ออฟฟิศ‘พหลโยธิน-วิภาวดี’ฮอต!ซัพพลาย2.5แสนตร.ม.รองสีลม-สาทร

ออฟฟิศ‘พหลโยธิน-วิภาวดี’ฮอต!ซัพพลาย2.5แสนตร.ม.รองสีลม-สาทร

“ซัพพลายออฟฟิศ” ล่าสุดพบทำเล “พหลโยธิน-วิภาวดี” มีซัพพลายขึ้นอันดับ 2 มากกว่า 253,000 ตร.ม.รองจากสีลม-สาทร หลัง “แลนด์ลอร์ด” แห่ผุดโครงการรับดีมานด์ออฟฟิศฟื้น

อาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทำเลอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจบนถนนหลักย่านสีลม สาทร สุขุมวิท ซึ่งผลการสำรวจล่าสุดตลาดออฟฟิศในทำเลพหลโยธิน-วิภาวดี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ถูกยกระดับเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมืองแห่งใหม่ หรือ NEW CBD ที่มีซัพพลายออฟฟิศมากเป็นอันดับ 2 รองจากทำเลสีลม-สาทรที่มีซัพพลายอยู่ที่ 1,762,894 ตร.ม.

โดยทำเลพหลโยธิน-วิภาวดี มีซัพพลาย 1,335,603 ตร.ม. ซึ่งมีซัพพลายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 128,000 ตร.ม.และซัพพลายที่เตรียมไว้ 125,000 ตร.ม. รวมกว่า 253,000 ตร.ม. ขณะที่ทำเลสีลม-สาทร มีซัพพลายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 88,000 ตร.ม. และซัพพลายที่เตรียมไว้ 15,430 ตร.ม. เป็นอันดับสอง สะท้อนให้เห็นว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
 

“จุดเด่นของทำเลนี้รวมถึงอารีย์เป็นย่านธุรกิจที่แวดล้อมไปด้วยพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอบวก และเกรดเอ  มีความสะดวกในการคมนาคม ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส ใกล้จุดขึ้น-ลงทางด่วน เชื่อมต่อไปยังทำเลอื่นๆ ของกรุงเทพฯได้อย่างครอบคลุม ทั้งยังเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ อยู่ใกล้สถานศึกษา โรงพยาบาล มีโอกาสที่จะพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต”

แม้ว่า “อารีย์” จะเป็นทำเลของที่อยู่อาศัยแต่ด้วยความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีครบทำให้เจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานยาวไปถึงพญาไทเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานที่เพิ่มขึ้นเพราะใกล้กับย่านพักอาศัยรวมถึงใกล้กับศูนย์กลางธุรกิจ ในอัตราค่าเช่าที่ไม่สูงเกินไปจึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการสำนักงานที่ยังเป็นช่องว่างทางการตลาดได้

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารและหัวหน้าส่วนงานตัวแทนนายหน้าพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันทำเลอารีย์กลับมาคึกคักมากขึ้นเนื่องจากเจ้าของที่ดิน หากมีที่ดินหรือตึกแถวจะพัฒนามาเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งในรูปแบบคอนโดมิเนียม ไม่ต่ำกว่า 15 โครงการ บ้านหรู หรืออาคารสำนักงาน เพราะมองว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพ ยิ่งมีรถไฟฟ้ากลายเป็นจุดขายในการพัฒนาโครงการเหมือนสถานีโซล หรือ “Seoul Station” เป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของโซล

ยกตัวอย่างโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ ของบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นอาคารมิกซ์ยูส ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน พื้นที่ให้เช่าร้านค้า และพื้นที่จอดรถสูง 36 ชั้นและชั้นใต้ดิน 3 ชั้น โดยมีพื้นที่ใช้สอยรวม 82,193 ตร.ม. ใช้งบลงทุน 9,940 ล้านบาท คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2567

ออฟฟิศ‘พหลโยธิน-วิภาวดี’ฮอต!ซัพพลาย2.5แสนตร.ม.รองสีลม-สาทร

นอกจากนี้ ในทำเล “อารีย์” ยังมีอาคารสำนักงานที่เปิดใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ อาคารเดอะไรซ์ ทาวเวอร์ หัวมุมถนนประดิพัทธ์-พหลโยธินใกล้บีทีเอส สะพานควาย (ห้างเมอรี่คิงส์เก่า) ของกลุ่มศรีศุภราช สูง 26 ชั้น มีพื้นที่ให้เช่า 15,668 ตร.ม. ตั้งแต่ขนาดเล็ก 103 ตร.ม. ไปจนถึงเช่าเหมาชั้น 950 ตร.ม.,เอส โอเอซิส หรือ S-OASIS ของสิงห์ เอสเตท มีพื้นที่ให้เช่า 54,000 ตร.ม. สูง 35 ชั้น, วานิช เพลซ อารีย์ กลุ่มแหลมทอง มีพื้นที่รวม 73,000 ตร.ม.

ออฟฟิศ‘พหลโยธิน-วิภาวดี’ฮอต!ซัพพลาย2.5แสนตร.ม.รองสีลม-สาทร

ถัดมาเป็นโครงการวัน ออริจิ้น สนามเป้า  เป็นโครงการอาคารสำนักงานเกรดเอ สูง 25 ชั้น พื้นที่อาคารรวม 56,100 ตร.ม. เริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 2/2565 คาดแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานไตรมาส 1/2567

ออฟฟิศ‘พหลโยธิน-วิภาวดี’ฮอต!ซัพพลาย2.5แสนตร.ม.รองสีลม-สาทร

“อัตราค่าเช่าพื้นที่ในโซนนี้อยู่ที่ 750-850 บาท เป็นตึกเกรดเอ แต่ราคาบี เนื่องจากอยู่ระหว่างการดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเพราะผู้เช่าในตึกเก่าได้เรตราคาอยู่ที่ 500-600 บาท ดังนั้นการที่ลูกค้าตัดสินใจย้ายมาอยู่ตึกใหม่จึงต้องพิจารณาให้ดี เพราะดีมานด์โซนนี้ยังไม่ตื่นตัวในการจ่ายเงินเพิ่ม”

ออฟฟิศ‘พหลโยธิน-วิภาวดี’ฮอต!ซัพพลาย2.5แสนตร.ม.รองสีลม-สาทร

กลุ่มเป้าหมายในทำเลนี้เป็นธุรกิจเกี่ยวกับเทเลคอม พลังงาน และผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งธุรกิจ โดยที่ผ่านมาทำเลย่านนี้ไม่มีอาคารสำนักงานใหม่ หากเลยไปทำเลพญาไท จะมีโครงการ “เดอะ ยูนิคอร์น” ของกลุ่มบีทีเอส ที่มีพื้นที่สำนักงานเกรดเอ กว่า 21,000 ตร.ม. และโรงแรมอีสติน แกรนด์  เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว เดินทางสะดวกด้วยทางเชื่อมสู่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพญาไท และสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท มีห้องพักให้บริการ 494 ห้อง ขนาด 34-370 ตร.ม. ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของคู่แข่งที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น