มัดรวมนโยบายกระตุ้นอสังหาฯชงบ้านหลังแรกยกเลิกLTVรอนายกฯเศรษฐาเคาะ
มัดรวมนโยบายกระตุ้นอสังหาฯบ้านหลังแรก มิดเทอมวีซ่า ผ่อนผันLTV ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากบรรดานายกฯสมาคมอสังหาฯและผู้ประกอบการที่รอนายกฯเศรษฐาและรัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดฟื้นตัว!หลังภาพรวมครึ่งปีแรกหดตัวจากอัตราดอกเบี้ย หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้น
พีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย เสนอว่า อยากให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการ “บ้านหลังแรก” เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงกระเพื่อมที่เป็นผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier Effect)ที่มีศักยภาพที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ เพราะอสังหาฯ เป็นธุรกิจที่มีมัลติพลายเออร์เอฟเฟคสูง เนื่องจากเป็นธุรกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่มีสัดส่วน 12% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย (GDP)
"หากรัฐบาลออกมาตรการบ้านหลังแรก จะส่งผลดีต่อซัพพลายเชนอสังหาฯทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ทั้งอิฐ หินปูน ทราย ไม้รวมทั้งแรงงานในประเทศ ทำให้เกิดมัลติพลายเออร์เอฟเฟค ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม"
นอกจากนี้อยากให้ ผ่อนผันมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการLTV( Loan to Value )ออกไปจนถึงปี 2568พร้อมเสนอ “มิดเทอมวีซ่า” อายุ 3-5 ปีให้กับลูกค้าต่างชาติที่ซื้อคอนโดฯในเมืองไทยเพื่อกระตุ้นดีมานด์ตลาดคอนโดระดับราคา 3-5 ล้านบาท
ยกตัวอย่าง หากซื้อคอนโดราคา 3 ล้านจะได้วีซ่า 3 ปี หรือถ้าซื้อคอนโด5 ล้านได้วีซ่า5ปี เชื่อว่า จะสามารถกระตุ้นดีมานด์ต่างชาติได้ทันที รวมทั้งการสนับสนุนมาตรการด้านภาษี สำหรับกลุ่มคนเพิ่งเริ่มทำงาน(First Jobber) ที่ซื้อบ้านหรือคอนโดสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ในมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เป็นต้น
วสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เรื่องแรกที่อยากให้นายกฯและรัฐบาลใหม่เร่งมือ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้กำลังซื้อดีขึ้นก่อน ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นจะส่งผลดีต่อทุกภาคส่วนไม่เฉพาะภาคอสังหาฯ ขณะเดียวกันอยากให้เข้ามาสนับสนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ปานกลาง-รายได้น้อย เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจค่อยข้างมาก อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้นจะส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโด เพราะเป็นหนี้ระยะยาว20-30ปี
ส่วนมาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่น่านำมาใช้ คือ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ซึ่งไม่ควรจำกัดสิทธิราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทอีกต่อไปเพื่อกระตุ้นให้ตลาดภาพรวมดีขึ้น รวมทั้งการลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบขั้นบันไดเพื่อลดภาระต้นทุน
พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า อยากให้รัฐบาลออกนโยบาย Affordable Housing จะถือกรรมสิทธิ์หรือเช่าก็ได้ แต่ควรจะต้องมีในเขตใจกลางเมืองเพราะเป็นแหล่งงานเพื่อรองรับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย ของคนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่อยู่อาศัย
โอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่น่าจะให้ความสำคัญในการแก้ไขก่อน คือ 1. การท่องเที่ยว ซึ่งทำได้ง่าย เร็ว และเห็นผลทันที 2. ภาคการส่งออก และ 3. ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นเครื่องจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการผ่อนผันมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ LTV และปัญหายอดปฏิเสธสินเชื่อสูง ซึ่งคาดว่า น่าจะเริ่มเห็นมาตรการต่างๆตั้งแต่เดือน ต.ค. หรือ พ.ย.นี้เป็นต้นไป
ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) มองว่าจากการที่นายกฯ เศรษฐา เคยทำธุรกิจอสังหาฯมาก่อน ย่อมเข้าใจเศรษฐกิจในภาพรวมและธุรกิจเป็นอย่างดี ในการผลักดันนโยบายต่างๆออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าการการโฟกัสนั้นจะเริ่มต้นที่ธุรกิจอสังหาฯ หรือธุรกิจอื่นตามความเหมาะสม เพราะไม่ว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งออกก็ตามแล้วส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาฯด้วยเช่นกัน
กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากพื้นฐานนายกฯเศรษฐาเป็นนักธุรกิจและทำธุรกิจอสังหาฯมาก่อนย่อมเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจและอสังหาฯเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามอยากให้พิจารณามาตรการกระตุ้นอสังหาฯด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองให้ขยายไปในทุกระดับราคาไม่จำกัดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นตลาดในภาพรวม
"เชื่อว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทยและระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และได้นายกฯที่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจจะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวได้เร็ว"