จีนคัมแบ็ค!เขย่าแรงงานอสังหาฯเลื่อนส่งมอบ-ค่าแรงพุ่ง
กูรูอสังหาฯ ชี้จีนคัมแบ็ค!เร็วเกินคาด เขย่าแรงงานอสังหาฯระส่ำเหตุแรงงานก่อสร้าง “ลดลง” เหตุถูกชิงตัวไปทำงานให้กับธุรกิจโรงแรม บริการด้านท่องเที่ยว เพื่อรองรับชาวจีนที่กลับเข้ามาใช้บริการกระทบต่อการก่อสร้างล่าช้าจนต้องเลื่อนส่งมอบดันค่าแรงพุ่ง
การกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยหลังผ่อนคลายมาตรการเดินทาง เปิดประเทศเร็วกว่าคาดการณ์ ช็อกวงการ!อสังหาริมทรัพย์ เมื่อแรงงานก่อสร้าง “ลดลง” เพราะถูกดึงไปทำงานให้กับธุรกิจโรงแรม บริการด้านท่องเที่ยว รองรับชาวจีนที่เข้ามาใช้บริการ ส่งผลแนวโน้มการส่งมอบล่าช้า เพราะขาดแคลนแรงงาน มิหนำซ้ำค่าแรงพุ่งกว่า 400 บาทต่อวัน
วรวุฒิ กาญจนกูล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทำให้เกิดการสร้างงาน โดยเฉพาะการก่อสร้าง ไม่ว่าจะโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ “จีน” ความหวังของประเทศไทย!
"เมื่อมีดีมานด์แรงงานก่อสร้างในต่างจังหวัด แรงงานจะไม่เคลื่อนย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แรงงานภาคก่อสร้างลดลง เพราะกระจายไปทำในส่วนการท่องเที่ยวหลังจากเงียบเหงามา 2-3 ปี ทำให้แรงงานรับสร้างกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีการก่อสร้างจำนวนมาก”
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร ที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน 20-30% น่าเป็นห่วง! เพราะถือว่าขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก จะทำให้กระทบต่อการส่งมอบงานให้ลูกค้า ยกตัวอย่าง ในสมาคมรับสร้างบ้าน หลายบริษัทเริ่มมีการส่งมอบงานล่าช้า จากปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ เนื่องจากปีที่ผ่านมางานรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้น แต่ขณะนั้นภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว
"ภาคการท่องเที่ยวกลับมา แรงงานโดนดูดไปและจำนวนแรงงานที่จะนำเข้ามายังทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้หลายบริษัทเริ่มมีปัญหาการก่อสร้างล่าช้า วิธีแก้ไขปัญหาตอนนี้มีวิธีเดียว คือในการทำสัญญาใหม่กับลูกค้าต่อไปจะต้องเผื่อเวลา โดยทำความเข้าใจกับเจ้าของบ้านที่จะสร้างบ้านก่อนว่าจากเดิมเคยทำสัญญา 1 ปี หรือ 12 เดือน อาจต้องเพิ่มระยะเวลาเป็น 15-16 เดือน เพิ่มขึ้น 3-4 เดือนทีเดียว”
วรวุฒิ ย้ำว่า จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้หลายภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวให้เร็ว ฉะนั้นในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง “แรงงาน” เป็นเรื่องสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องมองไปในอนาคต คือ การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้ามารองรับแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถสามารถทำงานต่อไปได้อย่างราบรื่น
นอกจากนี้ ผลจากการขาดแรงงานทำให้ “ค่าแรง” ขยับเพิ่มขึ้นจากการแย่งชิงแรงงานที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว จากค่าแรงขั้นต่ำวันละ 354 บาทพุ่งไปกว่า 400 บาท ส่วนแรงงาน 300 บาท ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว
“ค่าแรง เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลต่อต้นทุนการก่อสร้าง จากการที่ราคาค่าแรงขยับขึ้นจากการขาดแคลนแรงงานจะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งคงต้องรอดูต่อไปว่า จะมีปัจจัยลบเรื่องต้นทุนค่าวัสดุเพิ่มขึ้นหรือไม่หากไม่เพิ่ม ผู้ประกอบการอสังหาฯ พยายามตรึงราคาไว้ แต่ต้องยอมรับว่า ปีนี้หลายโครงการมีการปรับราคาขึ้นตามต้นใหม่เฉลี่ย 3-5%”
ทางด้าน พีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยครั้งนี้ หลายธุรกิจรับมือไม่ทัน! ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม การบิน สนามบินรวมถึงอสังหาฯ ที่คนทำงานไม่พอ ทุกภาคส่วนต้องหาวิธีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เป็นเรื่องกดดันในเชิงลบ
“จีนอยากมามาก แต่หากมาแล้วไม่สะดวกต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะซัพพลายของแรงงานหายไปในช่วงที่เกิดโควิด”
ยกตัวอย่าง แรงงานโรงแรมในเครือออริจิ้น มีจำนวน 2,000ห้อง คนทำงานหายไป 30% ต้องใช้วิธีการควงกะกันไปก่อน ขณะที่แรงงานด้านการก่อสร้างขาดแคลนทำให้ไม่สามารถส่งมอบโครงการก่อสร้างได้ตามเวลาได้เหมือนเดิม
เพราะแรงงานหายไปจากระบบ 20-30% เช่นกัน เพราะแรงงานต่างด้าวบางส่วนที่กลับไปประเทศแล้วไม่กลับมา อย่าง กัมพูชา เมียนมา ที่ไทยใช้แรงงานจำนวนมาก เป็นอุปสรรค์ที่ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯต้องวางแผนให้ดี มิเช่นนั้นจะเหมือนธุรกิจโรงแรมขณะนี้ที่ขาดแคลนพนักงาน
ไม่ต่างจาก ไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในวงการอสังหาฯ ต่างเผชิญปัญหาแรงงานต่างด้าวที่อนุมัติให้มานั้นน้อยกว่าก่อนช่วงโควิด-19 มาก ขณะที่ ปัจจุบันความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน
ฉะนั้น รัฐบาลต้องเขามาช่วยดึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงการเปิดรับแรงงานสัญชาติอื่นเข้ามาเสริมนอกเหนือจากที่มีอยู่!