กรมวิชาการเกษตรลุยต่อยอดวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ขยายผลสู่เกษตรกร

กรมวิชาการเกษตรลุยต่อยอดวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ขยายผลสู่เกษตรกร

กรมวิชาการเกษตรลุยต่อยอดวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ขยายผลสู่เกษตรกร

การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยในเวทีโลก  โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพืช โดยเฉพาะการผลิตพืชพันธุ์ดีที่พร้อมขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์สู่เกษตรกรและหน่วยงานภายนอกที่สนใจ

นายสุรกิตติ  ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง  ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในทุกภาคของประเทศมาตั้งแต่ปี 2519 วัตถุประสงค์หลักของการปรับปรุงพันธุ์คือ ให้ผลผลิตสูงขึ้น ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช  มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ช่วยยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ปัจจุบันโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชและให้การรับรองพันธุ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลักที่นิยมปลูกกันทั่วประเทศ เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน กาแฟ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น

กรมวิชาการเกษตรลุยต่อยอดวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ขยายผลสู่เกษตรกร

กรมวิชาการเกษตรลุยต่อยอดวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ขยายผลสู่เกษตรกร

ทั้งนี้กว่าจะได้พันธุ์พืชใหม่ไปส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรปลูกจะต้องผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการรับรองพันธุ์พืชเป็นพันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณา กลั่นกรอง การตรวจสอบ ลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะดีเด่นทางการเกษตร และข้อมูลทางวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการระดับหน่วยงานในคณะต่าง ๆ และคณะสุดท้ายคือคณะกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้อนุมัติเป็นพันธุ์รับรอง โดยการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จะใช้เวลาในแต่ละพันธุ์พืชประมาณ 5-15 ปี (แล้วแต่ชนิดของพืช)

ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองพันธุ์พืชไปแล้วจำนวน 280 พันธุ์ โดยในขั้นตอนของการรับรองพันธุ์ และเป็นพันธุ์รับรองของกรมฯ นักปรับปรุงพันธุ์พืชต้องทำโครงการวิจัยขึ้นมา เพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่ดี  เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เป็นพันธุ์ที่ตอบสนองต่อตลาดและผู้บริโภค ส่งต่อถึงเกษตรกร

สำหรับทิศทางงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตรในปีงบประมาณ 2567 นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กำหนดนโยบายตามแนวทาง “ตลาดนำการวิจัย” โดยมี 5 ทิศทาง คือ 1.วิจัยและพัฒนาสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG โมเดล 2.วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด 3.วิจัยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่  และตอบสนองต่อผู้ใช้ 4.วิจัยและพัฒนาตามพระราชบัญญัติที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบทั้ง 6 ฉบับ และ 5.วิจัยและพัฒนาการแก้ปัญหาวิกฤตใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาร์บอนเครดิต โดยวิจัยพืชใหม่ ๆ เช่น แพลนท์เบส (Plant Based) หรือพืชโปรตีนต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการวิจัยทั้งหมด 289 โครงการที่จะดำเนินการในปี 2567-2568