เรื่องเล่าจากวิกรม : ปมเดือด ต่างชาติกับที่ดินไทย (จบ)
วันนี้เราจะคุยกันต่อเรื่องของการที่รัฐบาลจะเปิดให้โอกาสชาวต่างชาติมีสิทธิ์ถือครองที่ดินในประเทศไทย โดยมีเงื่อนไขต้องลงทุนภายในประเทศไทยมีมูลค่า 40 ล้านบาทขึ้นไป
ประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ผมยังคงเชื่อว่าวันนี้หากเรามีการวางระบบให้ถูกต้องด้วยการกำหนดโซน จำนวน หรือขนาดของพื้นที่ให้เป็นขั้นตอนที่ชัดเจนก่อนให้สิทธิ์แก่ชาวต่างชาติซื้อเพื่อถือครอง โดยค่อยๆ เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ก่อนที่จะขยายไปพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ผมอยากยกตัวอย่างประเทศจีนที่ นายเติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำจีนเคยทำไว้กับกลุ่มนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน เคยมีการทดลองใช้รูปแบบนี้กับมืองทีเป็นเมืองเศรษฐกิจของจีนอย่างเช่นเซินเจิ้น
โดยตั้งเมืองเซินเจิ้นให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและมีแต่งตังคณะกรรมการเข้ามากำกับตลอดมีการประเมนผลงานดูการเติบโต 3-5 ปี เมื่อพบว่าประสบความสำเร็จมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ก็เปิดโอกาสขยายพื้นที่ไปยังพื้นที่ติดทะเล และขยายเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ของจีนต่อไป
เพราะฉะนั้นผมยังคงมองว่าหากมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจน มีการทดสอบ การตั้งกฎเกณฑ์ให้รัดกุมและก่อเกิดความยั่งยืนต่อการลงทุน ประเทศของเราก็น่าจะทดลองเช่นทดลองเริ่มจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและมีพื้นที่อยู่ประมาณ 1,600 ตารางกิโลเมตร ถือว่าใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ถึง 2 เท่า
หรืออาจจะทดลองเริ่มที่ พัทยา ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ เน้นเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศไทยก่อน และลองติดตามดูว่าผลภายในระยะเวลา 3-5 ปีว่าเป็นอย่างไร
หากมีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจหรือประสบความสำเร็จ ค่อยขยายไปพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยยึดโมเดลรูปแบบจากเมืองเซินเจิ้นของจีน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่เราจะเป็นผู้กำหนด
เมื่อมีการกำหนดขอบเขตในการให้สิทธิ์แก่ชาวต่างชาติซื้อพื้นที่ของประเทศไทยที่ชัดเจนได้แล้วผมยังคงเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์
รูปแบบนโยบายเกี่ยวกับด้านการส่งเสริมการลงทุนเช่นนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่ประเทศไทยน่าจะสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาได้อย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่มีเรื่องของความโปร่งใส ความน่าลงทุน และผลประโยชน์ที่ประเทศสิงคโปร์ได้จากการเปิดรับนักลงทุนเข้าไปภายในประเทศ
ผมเคยลองศึกษาเกี่ยวกับตัวเลขการเงินของประเทศสิงคโปร์โดยหาข้อมูลได้ว่าหากมีเม็ดเงินลงทุนอยู่ในประเทศสิงคโปร์ 100 เหรียญดอลลาร์ เป็นเงินของคนสิงคโปร์เพียงแค่ 30 เหรียญดอลลาร์
นอกนั้นเป็นของนักลงทุนจีนจากประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการมาลงทุนซื้อที่ดิน ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้มูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้มีราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันที่ประเทศสิงคโปร์เองก็มีโครงการบ้านของการเคหะที่รัฐบาลดูแลอยู่และเป็นโครงการที่มีความเข้มแข็งทำให้คนระดับรากหญ้ามีที่อยู่อาศัย
ในวันนี้นิคมอุตสาหกรรมอมตะก็เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้ที่ดินของประเทศไทยให้เป็นประโยชน์โดยการให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ภายใต้กฏเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดโดยมีหน่วยงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด
และในวันนี้อมตะมีที่ดินรวมอยู่กว่า 300,000 ไร่ คาดว่าในปี 2566 จะมีที่ดินถึง 400,000 ไร่ ซึ่งที่ดินเหล่านี้เป็นที่ดินของประเทศไทย และอมตะได้ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยจากการดำเนินธุรกิจของอมตะด้วยเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจของอมตะมีส่วนร่วมสนับสนุนการเติบโตของตัวเลข GDP ของประเทศ รวมถึงมีหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมของอมตะได้รับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนอยู่ภายในนิคมฯ สูงถึงเกือบ 20,000 ล้านต่อปี
สิ่งที่ผมต้องการบอกเกี่ยวกับประเด็นนี้คือ เราทำไมไม่ใช้จุดเด่นของประเทศไทยให้เป็นประโยชน์เช่นเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์ หากลองคิดให้ดี ประเทศไทยยังมีทรัพย์สินที่น่าจะนำมาใช้ได้คือที่ดินที่มีอยู่จำนวนกว่า 330 ล้านไร่
โดยประเทศไทยสามารถที่จะนำที่ดินที่มีอยู่นี้มาก่อให้เกิดประโยชน์หรือสร้างรายได้จากการนำมาให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ ภยใต้เงื่อนไขต้องไม่ทำให้คนในระดับรากหญ้าหรือผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ
ประเทศสิงคโปร์มีการเปิดกว้างให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้าไปมีสิทธิ์ในการซื้อที่ดินซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคนสิงคโปร์จะไม่มีความรู้สึกว่านโยบายดังกล่าวคือเรื่องของการขายชาติ หรือกลัวชาวต่างด้าวเข้ามายึดประเทศของตนเอง
นั่นเป็นเพราะ ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่ร่ำรวยแล้วประชากรของประเทศมีฐานะค่อนข้างดี จึงไม่มีความวิตกเกี่ยวกับนักลงทุนที่เข้ามาภายในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอเมริกา ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น ที่มีการเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้าไปซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ได้
หรือหากยังมีประเด็นปัญหาเรื่องการคัดค้านนโยบายดังกล่าวประเทศไทยก็ยังมีทางเลือกเพิ่มเติมทีสามารถจะนำมาพิจารณาปรับเปลี่ยนได้ คือใช้หลักการ “เซ้ง” หรือ “ให้เช่าระยะยาว” ในโซนพื้นที่ที่กำหนด เช่น พื้นที่ในหมู่บ้านจัดสรร กำหนดระยะเวลาการเซ้งเป็นระยะเวลา 99 ปี และสามารถให้ต่อสัญญาได้
ซึ่งหลักการนี้ก็มีหลายๆ ประเทศทำเช่นเดียวกันยกตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ จีน เวียดนาม ลาว พม่า แต่ระยะเวลาในการเซ้งของแต่ละประเทศก็จะกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างกันไปอยู่ระหว่าง 50-90 ปี เป็นต้น