สวนสามพราน-สามพรานโมเดล ชวนสัมผัสคุณค่าเที่ยววิถีอินทรีย์
ชวนสัมผัสคุณค่าเที่ยววิถีอินทรีย์ ตามเส้นทางอาหารดูให้รู้จริง ผัก-ไข่....มาจากไหน ?
ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ของสวนสามพราน ได้ช่วยพัฒนายกระดับให้เกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่าย รวมถึงกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี มีความพร้อมที่จะเปิดบ้าน เปิดฟาร์ม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เริ่มจาก บ้านสวนสานสุข ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ ที่นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในฟาร์มทำให้ลดต้นทุน พึ่งพาตนเองได้ และ ฟาร์มฝันแม่ ฟาร์มพืชผักอินทรีย์ที่มีการบริหารจัดการเป็นระบบ และให้ความสำคัญกับการจดบันทึก ทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องฤดูกาล และกำลังก้าวไปอีกขั้นสู่ Smart Farmer
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน และผู้ริเริ่มสามพรานโมเดล กล่าวถึงความหมายของการเที่ยววิถีอินทรีย์ หรือ Organic Tourism ว่า เป็นการท่องเที่ยวที่ให้มากกว่าเที่ยวแต่การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างระบบอาหารยั่งยืน ซึ่งคุณค่าที่ผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยว ได้สัมผัส ไม่เพียงแค่ ได้เข้าถึง ได้บริโภคอาหารปลอดภัย แต่ยังได้เข้าใจการทำเกษตรอินทรีย์ ได้เห็นกระบวนการผลิตการทำงานในแปลง หลักคิดต่างๆ ที่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เองที่บ้าน รวมถึงได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งจากปราชญ์เกษตรกร และเกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ ที่สามารถนำพื้นฐานความรู้เดิมมาบริหารจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐานสากล มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อเอาชนะข้อจำกัดด้านฤดูกาล ทำให้ได้ผลผลิต ดีขึ้น และช่วยลดต้นทุน ทั้งมีการเชื่อมโยงทำงานกับกลุ่มอย่างเป็นระบบ ทำให้สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในแปลง
สำหรับโปรแกรมท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ซึ่งเป็นทริปที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสามพรานโมเดล และสวนสามพราน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำผู้บริโภคลงพื้นที่ ไปตามเส้นทางอาหารยอดฮิต ไข่-ผัก อาหารจำเป็น...มาจากไหน โดยเป็นโปรแกรมเที่ยววันเดียวกลับ นักท่องเที่ยวสามารถปักหมุดไปเที่ยวยังฟาร์มอินทรีย์ในจังหวัดราชบุรีได้เอง ถึง 2 ฟาร์ม คือ ไปดูฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์ “บ้านสวนสานสุข” ต.อ่างหิน อ. ปากท่อ และไปชมฟาร์มผักอินทรีย์ ที่ “ฟาร์มฝันแม่” ต.น้ำพุ อ. เมือง จ.ราชบุรี
บ้านสวนสานสุข เจ้าของฟาร์ม คือ คุณศุภกร ชินบุตร (จี๊ป) เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ทำหน้าที่ต้อนรับ ก่อนจะนำชมกิจกรรมในฟาร์ม เขาเล่าให้ฟังว่า เดิมเป็นพนักงานบริษัทเอกชนต่างประเทศสายฟาร์ม ซึ่งมีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือใช้ฮอร์โมนต่างๆ ในฟาร์ม ตัวเขาเองต้องสัมผัสสารเคมีจนเกิดปัญหาสุขภาพ เป็นภูมิแพ้ เลยมีแนวคิดว่า อยากปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรให้ปลอดเคมี ปลอดภัย ทั้งตัวผู้ผลิตเอง และตัวผู้บริโภคด้วย
จี๊ป ลาออกจากงาน หันมาสวมหมวกเกษตรกร ตั้งมั่นทำอาชีพเกษตรอินทรีย์ ลองผิดลองถูก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานนานพอสมควร ก่อนจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ เขานำความรู้และประสบการณ์จากสายงานประมง มาปรับประยุกต์กับศาสตร์การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ และเข้าร่วมเครือข่ายสามพรานโมเดล พัฒนาจนได้รับมาตรฐาน USDA และ EU เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จนผลิตไม่ทันตามความต้องการของตลาด
จี๊ป เริ่มเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ เมื่อปี 2558 จากเลี้ยงไว้เก็บไข่กินเองเพียงไม่กี่ตัว ต่อมาขยายเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ มี 3 เล้า สูงสุดเลี้ยงได้ 1,200 ตัว ให้ไข่ ปีละประมาณ 220,000 ฟอง ราคาขายเฉลี่ยฟองละ 6 บาท โดยขายตรงให้กับผู้บริโภค และส่งให้สมาชิกในกลุ่มนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เส้นบะหมี่ไข่ เต้าหู้ไข่ และเบเกอรี่ต่างๆ
ความน่าสนใจของบ้านสวนสานสุข คือ มีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในฟาร์ม สามารถลดต้นทุนได้ไม่น้อย จี๊ปบอกว่า การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์ต้องดูแลเอาใส่ใจ โดยเฉพาะเรื่องอาหารไก่ วัตถุดิบที่นำมาผสมต้องผ่านการผลิตในระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน เช่น รำ ปลายข้าว ผัก ผลไม้สุก ซึ่งหาซื้อค่อนข้างยาก เขาจึงเลือกทำเกษตรผสมผสาน ผลิตอาหารสัตว์ควบคู่ไปด้วย ทำนา ปลูกข้าว ปลูกพืชผักต่างๆ และ นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในฟาร์ม เพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกันลดผลกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มด้วย
“ในฟาร์มจะมีมูลไก่ปีละประมาณ 48 ตัน เรานำมาทำปุ๋ยหมักใช้เอง ใส่นาข้าว บำรุงพืชผัก ที่เหลือขายหรือแลกเปลี่ยนกับสมาชิกในกลุ่ม ส่วนข้าวที่ผลิตได้เก็บไว้กินเหลืองก็แบ่งขาย ปลายข้าว และรำ นำมาผสมเป็นอาหารไก่ ส่วนแกลบนำไปรองพื้นในเล้าไก่ ฟางข้าวนำไปรองรัง และคลุมแปลงปลูกผัก ผักที่ผลิตได้ เกรดดีเก็บไว้กินตกเกรดให้เป็นอาหารไก่ คือ ทุกส่วนภายในฟาร์มเชื่อมโยงกันเป็นวงจร ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” จี๊ปให้ข้อมูล
ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้รับความรู้เรื่องการทำฟาร์มไก่อินทรีย์ครบวงจร ได้เห็นถึงการเตรียมอาหาร ให้ไก่ สูตรอาหารไก่ ทั้งอาหารหลัก อาหารเสริม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการมาฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์ ที่ผู้บริโภคได้เข้าใจว่าเหตุใด ไข่แดงอินทรีย์จึงไม่ใช่สีแดงสด เหมือนไข่แดงทั่วไป พร้อมทั้งได้ชิม ได้ช้อป อาหารแปรรูปที่มีส่วนผสมของไข่ไก่อินทรีย์ เช่น เส้นบะหมี่ไข่ แผ่นเกี๊ยวไข่ ไอศกรีม และเบเกอรี่ ต่างๆ รวมถึงผลผลิตอินทรีย์ อื่นๆ ของเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม เช่น มะพร้าวน้ำหอม สับปะรดบ้านคา ไวน์ม่อน ฯลฯ
ส่วนที่ “ฟาร์มฝันแม่” หรือ ไร่รวงข้าวภูตะวัน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ. ราชบุรี ของครอบครัว “ศรีสาหร่าย” โดยมี แม่ลำพึง ภีรดา (ปลา) – ภิญญา (โอเล่) ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นกัน พร้อมเปิดฟาร์มจริงให้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการแปลง ที่ทำให้มีพืชผักอินทรีย์คุณภาพหลากหลาย ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี รวมถึงประโยชน์ของการจดบันทึกที่ทำให้สามารถยกระดับพัฒนาแปลง เอาชนะความท้าทายของธรรมชาติ ฤดูกาล และก้าวสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์ม
โอเล่ เคยทำงานประจำ เป็นวิศวกร ส่วนปลา จบด้านจิตวิทยา ทั้งสองตัดสินใจลาออกจากงานกลับบ้านมาสานฝันแม่ โอเล่ เล่าย้อนให้ฟังว่า “แม่ทำอาชีพเกษตรอินทรีย์มาก่อนท่านรักอาชีพนี้มาก ฝันอยากมีที่ดินเป็นของตนเองเลยมาซื้อที่จังหวัดราชบุรี เมื่อปี 57 เริ่มทำได้ 2 ปี พ่อเสีย ไม่มีใครช่วย เขากับภรรยาตัดสินใจออกจากงานประจำมาสานต่ออาชีพของแม่
ทั้งสองมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ขยันเติมความรู้ ขณะเดียวกัน นำความรู้ด้านวิศวกรที่มีมาประยุกต์กับภูมิปัญญาของแม่ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้พัฒนายกระดับฟาร์มได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ มีพืชผักที่ได้มาตรฐานและจำหน่ายรวมกว่า 40 รายการ เช่น คะน้า กวางตุ้ง สลัด ปลูกหมุนเวียน แครอท ไชเท้า ผักชี ปลูกตามฤดูกาล ไม่ปลูกซ้ำ โดยบนพื้นที่ 15 ไร่ แบ่งเป็น โซน คือ โซนพืชผัก พืชไร่ โซนไม้ป่าผสมผสาน และโซนไม้ผสมผสาน
ประสบการณ์ในการทำฟาร์มอินทรีย์มา 4 ปี พวกเขาให้ความสำคัญกับการจดบันทึก ซึ่งพบว่า หากสภาพอากาศยังเปลี่ยนแปลงบ่อยแบบนี้ จะต้องหาทางใหม่ๆ มาพัฒนา ซึ่งคำตอบอยู่ที่การทำ สมาร์ทฟาร์ม เพราะท่ามกลางความท้าทายของอากาศเขาต้องมีการเตรียมพร้อมพัฒนาอยู่เสมอ จึงเรียนรู้ และลงทุนทำเป็นสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งจะมีระบบตรวจจับอุณหภูมิ ระบบเซ็นเซอร์ การวัดความชื้นสัมพัทธ์ มีการให้น้ำตามเวลา เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และปลูกผักได้ทุกฤดู
สำหรับที่ฟาร์มฝันแม่ ผู้บริโภคได้เรียนรู้หลักคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ระบบการจัดการฟาร์ม ในรูปแบบสมาร์ทฟาร์มที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ได้เรียนรู้เทคนิคการปลูกผักสลัดได้ทั้งปี ได้เรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก เดินชมสวนผลไม้ สวนป่า และอิ่มอร่อยกับอาหารออร์แกนิก คาว-หวาน หลากหลายเมนู พร้อม ช้อปผัดสดๆ จากฟาร์ม และสิ่งที่ฟาร์มฝันแม่อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ คือ อยากให้เห็นถึงความตั้งใจในการผลิตพืชผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ การปลูกนั้นไม่ยาก แต่การดูแลให้เติบโตพร้อมส่งถึงมือผู้บริโภคนั้นยากกว่า เกษตรกรต้องใส่ใจทุกขั้นตอน
สำหรับหน่วยงาน องค์กร หรือผู้บริโภค ที่สนใจการท่องเที่ยว-เรียนรู้วิถีอินทรีย์ กับสามพรานโมเดล ติดต่อมาได้ที่สวนสามพราน หรือปรึกษาโปรแกรมการท่องเที่ยว เรียนรู้วิถีอินทรีย์ ติดต่อได้ที่สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือสมัคร TOCA Platform กด Link: https://lin.ee/1uDee1A หรือ ติดต่อ ธนัญญา ลาภจิรานนท์ 082 337 7881