"ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์" ฉลองครบรอบ 55 ปี ตั้งเป้ารายได้โตไม่น้อยกว่า 30%
"ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์" ฉลองครบรอบ 55 ปี มุ่งเติบโตต่ออย่างมั่นคง มองธุรกิจปี 65 สดใส ตั้งเป้ารายได้โตไม่น้อยกว่า 30% พร้อมเปิดตัวรถอเนกประสงค์ใหม่ รุ่นลิมิเต็ดเอดิชัน "Transformer II-Stradale edition" มีเพียง 55 คันเท่านั้น
นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ เติบโตมาพร้อมการพัฒนาให้มีการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยระยะแรก บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และตัวถังรถยนต์เป็นหลัก เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ก่อนขยายสู่ธุรกิจประกอบรถยนต์อเนกประสงค์ หลังจากรัฐบาลมีนโนบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ในประเทศที่กำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ 30 - 60% ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้บริษัทฯ สามารถผลิตชิ้นส่วนและต่อยอดองค์ความรู้ จนกลายเป็นผู้ประกอบรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์หลายค่าย
บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2510 โดย วิเชียร เผอิญโชค ซึ่งเป็นคุณพ่อ ซึ่งในช่วงแรกใช้ชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยรุ่งวิศวกรรม และจากการเล็งเห็นว่า ในไทยยังไม่มีรถเอนกประสงค์ใช้ คุณพ่อ (วิเชียร เผอิญโชค) ได้ใช้ประสบการณ์ และความชำนาญออกแบบดัดแปลงตัวถังรถบรรทุกอีซูซุรุ่นต่างๆ เป็นกระบะแบบ 2 ตอน 4 ประตูขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย โดยสารได้หลายคนแทนการนั่งในส่วนกระบะที่เสี่ยงอันตราย เรียกว่า "ดับเบิ้ล แค็บ" ทำให้ก้าวเป็นผู้นำในการทำรถอเนกประสงค์ จนต่อมาได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ประกอบรถยนต์จากหลายค่ายและทำตลาดรถด้านนี้เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประกอบรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ภายใต้ชื่อ TR Adventure ของ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, รุ่น TR Xciter ของบริษัท สยามนิสสัน และรุ่น TR Allroader ของบริษัท เชฟโรเล็ต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และอื่นๆ ล่าสุด เป็นรถรุ่น TR TRANSFORMER II ประกอบจากรถ Toyota Revo
ในโอกาสพิเศษ "ครบรอบ 55 ปี ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์" ได้เปิดตัวรถอเนกประสงค์พร้อมชุดแต่งพิเศษ "Transformer II-Stradale edition" มีเพียง 55 คัน เท่านั้น ซึ่งออกแบบสไตล์สปอร์ต ขึ้นลงสะดวก สามารถใช้งานในเมืองได้คล่องตัว เพื่อตอบโจทย์คนยุคใหม่ได้มากขึ้น
"DNA ของ ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ คือ การเติบโตมากับความพยายามใช้ประโยชน์ของรถ ชิ้นส่วนของรถที่ผลิตในไทยมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้ประสบการณ์ความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอด พยายามที่จะพัฒนารถเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทย ทำในสิ่งที่บริษัทรถยนต์ไม่ได้ทำ เป็นการอยู่ร่วมกัน ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทำให้บริษัทฯ รถขายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เราขายอะไหล่เพิ่มขึ้น ใช้ของเจ้าของแบรนด์ 60% ของเรา 40% เป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน นำสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาดมาต่อยอด" นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า กลยุทธ์หลักที่ทำให้ ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ มีการเติบโตอย่างมั่นคงมาถึงปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 55 มาจากแนวคิดบาลานซ์ธุรกิจ ความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้ในยามเผชิญวิกฤติ การรับจ้างผลิต (OEM) ทำให้ได้เรียนรู้สะสมองค์ความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์จากการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมาตรฐานสูง การผลิตชิ้นส่วนสำหรับยนตรกรรมที่หลายประเภท และการสร้างความแตกต่าง เช่น การประกอบรถรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดมาต่อยอดแต่งพิเศษ เพื่อใช้งานเฉพาะด้าน เช่น งานของกองทัพ การบรรเทาสาธารณภัยและอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาสในการลงทุนและมองหาพันธมิตรมาต่อยอดเพื่อนำจุดแข็งมารวมกัน และใช้โอกาสจากความได้เปรียบในการเป็นบริษัทคนไทยที่เข้าใจเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค เข้าถึงผู้ค้า ทำให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นจากลูกค้า
ปัจจุบัน ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จึงมีธุรกิจหลากหลาย ครอบคลุมด้านการออกแบบตัวถังรถ ออกแบบชิ้นส่วน การคัดเกรดตัวถัง ดีไซน์รถ ทำรถต้นแบบ ทำแม่พิมพ์ ชิ้นส่วนโลหะให้ผู้ผลิตรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ผลิตชิ้นส่วนโลหะและพลาสติกให้กับแบรนด์ต่างๆ ในไทย ผลิตชิ้นส่วนรถเครื่องจักรกลทางการเกษตร เครื่องจักรอุตสาหกรรม รถขุดตัก รถแทรกเตอร์ พ่นสี และขยายธุรกิจไปจนถึงการผลิตเคบินหรือห้องโดยสารแก่แบรนด์โคมัตสุ และยันม่าร์ ที่มีการส่งออกไปฝรั่งเศส โดยมีสัดส่วนธุรกิจการผลิตชิ้นส่วน 50% รับจ้างประกอบรถและพ่นสี 35 - 36% ส่วนการทำรถแต่งอเนกประสงค์มีประมาณ 7 - 8% และงานอื่นๆ
สำหรับปี 2565 นายสมพงษ์ มองภาพรวมการดำเนินธุรกิจค่อนข้างสดใส คาดยอดรายได้รวมของบริษัทฯ ปีนี้เติบโต 25-30% จากยอด 2,019.31 ล้านบาท เป็นประมาณ 2,600 ล้านบาท ถือเป็นปีของการฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-2019 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สาเหตุจากการเดินทาง การท่องเที่ยวซบเซา กิจการรถตู้ ธุรกิจทัวร์หยุดชะงัก ปีนี้เริ่มฟื้นตัวและบริษัทฯ มีงานเพิ่มขึ้น ทั้งงานผลิตชิ้นส่วน และรับจ้างประกอบและพ่นสีรถ โดยในส่วนของงานรับจ้างผลิต (OEM) มีออร์เดอร์การผลิตเคบินรถขุดตักเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นปีหน้า รวมถึงงานผลิตถังน้ำมันรถบิ๊กไบค์ ซึ่งบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ มีลูกค้ารายใหญ่แบรนด์ไทรอัมพ์ คาวาซากิ และรอยัลเอนฟิลด์ แบรนด์สัญชาติอินเดียที่มีการส่งออกแม่พิมพ์ไปให้และอนาคตมีแผนมาตั้งโรงงานไทย ทางบริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมปรับปรุงโรงงานเพื่อรองรับงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงงานมีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานประกอบรถหนองแขม กรุงเทพฯ โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จ.ชลบุรี ผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป รองรับย่านตะวันออก และโรงงานผลิตตัวถังรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่คลองเตย เช่น ตัวถังรถดัมพ์ และรถโม่ปูน
ด้านการประกอบรถเฉพาะกิจและรถแต่งพิเศษ Transformer บริษัทมีลูกค้าเป็นหน่วยงานราชการเป็นหลัก รถเฉพาะกิจเช่น รถสำหรับใช้งานป้องกันสาธารณภัย น้ำท่วม ไฟไหม้ รถบัญชาการ และเวลานี้ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ได้พัฒนารถหุ้มเกราะกันกระสุนเสร็จแล้ว สามารถกันกระสุนได้ 100% น้ำหนักเบาและแข็งแรง คาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมาตรฐานได้ในอนาคตอันใกล้ เหมาะสำหรับหน่วยงานของกองทัพ ใช้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และรักษาความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ศาล เป็นต้น โดย Transformer ยังผลิตขายเฉพาะในประเทศและส่งออกในโซนเอเชีย มีตลาดใหญ่อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซื้อไปประมาณ 150 คัน และมีภาครัฐจากบังกลาเทศจัดซื้อไป 5 คัน ในปี 2565 นี้ ตั้งเป้ายอดขายรถ Transformer อยู่ที่ 250 คัน มีสัดส่วนส่งออกและในประเทศ 50 - 50%
ส่วนทิศทางของบริษัทฯ ในอนาคต ท่ามกลางกระแส ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือรถพลังงานสะอาดที่กำลังมาถึงนั้น นายสมพงษ์ มองว่า รถไฟฟ้ามาแน่นอน ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือ ระบบขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์เป็นไฟฟ้า แต่ส่วนประกอบอื่นๆ ยังไม่เปลี่ยน เช่น ตัวถังเบาะยางและอุปกรณ์ตกแต่งภายใน เปลี่ยนในด้านอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น คาดว่าจะได้เห็นรถไฟฟ้า หรืออีวี เพิ่มขึ้นและเกิดแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มในอนาคต เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำลง จากชิ้นส่วนหลักที่เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนมีองค์ประกอบน้อย และผู้ผลิตชิ้นส่วนของรถไฟฟ้าส่วนใหญ่จะกลายเป็นผู้ผลิตอิสระเพิ่มขึ้น ซึ่งผลิตชิ้นส่วนใช้เปลี่ยนทดแทนได้ คล้ายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โดยจีนเป็นเจ้าตลาดทางด้านนี้ ที่สำคัญแบตเตอรี่มีแนวโน้มราคาลดลงเช่นกัน โดยจากข้อมูลการวิจัยในต่างประเทศประเมินว่า ราคาแบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนประกอบของรถไฟฟ้า 40-50% นั้นจะลดลง เหลือประมาณ 20% ภายใน 10 ปีข้างหน้า
"ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ พร้อมปรับตัวรับมือ โดยมองว่า โอกาสที่จะเข้ามาคือ การขายชิ้นส่วน เช่น ตัวถังและชิ้นส่วนอื่นๆ ให้กับทั้งผู้ผลิตรายเดิมและผู้ผลิตรายใหม่ จากแนวโน้มความต้องการชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักเบา รวมถึงโอกาสในการรับจ้างประกอบรถอีวี และ ไทยรุ่งฯ จะมองหาพันธมิตร ที่มีผลิตภัณฑ์ดีมีคุณภาพเพื่อนำมาขาย หรือเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วยอีกทาง รวมถึงโอกาสที่จะได้พัฒนารถแต่งพิเศษ" นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของรถ Transformer อนาคตอาจมีการพัฒนาเป็นรุ่นอีวีเช่นกัน หลังจากปัจจุบันมีการขยายรับจ้างประกอบยานยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว เป็นมินิบัสไฟฟ้าและตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่งตุ๊กๆ ปีนี้ มีออเดอร์อยู่ในมือแล้วราว 700 คัน นอกจากนี้จะมีการออกแบบรถ Transformer เพื่อให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบขึ้น เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าในราคาที่จับต้องได้ ระหว่าง 1.4 - 1.9 ล้านบาท
ส่วนตลาดรถอื่นๆ ที่มองไว้ เป็นตลาดรถโดยสาร ท่ามกลางการเดินทาง การท่องเที่ยวฟื้นตัว และตลาดรถด้านโลจิสติกส์ที่มีการเติบโตล้อตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเพื่อให้มีการขนส่งได้อย่างคล่องตัว
หลังจากนี้ ทางบริษัทฯ จะเดินหน้าเชิงรุกทำการตลาดเพิ่มขึ้น โดยปรับกลยุทธ์เน้นประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น ซึ่งในกลุ่มรถอเนกประสงค์นั้นยังคงเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าในประเทศที่ชอบความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่อยู่ในกรอบอายุที่ลดลงมา ไม่เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีอายุมากเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากพบว่า กลุ่มลูกค้าเปลี่ยนไปไม่ใช่เฉพาะตลาดบนอย่างเดียว แต่เป็นคนไม่เคยใช้รถ Transformer มาก่อน แต่พบเห็นและถูกใจ มีการศึกษาข้อมูลอย่างดีก่อนซื้อ รวมถึงกลุ่มยูทูปเบอร์อายุไม่มาก อีกทั้งจะจัดกิจกรรมส่งเทสต์รถเพิ่มขึ้น