CREATIVE TOURISM การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
ความสุขที่แท้จริงของชุมชน บนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นองค์กรที่ริเริ่มส่งเสริมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในประเทศไทย ดำเนินการร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจัดทำ “โครงการต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ในการสร้างความสมดุลของชุมชนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เน้นความสำคัญที่ “คุณค่า” ของชุมชน เพื่อให้ชุมชนภูมิใจความเป็นเนื้อแท้ของตน และสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คือ การท่องเที่ยวซึ่งมอบโอกาสให้กับผู้เดินทาง/ นักเดินทาง/ นักท่องเที่ยว ในการพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์ของตน ผ่านการมีส่วนร่วมในการกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง ที่เป็นไปตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่เป้าหมายที่ไปท่องเที่ยว เรียกว่าเรียนรู้ ดูของจริง ลงมือทำ เป็นการท่องเที่ยวที่ได้เรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของชุมชน โดย ผู้เดินทาง/นักเดินทาง/นักท่องเทียว ได้มีส่วนร่วมลงทำกิจกรรมกับชุมชนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนในสถานที่จริง
Creative Tourism Thailand: REAL
R
Reciprocating
E
Experiencing
A
Appreciating
L
Lifelong Learning
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม
มีประสบการณ์ตรงใจพื้นที่ท่องเที่ยว
ชื่นชมและเข้าใจจิตวิญญาณของพื้นที่
เรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของตนเองอย่งไม่สิ้นสุด
สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน โดยเฉพาะเรื่องของการทำตุงค่าคิง(ก้าคิง) ชุมชนบ้านพระเกิด นั้น “ตุงค่าคิง” เป็นกิจกรรมที่โดดเด่นของชุมชนวัดพระเกิด ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และเป็นพื้นที่ในการศึกษาเรียนรู้และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ความหมาย ความสำคัญของ “ตุงค่าคิง” ซึ่งมีความหมายของสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง และนักท่องเที่ยวจะได้ถวายตุงให้กับพระสงฆ์ของวัดตามพิธีกรรมของชาวล้านนา การทำตุงค่าคิง ที่วัดพระเกิดจึงไม่เพียงแต่การเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวจะได้เข้าร่วมในกิจกรรมตามความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนด้วย
การปักผ้าหน้าหมอนเมืองน่าน : โฮงเจ้าฟองคำ เป็นอีกกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน การปักลายผ้าหน้า “หมอนผา” หรือ “หมอนหก” ถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีความโดดเด่นของเมืองน่าน เนื่องจากจะต้องอาศัยความชำนาญในการปักลวดลายที่มีความละเอียดละออ ในอดีตจะนิยมใช้ในการพิธีสำคัญต่าง ๆ ลวดลายผ้าปักหน้าหมอนแสดงให้เห็นถึงฐานะ ยศ และบรรดาศักดิ์ของผุ้ที่เป็นเจ้าของ แสดงถึงสัญลักษณ์ประจำตระกูล หรือประจำคุ้มที่แตกต่างกันไป วัสดุที่ใช้ในการปักสมัยโบราณนั้นจะนิยมใช้เส้นไหมเงิน ไหมทอง เครื่องเงินแท้ และทองคำแท้ ซึ่งนักท่องเที่ยวนอกจากจะได้ชมความสวยงามของโฮงเจ้าฟองคำและงานปักผ้าแล้ว ยังสามารถลองปักผ้าแบบโบราณและนำกลับไปเป็นของที่ระลึกอันน่าภาคภูมิใจอีกด้วย
หากต้องการติดต่อ ชุมชนบ้านพระเกิด (วัดพระเกิด) ติดต่อคุณสุชาดา วัชราคม โทรศัพท์ 0 81 882 3188 และโฮงเจ้าฟองคำ ติดต่อคุณพีระวัฒน์ ถาเป็ง โทรศัพท์ 0 5471 0537, 0 87 305 9660
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณชนมน วิริยะ (รี)
โทรศัพท์ :094 650 -5665