ซีบีอาร์อีชี้อสังหาฯครึ่งแรกปี67เริ่มฟื้นตัว

ซีบีอาร์อีชี้อสังหาฯครึ่งแรกปี67เริ่มฟื้นตัว

ซีบีอาร์อี ประเมินตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยและเอเชียแปซิฟิกกลางปี 2566 ยังคงมีความท้าทาย จากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตลาดจีนฟื้นตัวช้า คาดการณ์ปริมาณการลงทุนด้านอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ในเอเชียแปซิฟิกปีนี้ลดลง 15% ก่อนเริ่มฟื้นตัวช่วงครึ่งแรกของปี 2567

ขณะที่ธุรกิจโรงแรมได้อานิสงส์จากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ Smith Travel Research (STR) รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) และรายได้เฉลี่ยต่อวันจากห้องพักที่ขายได้ (ADR) เพิ่มสูงกว่าปี 2562 อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ข้อจำกัดการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยถูกยกเลิก มีเพียงอัตราการเข้าพักเท่านั้นที่ต่ำกว่าในปี 2562

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 75% มาจากประเทศในเอเชีย เที่ยวบินระยะสั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเที่ยวบินระยะไกลยังคงมีจำนวนน้อยกว่าช่วงก่อนโควิดระบาด

โชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า น่าจับตามองว่าในช่วงโลว์ซีซั่นและระหว่างไฮซีซั่น โรงแรมต่างๆ จะรักษาระดับราคาให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดโรคระบาดหรือไม่ รวมทั้งจับตาสถานการณ์การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ทั้งในแง่จำนวนและข้อบ่งชี้ต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของตลาดการเดินทางระยะไกล (Long Haul) การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ แต่การยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีนชั่วคราวมีแนวโน้มกระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนให้เพิ่มขึ้นได้

ตลาดโรงแรมในกรุงเทพฯ คาดจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้น 10% ภายในปี 2568 ส่งผลให้มีจำนวนห้องพักรวมมากกว่า 86,000 แห่ง เสริมความมั่นใจว่าตลาดมีความเคลื่อนไหวและมีการแข่งขัน ซึ่งการที่นักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาสู่ระดับเดิมช้าส่งผลต่อการเติบโตของตลาดและการฟื้นตัวของราคาห้องพักเมื่อไม่นานมานี้เริ่มหยุดนิ่ง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้าสู่ตลาดสำคัญในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีนแผ่นดินใหญ่) ในเดือนพ.ค. 2566 อยู่ที่ประมาณ 71% ของปี 2562

ซีบีอาร์อีชี้อสังหาฯครึ่งแรกปี67เริ่มฟื้นตัว

“ไตรมาส 2 ปี 2566 ถือเป็นไตรมาสที่ 3 หลังการยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดทั้งหมดในไทย โดยแต่ละภาคส่วนของตลาดฟื้นตัวตามจังหวะของตนเอง บางธุรกิจ เช่น โรงแรม ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ธุรกิจอื่นๆ ค่อยๆ เติบโต เช่น ตลาดพื้นที่สำนักงาน ซึ่งมีพื้นที่ใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก”
 

สำหรับภาพรวมตลาดเอเชียแปซิฟิกใน “ตลาดพื้นที่สำนักงาน” มีธุรกรรมการเช่าพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งบริษัทดั้งเดิมและบริษัทใหม่ ต่างต้องการพื้นที่สำนักงานที่คล่องตัว ยืดหยุ่น บริษัทข้ามชาติถือเป็นผู้นำในการสร้างสถานที่ทำงานแห่งใหม่ในเงื่อนไขที่น่าพึงพอใจ ขณะที่บริษัทในประเทศซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่ส่วนใหญ่ลังเลที่จะย้ายที่ตั้ง อาจเป็นผลจากการขาดทีมงานมืออาชีพที่จะช่วยเหลือด้านการวางนโยบาย

ในเอเชียแปซิฟิกตลาดพื้นที่สำนักงานอาจลดลงถึง 5% เพราะความต้องการที่ “ลดลง” ในจีนแผ่นดินใหญ่ ณ  เดือน มี.ค.2566 การใช้พื้นที่สำนักงานโดยเฉลี่ยของภูมิภาคคิดเป็น 65% โดยในกลุ่มเอเชียเหนือได้กลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว

เอดา ชอย หัวหน้าแผนก Occupier Research ประจำซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ความต้องการอาคารคุณภาพสูงและอาคารสีเขียวยังคงเป็นเทรนด์ที่โดดเด่น  “ตลาดที่อยู่อาศัย” ของประเทศไทย “บ้านเดี่ยว” นักพัฒนาและผู้ซื้อยังคงให้ความสนใจ ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมมุ่งเน้นไปที่กลุ่มระดับกลางถึงล่างในทำเลใจกลางเมืองและชานเมืองกรุงเทพฯ 

ซีบีอาร์อีชี้อสังหาฯครึ่งแรกปี67เริ่มฟื้นตัว

ภาค“ธุรกิจค้าปลีก”ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ของไทยแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเดือนมิ.ย. เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกมีการลงทุนในทำเลที่มีอยู่และทำเลใหม่ โดยมีพื้นที่ปล่อยเช่าสุทธิมากกว่า 1 ล้านตารางเมตรที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ครึ่งหนึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2568

“ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้นและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศส่งเสริมความมั่นใจในตลาดนี้”

ในเอเชียแปซิฟิก ภาคการค้าปลีกมีความแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน อัตราการว่างงานในทำเลหลัก “ลดลง” ต่อเนื่อง ตลาดในหลายประเทศคาดว่าค่าเช่าจะฟื้นตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โตเกียว และสิงคโปร์

ส่วนภาคอุตสาหกรรมของไทยความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น จากผู้ผลิตจีนที่ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โรงงานสำเร็จรูป (Ready-built Factory - RBF) และการก่อสร้างเพื่อเก็งกำไรได้รับความสนใจเพราะยังขาดซัพพลาย ผู้พัฒนารายใหม่เข้าสู่ตลาดโลจิสติกส์ เน้นการสร้างตามความต้องการของผู้เช่า (Built-to-Suit)

“ไตรมาส 2 ปี 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคธุรกิจส่วนใหญ่ และการมีรัฐบาลใหม่ส่งผลบวกต่อทุกภาคส่วนของสังคมและธุรกิจ”