สสส. อิมเมจิน ไทยแลนด์  ชูภูเก็ต ต้นแบบลดอุบัติเหตุ

สสส. อิมเมจิน ไทยแลนด์  ชูภูเก็ต ต้นแบบลดอุบัติเหตุ

โมเดลต้นแบบพลังความร่วมมือในการสร้างความปลอดภัยทางถนนนำภาคีเครือข่ายลงพื้นที่ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สาธารณสุข  ทางหลวงภูเก็ต ขนส่งจังหวัด

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.) และ อิมเมจิน ไทยแลนด์   ชู จังหวัดภูเก็ต  โมเดลต้นแบบพลังความร่วมมือในการสร้างความปลอดภัยทางถนนนำภาคีเครือข่ายลงพื้นที่  เรียนรู้กลไกการสร้างความร่วมมือ ที่ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สาธารณสุข  ทางหลวงภูเก็ต ขนส่งจังหวัด ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ฝ่ายปกครอง ภาคเอกชนจากหลายหน่วยงาน ในพื้นที่ หันมาจับมือร่วมกันแก้ไขทำให้กว่า 10 ปีมานี้สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดภูเก็ต  ลดลงกว่า 50 % และยังตั้งเป้าจะให้ลดลงอีก

 

ดร.  อุดม หงส์ชาติกุล  ผู้จัดการ โครงการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีของเยาวชนไทย Imagine Thailand Movement  กล่าวว่า ความน่าสนใจของจังหวัดภูเก็ตคือกระบวนการสร้างความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบของจังหวัดภูเก็ต   ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า หากทุกส่วนร่วมมือกันจริงๆ มีการแชร์ข้อมูลกัน เสริมพลังกัน  และมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาระดับชาติ ที่คนมักบอกว่าแก้ยาก ใช้เวลานาน นั้น ก็จะสามารถแก้ไขให้บรรเทาลงได้    

 

นอกศึกษารูปแบบการทำงานของภาคีลดอุบัติเหตุของจังหวัดภูเก็ตแล้ว เรายังได้ไปดูการใช้เทคโนโลยีและบทบาทของตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายภูธรจังหวัดภูเก็ต    รวมถึงดูสภาพจุดเสี่ยง  ที่ในอดีตมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก อาทิบริเวณวงเวียนสุรินทร์-นริศร, ควนดินแดง, โค้งประปา,ทางเข้าหาดในยาง แต่หลังจากมีความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็ได้รับการพัฒนา ทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในบริเวณดังกล่าว

 

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการ สำนัก 1 และผู้อำนวยการ สำนัก 10  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า   ภูเก็ตได้ทำเรื่องความปลอดภัยมาต่อเนื่องกว่า 10 ปี และเห็นผลอย่างชัดเจน นับเป็นเบอร์ต้นๆที่สามารถสรุปบทเรียน มาแบ่งปันประสบการณ์ให้ภาคีเครือข่าย ได้เรียนรู้ว่าจะต้องเริ่มอย่างไร เงื่อนไขความสำเร็จอยู่ตรงไหน เขามีการเชื่อมเครือข่ายกันทำงานอย่างไร เขามีการเก็บข้อมูลข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาอย่างไร ที่สามารถทำให้ปัญหาอุบัติเหตุลดลง 

 

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน  ซึ่งเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนในจังหวัด

กล่าวว่า  จังหวัดภูเก็ต มีนักท่องเที่ยว และคนต่างพื้นที่เดินทางออกออกตลอดเวลา  เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่จังหวัดภูเก็ตเฉลี่ยปีละประมาณ  200-300 คน คงเส้นคงวาอยู่เป็นระยะเวลานาน  โดยนับเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย  แต่ในระยะ 10 ปีหลัง ที่มีการผลักดันในเรื่องของความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจัง   มีความร่วมมือกันในระดับพื้นที่อย่างดีมาก มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง  ก็ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในจังหวัดภูเก็ตลดน้อยลงกว่า 50 %  มีการแก้ไขจุดเสี่ยงไปกว่า 200 จุด บางจุดเสี่ยงเคยมีคนเสียชีวิตปีละกว่า 50 คน  หลังจากมีการแก้ไข ปัจจุบันก็มีเพียงการเฉี่ยวชน

หัวใจสำคัญ เกิดจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ ที่เดิมต่างคนต่างทำ มาร่วมมือกันทำงาน ที่เรียกว่า สหสาขาวิชาชีพ เพราะว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด นอกจากนี้ จะต้องมีในเรื่อง สารสนเทศ ที่ทุกฝ่ายจะต้องมีข้อมูล มีการเชื่อมข้อมูล 3 ฐาน ทั้งจากตำรวจ สาธารณสุข และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  ทำให้เรามีข้อมูลชัดเจน   คือถ้าเรารู้ว่าเจ็บเท่าไหร่ ตายเท่าไหร่ ที่เจ็บที่ตายเพราะอะไร เกิดเหตุที่จุดไหน เกิดกับใคร เมื่อไหร่ อย่างไร  เราก็สามารถจัดการปัญหาได้

 

พล.ต.ต. ธีระพล ทิพย์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8   กล่าวว่า  ผลจากความร่วมมือกันมีทั้งสำเร็จ และไม่สำเร็จแต่ส่วนใหญ่สำเร็จ จึงเกิดเป็นภูเก็ตโมเดลขึ้นมา  อย่างไรก็ตามอยากฝากว่า งานจราจรนั้นมันทำคนเดียวไม่ได้ และอุบัติเหตุเป็นเรื่องของทุกคน ประชาชนก็มีส่วนร่วมได้    โดยเริ่มจากไม่ทำผิดกฎหมาย แค่นี้เราก็ประสบความสำเร็จแล้ว

 

 ด้านภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ที่ได้เข้ามาเรียนรู้  คุณพรหมมินทร์ กัณธิยะ  สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)  กล่าวถึงแนวทางนำภูเก็จโมเด็ล ไปขยายผลว่า  ได้มาเรียนรู้ที่จังหวัดภูเก็ต ได้เห็นความพยายามในการที่จะดึงแหล่งทุนจากต่างประเทศมาช่วยกันสนับสนุน รวมทั้งมีการยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องมือ กล้อง CCTV กล้องตรวจจับ ไม่ว่าจะเป็นตรวจจับความเร็ว เรื่องการไม่สวมหมวกนิรภัย  น่าจะเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่ต่อไปในอนาคต หลังจากที่เราได้รับความชัดเจนของการทำงาน น่าจะนำไปสู่การจัดการนำเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยเราได้ยกระดับเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็เชื่อมโยงข้อมูลให้ถึงกัน แล้วจะทำให้ชีวิตคนไทยได้รับการปกป้องให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

โครงการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีของเยาวชนไทย Imagine Thailand Movement  ได้รับการสนับสนุนจากสสส. ท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวโครงการ ทาง Line Official https://lin.ee/C17rI97 หรือผ่าน FB: https://fb.me/imaginethailandmovement