โรคไตและการดูแลรักษาตัว

โรคไตและการดูแลรักษาตัว

โรคไตเป็นปัญหาสำคัญและมีจำนวนคนไทยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น จากการศึกษาโดยสมาคมโรคไต พบว่ามีการเกิดโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ “ไต” มีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การขับของเสีย ขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย ฉะนั้นถ้าขับไม่ได้ จะมีอาการบวมตามตัว 2. มีหน้าที่เกี่ยวกับการสมดุลของเกลือแร่ ประเภทกรดด่างต่างๆ 3. ไตมีหน้าที่ สังเคราะห์ฮอร์โมนวิตามินต่างๆ  สร้างฮอร์โมนท์ที่กระตุ้นเม็ดเลือดต่อวิตามินดี ฉะนั้นหากไตเสื่อมการทำงานของไตก็อาจจะมีเลือดจาง และมีภาวะขาดวิตามินได้

โดยโรคไตเรื้อรังเป็นภัยเงียบ ช่วงแรกจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นและยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์อีกที เมื่อมีอาการผิดปกติมากแล้ว ซึ่งเมื่อแพทย์สอบถาม มักจะพบอาการ ดังต่อไปนี้

เช่น เวลาที่ราดน้ำหรือกดชักโครก แล้วเกิดมีฟอง ยิ่งฟองเยอะหรือหลายชั้น แสดงว่าผิดปกติ รวมไปถึงสีของปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีสีน้ำล้างเนื้อ สีแดงจางๆ  การเข้าห้องน้ำบ่อย ทั้งระหว่างวัน และตอนนอน หมายถึงมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งคนไข้ควรสังเกตอาการ

โรคไตเรื้อรังแบ่งออกเป็น 5 ระยะ สามารถทราบระยะได้จากการตรวจเลือดและดูค่าของไต ที่เรียกว่า Creatinine มาวิเคราะห์ตามสูตร โดยคำนวนอายุ เพศ น้ำหนัก และคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ถ้าได้ 100 % แสดงว่าปกติ แต่หากคำนวณแล้วอยู่ที่ระหว่าง 90% คือ เป็นโรคไตระยะที่ 1 หากค่าอยู่ที่ 60 – 90 % คือระยะที่ 2 ค่าระหว่าง 30 - 60 % เป็นระยะที่ 3  ซึ่งทั้ง 3 ระยะ แทบจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น แพทย์ต้องซักประวัติและถามอาการอย่างละเอียด แต่หากคนไข้พบว่าเป็นโรคไต ในระยะต้นๆ ถือว่าโชคดี ที่จะทำการรักษา  ต่อมาในระยะที่ 4 คือมีค่าไต 15 – 30%  ระยะที่ 5 ค่าไตทำงานต่ำกว่า 15 %  ถือว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ ไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งจะต้องมีการบำบัดทดแทนไตต่อไป

สำหรับการป้องกันภาวะไตวายได้แก่ การเลี่ยงการกินยาที่เราไม่ทราบสรรพคุณหรือว่ากินยาที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะพวกยาแก้ปวด หรือ ยาสมุนไพรเป็นระยะเวลานานซึ่งหากทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงแล้ว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาแนวทางป้องกัน กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี , ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน หรือโรคเก๊าท์ , ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ตั้งแต่อายุน้อยว่า 35 ปี หรือว่ามากกว่า 60 ปี  รวมทั้งผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไต

อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยเป็นโรคไตแพทย์จะพิจารณาตามระยะและสาเหตุของการเกิดโรค เพื่อไปควบคุมที่สาเหตุหลัก เช่น หากเป็นเบาหวานก็ต้องคุมน้ำตาล , ความดันก็ต้องคุมความดัน,หากเกิดจากยาที่รับประทาน ก็ต้องหยุดยา ควบคุมยาที่มีผลกับไต  สิ่งสำคัญ คือ ต้องควบคุมอาหาร  ลดอาหารเค็ม เพื่อช่วยไม่ให้ไตทำงานหนัก ทั้งยังเป็นการควบคุมความดัน ลดอาหารที่มีไขมันสูงและงดสูบบุหรี่  รวมทั้งการดื่มน้ำเปล่าที่มีอุณหภูมิปกติมากๆ เพราะการดื่มน้ำไม่มีข้อห้ามใดๆ และดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบำรุงไต ให้ทนทานต่อภาวะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้

 

บทความโดย : นายแพทย์วีรศักดิ์  แพร่ชินวงศ์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ติดต่อ 02-836-9999 ต่อ 2921-2