากนั้นเรายังมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ผู้คนมองเห็นได้ดีขึ้น สื่อสารกันได้ดีขึ้น และมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเราได้ทางเว็บไซต์ www.jjvision.com ทวิตเตอร์ @JNJVision และลิงค์อินของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น
สถาบันวิจัยดวงตาสิงคโปร์ (SERI)
SERI ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2540 เป็นสถาบันวิจัยแห่งชาติของสิงคโปร์ที่มุ่งทำการวิจัยด้านจักษุวิทยาและการมองเห็น ภารกิจของ SERI คือทำการวิจัยที่มีผลกระทบสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันภาวะตาบอด ภาวะการมองเห็นได้ต่ำ และโรคเกี่ยวกับดวงตาที่พบบ่อยในชาวสิงคโปร์และชาวเอเชีย SERI เติบโตจากทีมงานผู้ก่อตั้ง 5 คนในปี 2540 สู่ทีมงาน 194 ชีวิตที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์คลินิก นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักศึกษาปริญญาเอก และเจ้าหน้าที่สนับสนุน ส่งผลให้ SERI เป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ และสถาบันวิจัยดวงตาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ SERI ยังมีอาจารย์พิเศษมากกว่า 218 คนจากแผนกดวงตา สถาบันด้านชีวการแพทย์ และศูนย์ตติยภูมิในสิงคโปร์
ณ เดือนกันยายน 2561 SERI ได้จัดทำเอกสารทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 3,295 ฉบับ และได้รับเงินทุนจากภายนอกมากกว่า 307.9 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ คณาจารย์ของ SERI ยังได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติรวมกันมากกว่า 493 รางวัล และยื่นจดสิทธิบัตรมากกว่า 121 ฉบับ ในฐานะที่เป็นสถาบันวิจัยของศูนย์ดวงตาแห่งชาติสิงคโปร์ และเป็นสมาชิกของวิทยาลัยแพทย์ Duke-NUS สังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ SERI ได้ทำการวิจัยด้านการมองเห็นร่วมกับศูนย์จักษุวิทยาคลินิกและสถาบันวิจัยชีวการแพทย์ในประเทศ รวมถึงศูนย์ดวงตาและสถาบันวิจัยชั้นนำทั่วโลก ปัจจุบัน SERI ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกการวิจัยดวงตาคุณภาพสูงในเอเชีย โดยมีการค้นพบสำคัญๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การดูแลดวงตา รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.seri.com.sg
ศูนย์ดวงตาแห่งชาติสิงคโปร์ (SNEC)
ศูนย์ดวงตาแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นศูนย์แห่งชาติภายใต้เครือข่ายสาธารณสุขซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2532 และเริ่มดำเนินงานในปี 2533 โดยเป็นหัวหอกและผู้ประสานงานการให้บริการด้านจักษุวิทยาที่มุ่งให้ความรู้และทำการวิจัยที่มีคุณภาพ นับตั้งแต่เปิดดำเนินงาน SNEC ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันมีผู้ป่วยนอก 330,000 รายต่อปี รวมถึงมีการผ่าตัดใหญ่และการรักษาด้วยเลเซอร์ 34,000 ครั้ง
SNEC ได้จัดตั้ง 10 แผนกย่อยด้านต้อกระจก ต้อกระจกและจักษุวิทยาครบวงจร โรคกระจกตาหรือแก้วตาดำ โรคต้อหิน จักษุประสาทวิทยา เบ้าตาและการตกแต่งรอบดวงตา จักษุวิทยาเด็กและภาวะตาเหล่ การผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ ภาวะตาอักเสบและภูมิคุ้มกันวิทยา และจอตา เพื่อให้การรักษาภาวะผิดปกติของดวงตาทุกรูปแบบตั้งแต่ระดับครบวงจรไปจนถึงระดับตติยภูมิ
SNEC ได้รับรางวัล Excellence for Singapore Award ในปี 2546 จากความเป็นเลิศด้านจักษุวิทยา ซึ่งผลักดันสิงคโปร์ให้โดดเด่นในระดับโลก จากนั้นในปี 2549 SNEC ได้รับรางวัล Minister for Health Award ครั้งปฐมฤกษ์ในสาขาสาธารณสุข นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์คลินิก 3 คนจากศูนย์ดวงตาแห่งชาติสิงคโปร์และสถาบันวิจัยดวงตาสิงคโปร์ยังคว้ารางวัล Science and Technology Award อันทรงเกียรติจากประธานาธิบดีในปี 2552, 2553 และ 2557 จากคุณูปการในการวิจัยต่อยอด การวิจัยทางคลินิก และการวิจัยทางระบาดวิทยาของโรคกระจกตา จอตา และต้อหิน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.snec.com.sg
(C) Johnson & Johnson Vision Care, Inc. 2018
อ้างอิง
1 Holden et al Ophthalmol 2016; 123: 1036
2 Fricke et al Ophthalmol 2018; 125(10):1492-1499
3 Internal data on file
4 Fredrick, D. R. (2002). Myopia. BMJ, 324(7347), 1195-1199. doi:10.1136/bmj.324.7347.1195
5 Ding et al Survey of Ophthalmol 2015.
6 Taiwan, Lin et al 2000 Ann Acad Med Singapore 2004; 33:27-33
7 Chua et al Ophthalmic Physiol Opt 2016; 36 388–394
8 SingHealth, Eye Check A look at common eye conditions
9 HealthXchange, Common Eye Problems by Age Group, Stats and Care Tips
10 The Impact of Myopia and High Myopia: report of the Joint World Health Organization – Brien Holden Vision Institute Global Scientific Meeting on Myopia, University of New South Wales, Sydney, Australia, 16–18 March 2015 Pages 10-11
วิดีโอ - https://mma.prnewswire.com/media/782462/Johnson_and_Johnson_Vision__Myopia.mp4
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/600714/Johnson_and_Johnson_Vision_Logo.jpg
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/782479/Singapore_National_Eye_Centre_Logo.jpg
-ปม-