กรมวิชาการเกษตร หนุน “พืชไร่” สู่เกษตรอินทรีย์ สร้างความยั่งยืน
กรมวิชาการเกษตร หนุน “พืชไร่” สู่เกษตรอินทรีย์ สร้างความยั่งยืน
ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้ผลิตอย่างเกษตรกรต้องปรับตัว และหันมาผลิตอาหารที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ "เกษตรอินทรีย์"
นางโสภิตา สมคิด รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรอินทรีย์ ได้ขยายการผลิตไปสู่พืชไร่ ได้แก่ อ้อยและมันสำปะหลัง เนื่องจากมีตลาดรองรับ นักวิจัยและเกษตรกรสู้ด้วยใจที่รักความเป็นอินทรีย์ รวมทั้งบริษัทเองก็มีตลาดรับซื้อที่ให้ราคาสูงด้วย
แต่ที่มีประเด็นก็คือ ค่าตรวจรับรองมาตรฐานทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ที่จะส่งสินค้าไปตลาดต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูง ในการผลิตพืชไร่อินทรีย์ทั้ง 2 ชนิด เอกชนซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขอรับรองมาตรฐานสากลให้กับเกษตรกร ทำให้บริษัทมีต้นทุนรวมการผลิตที่สูงกว่าพืชปกติ ทำให้การแข่งขันทางการค้าทำตลาดได้ยากมากขึ้น การเพิ่มต้นทุนค่าตรวจรับรองตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้า ทำให้ไม่สามารถที่จะปรับราคาเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรกรอินทรีย์ให้สูงกว่ามันสำปะหลังที่ใช้เคมี ซึ่งในปีที่ผ่านมาราคามันสำปะหลังสูงเกือบจะแตะ 4 บาท/กิโลกรัม ส่วนอ้อย ถ้าทำเกษตรอินทรีย์เกษตรกรจะได้ราคาเพิ่มขึ้นตันละ 100 บาท ซึ่งถ้าทำตลาดขายในประเทศไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเป็น Organic Thailand (ออร์แกนิค ไทยแลนด์) เกษตรกรไม่ต้องจ่ายค่าตรวจรับรองเนื่องจากภาครัฐโดยกรมวิชาการเกษตรตรวจรับรองให้
นางโสภิตา กล่าวว่า ต้นทุนการปลูกมันสำปะหลัง หรือ อ้อย อินทรีย์ แบ่งออก เป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านปัจจัยการผลิต ของเกษตรกร ถ้าจะให้ใส่ตามธาตุอาหารเคมีจริง ราคาต่างกันเท่าตัว ปุ๋ยอินทรีย์ ราคาจะแพงกว่า ยกตัวอย่าง “มันสำปะหลัง” กรณีการใช้ปุ๋ยเคมีใช้ 1 กระสอบ จะตกราคา 1,100 -1,200 บาท แต่เกษตรอินทรีย์ จะต้องใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ 1,000 กก. (1ตัน) ราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท 2) ด้านแรงงาน ต้องใช้วิธีการจัดการแปลงด้วยตัวเกษตรกรเอง หรือใช้เครื่องจักรกลการเกษตร หรือจ้างแรงงาน ( 300 ++ /วัน) เพราะใช้สารเคมีไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มสูงกว่า การใช้สารเคมี 3) ด้านการจัดทำแปลงตามระบบอินทรีย์เกษตรกรต้องมีแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐาน มีวันปลูก วันเก็บเกี่ยวที่ตรงตามที่ผู้ซื้อกำหนด ในด้านการผลิตมีข้อดีในด้านการจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ แต่ก็นำมาซึ่งการจัดการที่มากกว่าผู้ปลูกอื่น
ดังนั้นหากราคาขายทั่วไป ไม่แตกต่างจากราคาเกษตรอินทรีย์ก็จะทำให้เกษตรกรต้องตัดสินใจว่าจะยังคงผลิตแบบอินทรีย์อยู่หรือไม่ จึงทำให้เกษตรที่ผลิตแบบอินทรีย์มีการขยายไปได้ทีละนิด สวนทางกับความต้องการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงมีเกษตรกรที่ทำอินทรีย์ด้วยใจ ไม่ได้เอาราคาเป็นตัวตั้ง แต่ด้วยใจรักในการผลิตแนวทางนี้เพราะทำแล้วมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความสุขกับการได้อยู่กับแปลงที่ไม่มีสารเคมี สร้างระบบนิเวศน์ในดิน มีไส้เดือน มีเห็ดที่สามารถรับประทานได้ ดินร่วนพรุน ทำให้สิ่งมีชีวิตฟื้นกลับคืนมาในแปลง สามารถลงไปทำงานในแปลงได้ทุกวันเป็นผลพลอยได้จากการเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ สร้างความยั่งยืนให้กับโลกและสิ่งแวดล้อม