สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน TFAC’s Accounting Professions Summit 2024

สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน TFAC’s Accounting Professions Summit 2024

สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปี สถาปนาสภาวิชาชีพ TFAC’s Accounting Professions Summit 2024 ภายใต้หัวข้อ Accounting Professions in Disruptive World เมื่อวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติร่วมงานพร้อมขึ้นกล่าวปราศรัยสำคัญเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโลก และกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Global Dynamics) ครอบคลุมประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาวิชาชีพบัญชี และความท้าทายที่ต้องรับมือในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นถึงการพัฒนาเศรษฐกิจไทยผ่านการสร้างความแข็งแกร่งให้วิชาชีพบัญชีในการสนับสนุนความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้นักบัญชีและภาคธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนใน 2 ประเด็น ดังนี้

ภาพอนาคตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันอยู่ในช่วงชะลอตัว ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศไทย การแบ่งค่ายทางความคิดของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกที่ต่างกัน จึงนำมาสู่การแข่งขันที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย ผลกระทบจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนของโลก แต่ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะสามารถก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง คือการเป็นผู้ผลิตที่จำเป็นต่อโลกในแต่ละตลาดต่างๆ 

สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน TFAC’s Accounting Professions Summit 2024

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การผลิตและการลงทุนของประเทศมีปริมาณลดลงจาก 40% เหลือ 19% เพราะในช่วงก่อนนั้นมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ มีกระแสการลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์และโอกาสจากกรณีดังกล่าวเท่าที่ควร จึงทำให้รากฐานทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถเติบโตได้ดี ดังนั้นประเทศไทยสามารถใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด ผ่านวิธีการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศในการเป็นฐานการดำเนินงานให้กับอุตสาหกรรมต้นน้ำ อาทิ Cloud & AI, Data Center, ศูนย์วิจัยไบโอชีวภาพ, ศูนย์การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนต่างๆ นี้ทำให้เกิด Supply Chain ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ทำให้ขณะนี้ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศในเติบโตที่สุดเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้มีตัวเลขจากการลงทุนดังกล่าว 7 แสนกว่าล้าน และเมื่อรวมกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวเลขกว่า 2 ล้านล้าน ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องมุ่งเน้นเป็นอันดับแรกคือ การเตรียมความพร้อมและสร้างขีดความสามารถเรื่องบุคลากรในประเด็นดังกล่าวที่กำลังจะถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ อันดับที่สองคือการลดกระบวนการติดต่อประสานงานให้สะดวกและรวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดงานเอกสารให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็น อันดับที่สามลดต้นทุนทางพลังงานและ Logistics ซึ่งพลังงานที่ใช้ ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ประเทศไทยถือว่ามีความสามารถและความพร้อมที่จะสร้างโอกาสจากความท้าทายให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น

บทบาทผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต่อการเกิดขึ้นของ AI และการปรับตัวที่ควรตระหนักถึง

การเกิดขึ้นของ AI เป็นผลพวงมาจากการเกิดขึ้นของการวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลจาก Big Data ซึ่งจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยง Data Center ของบริษัทระดับโลกในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อมีข้อมูลที่มากขึ้นการวิเคราะห์ก็ยิ่งแม่นยำขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจในการดำเนินงานได้ดี ซึ่งแน่นอนว่าวิวัฒนาการของ AI กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง ในแง่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้นสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างมาก แต่ต้องปรับตัวก้าวให้ทันเทคโนโลยี รวมถึงทั้งเรื่องการแข่งขัน สภาพเศรษฐกิจ ซึ่งนั่นหมายความว่า เราไม่ควรที่จะรู้แค่เฉพาะเรื่องงานบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจภาพรวมและองค์ประกอบทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงทุกอย่าง ปรับกระบวนการทำงานให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ เพราะการบัญชีและเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง แต่การจะนำเครื่องมือมาใช้ทำงาน เราต้องเข้าใจทิศทางสภาพความเป็นไปที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้ จึงจะสามารถนำสิ่งต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม

สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน TFAC’s Accounting Professions Summit 2024