รฟฟท.จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริษัทรถไฟฟ้าร.ฟ.ทจำกัด พ.ศ.2562-2566

รฟฟท.จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริษัทรถไฟฟ้าร.ฟ.ทจำกัด พ.ศ.2562-2566

มุ่งพัฒนา แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้ามาตรฐานระดับสากล

 

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อบริหารการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Rail Link and City Air Terminal Project – Airport Rail Link : ARL) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พ.. 2562 – 2566 ขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล การมุ่งเน้นศักยภาพ/ประสิทธิภาพการเดินรถและการซ่อมบำรุง รวมถึงการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายใน มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้าและขับเคลื่อนองค์กรให้ทันสมัยด้วยทุนมนุษย์ เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม สอดรับกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบรางและทางน้ำของประเทศ เพื่อเป็นกรอบการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะ 8 ปี ตามภารกิจหลักของกระทรวงคมนาคม อันได้แก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้บริการคมนาคมขนส่ง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

โดยจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งจากภายนอกอันได้แก่สถานการณ์โลกและภายใน ได้แก่กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม การขยายตัวของเมือง และการเพิ่มขึ้นของจํานวนประชากรอย่างรวดเร็ว โดยในด้านประชากร กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประชากรคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของจํานวนประชากรรวมทั้งประเทศ ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ก่อให้เกิดปัญหาที่สําคัญหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาจราจรและการขนส่งของเมือง และด้วยเหตุที่กรุงเทพฯ มีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วและการขยายตัวของเมืองที่ไม่ได้มีการวางแผนที่เหมาะสม ทําให้ระบบสาธารณูปการ เช่น ถนนและระบบขนส่งมวลชนที่จะรองรับความต้องการในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชานเมืองที่จะเดินทางเข้ามาในเขตชั้นในของกรุงเทพฯ

ด้วยเหตุนี้ประชาชนที่มีกําลังซื้อส่วนมากจึงเลือกที่จะหาซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาใช้เพื่อการเดินทาง ส่งผลให้ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มเพิ่มต่อไปในอนาคต และเนื่องจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของจํานวนรถยนต์ส่วนบุคคลนี้ทําให้ประชาชนต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากขึ้น และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยจากปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากความเร็ว ความสะดวกสบายในการเข้าถึงและความตรงต่อเวลาของรถไฟฟ้า ราคานํ้ามันผันผวน และรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ยังคงมีปริมาณอุปสงค์ของความต้องการใช้รถไฟฟ้าอยู่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจร และเพื่อความสะดวกสบาย และประหยัดเวลา ซึ่งอย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังต้องมีการพัฒนาแนวเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เดินทาง ให้ครอบคลุมกับความหนาแน่นของประชากรในอนาคต และให้ผู้เดินทางได้มีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น

 

ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พ.ศ. 2562 – 2566 ได้ถูกกำหนดและจัดทำขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆ ทั้งปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อทิศทางขององค์กร ตลอดจนความเชื่อมโยงกับนโยบายของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ประกอบกับการมองภาพรวมองค์กรในระยะยาว 5 ปี โดยในระยะ 1-2 ปีแรก ทิศทางการดำเนินงาน จะมุ่งเน้นในเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร การเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง (Transition Period) เพื่อให้สอดรับตามนโยบายของการรถไฟแห่งประเทศไทย และมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานทั้งในส่วนของการให้บริการเดินรถ และการซ่อมบำรุงรักษา

ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจหลักขององค์กร และในช่วงระยะเวลา 3 - 5 ปี ข้างหน้า จะเป็นการต่อยอดการดำเนินงานตามธุรกิจหลักให้มีความพร้อมเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารงานของ รฟฟท. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการจัดการด้านการบำรุงรักษา การบริหารด้านการเงิน การบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารระบบรถไฟฟ้า ที่จะเป็นระบบหลักของโครงข่ายรถไฟในอนาคตของประเทศ โดยสามารถสรุปประเด็นสำคัญที่ รฟฟท. ต้องให้การสนับสนุนและดำเนินการ ดังนี้

 

  • การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง (Integrated Transport Systems) โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ ที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา จัดทําโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ ซึ่งใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ
  • การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ โดยการสร้างความรู้และทักษะเฉพาะด้านที่ตรงต่อความต้องการของอุตสาหกรรม เช่น ความรู้ด้านภาษา ความรู้ด้านเทคโนโลยี และความรู้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับต่อการเติบโตของประเทศ
  • การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง (Technology and Innovation) มาประยุกต์ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการ และการให้บริการ
  • การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการให้บริการเดินรถไฟฟ้ากับการขนส่งสินค้าในรูปแบบอื่น และเพิ่มความปลอดภัยและความเชื่อถือในกระบวนการบริการเดินรถไฟฟ้า
  • การพัฒนาบริการที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการจาก รฟฟท. ซึ่งควรที่จะพัฒนาทั้งในเชิงการตลาด และพัฒนาคุณภาพการให้บริการควบคู่กัน
  • การไม่เป็นภาระทางงบประมาณของรัฐ โดยพยายามลดผลขาดทุนจากการดำเนินงานหรือการเดินรถ และพยายามหาแนวทางในการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายควบคู่กันไป
  • การปรับปรุงตาม กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องที่จำเป็น เช่น พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกับผู้ประกอบกิจการ และนายจ้างทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดําเนินการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้าง เป็นต้น

ทั้งนี้ รฟฟท. ได้ตั้งเป้าภาพรวมอนาคตตามนโยบายและแผนการดำเนินงานไว้ทั้งสิ้น 5 ประการ ประกอบด้วย 1.ให้บริการด้วยใจ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สร้างความพึงพอใจและความคุ้มค่าแก่ผู้ใช้บริการ 2. สร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานในการเดินรถ และซ่อมบำรุง 3. พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง 4. รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขององค์กร และ 5. อำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ โดยได้ยึดถือแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วยความตั้งมั่น เพื่อผลักดันให้องค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ก้าวไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรว่าด้วย “การมุ่งมั่นเพื่อเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าที่มีมาตรฐานในระดับสากล” ต่อไป