สสส.เผยวัยรุ่นใช้ถุงยางครั้งแรกทำตัวเลขซิฟิลิสเพิ่ม 5 เท่า
พร้อมเปิดตัวนิทรรศการ “ยืมคืนเรื่องเพศ” รับวาเลนไทน์ ชวนวัยรุ่นพกถุงยาง เท่ากับไม่ประมาท - รับผิดชอบ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยพบวัยรุ่นใช้ถุงยางลดลง 50 % หลังมีเพศสัมพันธ์ ครั้งแรก ทำตัวเลข ซิฟิลิส เพิ่ม 5 เท่า พร้อมเปิดตัวนิทรรศการ “ยืมคืนเรื่องเพศ” รับวาเลนไทน์ มุ่งเป้าสร้างค่านิยม เด็กมหา’ลัย พกถุงยางถือเป็นเรื่องปกติ เท่ากับไม่ประมาท-รับผิดชอบ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การท้องไม่พร้อม และช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อาคารเรียนรู้และปฏิบัติการรวม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์เรียนรู้ สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม สุขภาวะสัญจร เปิดตัวนิทรรศการ ยืมคืนเรื่องเพศ เพื่อสื่อสารกับกลุ่มนักศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเรื่องเพศที่ถูกต้องให้กับกลุ่มเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการท้องไม่พร้อม ภายในงานได้มีการบรรยาย หัวข้อ จะ Move on อย่างไร...ในระยะไม่ปลอดภัย โดยผู้แทนสายด่วนปรึกษาปัญหาเอดส์และท้องไม่พร้อม และ หัวข้อ “ถุงยางอนามัย มัน(ส์) ดีตรงไหน? โดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. ทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศมาตั้งแต่ปี 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส หนองใน การตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมถึงมะเร็งปากมดลูก โดยในระยะ พ.ศ.2553-2554 สถิติแม่วัยรุ่น พุ่งสูงสุด คือ ในหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี 1,000 คน มีแม่วัยรุ่น 53 คน หรือมีแม่วัยรุ่นเพิ่มขึ้นถึงวันละ 400 คน ซึ่งจะเป็นวงจรที่บั่นทอนคุณภาพประชากรในระยะยาว เพราะไทยเรายังไม่มีมาตรการดูแลแม่วัยรุ่นที่ดีพอ สสส.จึงทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2557 ที่ให้การยอมรับสิทธิของวัยรุ่นที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
เช่น สถานศึกษาต้องจัดการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษา วัยรุ่นและนักเรียนนักศึกษาต้องเข้าถึงบริการคุมกำเนิดได้ วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีสิทธิ์เรียนต่อในสถานศึกษาเดิมได้ ฯลฯ ผลจากการทำงานของหลายภาคส่วน ส่งผลให้ตัวเลขการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นลดลง โดยในปี 2561 กลุ่มวัยรุ่นหญิง 1,000 คน พบแม่วัยรุ่น 36 คน แต่กลับพบว่าแม่วัยรุ่นเข้าไปเรียนใน กศน. มากกว่าการเรียนในระบบปกติ แสดงว่าแม่วัยรุ่นยังไม่ได้สิทธิด้านการศึกษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นว่าทัศนคติเรื่องเพศ ของผู้เกี่ยวข้องในระบบการศึกษา ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
“แม้ตัวเลขแม่วัยรุ่นจะลดลง แต่กลับพบว่า วัยรุ่นที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 2555-2560 ข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุว่า กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบการติดเชื้อซิฟิลิส เพิ่มถึง 5 เท่าตัว และโรคหนองในเพิ่มขึ้น ร้อยละ 50 ซึ่งผู้ป่วยมักนิยมซื้อยากินเองจึงทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งทั้งซิฟิลิส และหนองใน อาจแสดงอาการให้เห็นบ้างในระยะแรก แต่ต่อมาจะไม่แสดงอาการ จึงสามารถแพร่โรคต่อไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะรู้ได้ก็เมื่อมีการตรวจเลือดเท่านั้น เช่นเดียวกับเอชไอวี ที่พบสถิติเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นด้วย ทั้งนี้ ถ้าเจาะตรวจแล้วพบผลเลือดบวก ปัจจุบันมีตัวยารักษาให้หายขาดได้ทั้งซิฟิลิสและหนองใน ส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีถ้ากินยาสม่ำเสมอและไม่มีการรับเชื้อใหม่ ก็สามารถมีชีวินยืนยาวเท่าๆ กับคนปกติ” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวว่า สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากเน้นย้ำการเปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องเพศ และถุงยางอนามัยให้การพกและใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องนี้ เพราะถุงยางอนามัย ไม่เพียงป้องกันโรค ป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ อยากจะเชิญชวนสื่อสารเชิงบวกว่า การพกถุงยางเท่ากับไม่ประมาท การใช้ถุงยางเท่ากับมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่ยังไม่มีประสบการณ์ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเข้าไปอยู่ในสถานการณ์คับขัน ถุงยางอนามัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีไว้ติดตัวหยิบใช้ได้ทันที
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้จัดทำเครื่องมือชุดนิทรรศการยืมคืนเรื่องเพศ เปิดกว้างสำหรับคนทั่วไป เพื่อนำไปสื่อสารเรื่องเพศอย่างถูกต้อง สามารถยืมได้ที่ ศูนย์เรียนรู้ภูมิภาค ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ น่าน ลำปาง ร้อยเอ็ด อุดรธานี ภูเก็ต ยะลา ออกแบบมาในกระเป๋าที่เคลื่อนย้ายง่าย มีแผ่นพับ เกม ครั้งนี้จัดให้มีห้องเรียนว่าเรื่องเพศและการจัดการ และห้องเรียนสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม นำบทบาทด้านสื่อสาร มาเผยแพร่ให้ความรู้ด้านการออกแบบการสื่อสาร การเขียนข้อความที่น่าสนใจ เพื่อสร้างเทคนิคการสื่อสารเรืองเพศให้แก่กลุ่มเป้าหมาย
ด้านน.ส.อัชรา แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าทีมปฏิบัติการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เปิดเผยว่า มีผู้โทรมาปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมประมาณ 10,000 ราย ในปีที่ผ่านมา โดย 80 เปอร์เซ็นต์ มีความประสงค์ขอยุติการตั้งครรภ์ แต่มีเพียงไม่กี่รายที่เข้าเกณฑ์สามารถยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ได้ ทางสายด่วนประสานไปยังรพ.ของรัฐและเอกชน ขณะที่บางรายไม่สำเร็จเพราะอายุครรภ์เกินก็ไม่แนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ เพราะอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
น.ส.อัชรา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ แนะนำว่าผู้หญิงถ้าประจำเดือนไม่มาอย่าคิดว่าเครียด หรือมีโรคอื่นๆ ควรซื้ออุปกรณ์การตรวจสอบการตั้งครรภ์มาตรวจ กรณีมีขีดขึ้นสองขีดรอยจาง ๆ นั่นคือ เกิดอาการท้อแต่บางคนพยายามหลอกตัวเองว่ายังไม่ท้องจึงซื้อมาตรวจมากกว่าหนึ่งอัน ประเด็นที่ขีดที่สองจางเพราะฮอร์โมนการตั้งครรภ์ยังไม่แสดงออกอย่างชัดเจน ทั้งนี้การรู้ผลเร็วจะทำให้ทางออกของการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม แคบลง ซึ่งอยากจะรณรงค์ว่าท้องให้โทรมาที่สายด่วน1663 ซึ่งจะให้คำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย