แอปพลิเคชันเพื่อเด็กออทิสติก
ไอเดียเจ๋งๆ จากเยาวชนไทย แชมป์ Creative AI Camp By CP ALL ปี 3 จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและ เซเว่น เดลิเวอรี่
หากมีการส่งเสริมที่ดี เยาวชนไทยมักแสดงความสามารถและไอเดียที่โดดเด่นออกมาได้เสมอ เช่นเดียวกับเยาวชนจากค่าย Creative AI Camp ปีที่ 3 ที่จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและ เซเว่น เดลิเวอรี่ และพันธมิตร แม้ปีนี้การเรียนรู้และการปรึกษาหารือเพื่อสร้างสรรค์ผลงานจะยังคงต้องเป็นแบบ Social Distancing ผ่านแพลทฟอร์มผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ แบบ “Phenomena Work-based Education Learning” แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ไอเดียและผลงานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ที่เข้าร่วมค่ายในครั้งนี้
โดยเฉพาะผลงานจากทีม VR Smart Team ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ผลงานของทีมมุ่งเน้นตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ด้านการศึกษา เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพให้แก่กลุ่มเด็กที่มีอาการออทิสติก
ธวัลรัตน์ พิริยเลิศศักดิ์ (แจน) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโยธินบูรณะ สมาชิกทีม VR Smart Team เล่าว่า อัตราการพบเด็กที่มีอาการออทิสติกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญถึงราว 178% เด็กกลุ่มนี้มักถูกมองเป็นภาระของสังคม เพราะไม่สามารถสื่อสารได้อย่างปกติ และไม่สามารถเรียนรู้ในห้องเรียน ทีมของเธอไม่ต้องการให้เด็กกลุ่มนี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงคิดว่าควรหาทางนำ AI มาสร้างสรรค์เป็นแนวทางแก้ปัญหา และออกมาเป็นไอเดียแอปพลิเคชันภายใต้ชื่อ iTeach
เนื่องจากกลุ่มผู้มีอาการออทิสติก จะสามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้ผ่านภาพและเสียง แอปพลิเคชัน iTeach จึงจะนำ 2 เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ได้แก่ 1.เทคโนโลยีเสมือนจริง (Reality Technology) ให้กลุ่มออทิสติกส์ สแกน Flash Card รูปภาพคำศัพท์ต่างๆ ออกมาเป็นภาพแบบ AR และ VR มีเสียงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นสื่อให้กลุ่มออทิสติกสามารถจดจำและเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น 2.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) สร้างตัวละครหญิงที่รับข้อมูลการประมวลผลต่างๆ จาก AI มาพูดคุยโต้ตอบกับเด็กออทิสติก โดย AI จะช่วยประเมินคำพูดและพฤติกรรมเด็ก เพื่อเลือกวิธีการสอนและท่าทางการโต้ตอบที่เหมาะสมผ่านตัวละครหญิง
นอกจากนี้ จะมีฟังก์ชันปุ่มฝึกงาน เพื่อให้เด็กออทิสติกสามารถเข้าไปฝึกงานกับหน่วยงานด้านออทิสติกที่อาจประสานงานกันในอนาคต เพื่อให้เด็กๆ กลุ่มดังกล่าวได้มีโอกาสฝึกงาน ได้รับประสบการณ์และทักษะต่างๆ มากขึ้นสำหรับการใช้ชีวิต “เรามองว่าแอปของเราจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือเด็กออทิสติกไทย ขณะเดียวกัน ก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ต่อยอด เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้เด็กออทิสติกทั้งในไทยและระดับโลก” ธวัลรัตน์ ระบุ
ด้าน ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล Assistant Chief of Information Technology Officer (ACIO) และ ผู้อำนวยการสำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารโครงการ กล่าวว่า ผลงานภาพรวมของเยาวชนค่าย Creative AI Camp ปีที่ 3 นี้ ค่อนข้างโดดเด่นเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมมาสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผลงานสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม (Social Impact) ไม่ได้ยึดติดกับเรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ผสมผสานข้ามศาสตร์ ทำให้มีการเรียนรู้อย่างเข้มข้น และได้รับมุมมองที่ดีจากผู้ถ่ายทอดและกรรมการที่เป็นบุคลากรชั้นนำด้าน AI จาก 4 ชาติ ทั้ง ไทย สิงคโปร์ จีน และไต้หวัน โดยเฉพาะกลุ่มที่สร้างสรรค์ผลงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติก ถือเป็นการนำ AI มาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ เพิ่มโอกาสให้กับคนในสังคมผ่านการใช้เทคโนโลยี
“เราได้นำแนวทางของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Social Impact และเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech มาปรับใช้กับค่ายในปีนี้ด้วย เราจึงมีเกณฑ์คะแนนส่วนหนึ่งว่า นวัตกรรมของน้องๆ ต้องสามารถเข้าไปสร้าง Impact ในระดับภูมิภาคหรือระดับเวิลด์คลาส ซึ่งน้องๆ ปีนี้ทำได้อย่างยอดเยี่ยม” ดร.พงส์ศักดิ์ ระบุ
ที่ผ่านมา เยาวชนที่จบจากค่าย Creative AI Camp ปีที่ 1-2 ได้เติบโตไปเรียนรู้และสร้างสรรค์ผ่านเทคโนโลยีกลุ่ม ABCD อันได้แก่ AI, Blockchain, Cloud, และ Digital Data ในหลากหลายด้าน เช่น การแพทย์ พลังงาน ธุรกิจ การศึกษา ผสมผสานกีฬาหมากล้อมโดยสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยและชมรมหมากล้อมจิตอาสา รวมถึงได้กลับมาช่วยแบ่งปันทั้งองค์ความรู้และแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในค่ายครั้งต่อๆ มา ทางซีพี ออลล์ จะยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้และฝึกฝน (Community of Practice) ผ่านทั้ง Creative AI Club และ Creative AI Camp ปีต่อๆ ไป เพื่อให้เกิดเยาวชนจิตอาสาคนพันธุ์เอไอหัวใจโกะ ที่กลายเป็นกำลังสำคัญในอนาคต (Future Workforce) ร่วมสร้างสรรค์ AI และเทคโนโลยีต่างๆ ขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่อง มีการส่งต่อความรู้ คุณค่าระหว่างเจเนอเรชั่น และร่วมกันขยายผลผลงาน Prototype ที่ช่วยพัฒนาสังคมต่อไป สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของซีพี ออลล์ที่ต้องการร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน
แม้สถานการณ์อาจไม่เอื้ออำนวยต่อการพบกันแบบ Face to Face แต่โลกแห่งเทคโนโลยีและโลกแห่งการเรียนรู้ยังคงขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง เยาวชนและผู้ที่สนใจการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี ยังสามารถมองหาโอกาสในการพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ติดตามความเคลื่อนไหวต่อไปได้ที่ https://www.facebook.com/caicamp/