อาคารสำนักงานเปิดศึกสงครามราคา! ชิงดีมานด์บริษัทข้ามชาติย้ายปักหมุดไทย
อาคารสำนักงานระอุ เปิดศึกสงครามราคา! ชิงดีมานด์บริษัทข้ามชาติย้ายปักหมุดไทยโดยเฉพาะย่านใจกลางเมือง ส่งผลตลาดอาคารสำนักงานแข่งขันรุนแรง
KEY
POINTS
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดอาคารสำนักงาน! หลังวิกฤติโควิด-19 มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก
- จากการที่ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ธุรกิจบางส่วนปรับกลยุทธ์ให้ทำงานไฮบริด สามารถ Work from Home หรือ Work from Everywhere
- ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับ Work from Office
- ทำให้พื้นที่อาคารสำนักงานมีดีมานด์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะย่านใจกลางเมือง
ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย ระบุว่า สำนักงานย่านศูนย์กลางธุรกิจ หรือ CBD (Central Business District) มีการแข่งขันสูง! เนื่องจากอุปทาน “อาคารใหม่” ใช้กลยุทธ์ราคาเช่าที่ดึงดูดใจผู้เช่า ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้เช่าในการต่ออายุสัญญาเช่า หรือการย้ายที่ตั้งสำนักงานไปยังอาคารใหม่ โดยเฉพาะอาคารสำนักงานใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว
หนึ่งในนั้น คือ ไรมอน แลนด์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรี และอัลตร้าลักชัวรี ได้เปิดตัวโครงการ OCC (One City Centre) ภายใต้คอนเซปต์ “Reimagine Your World” เป็นอาคารสำนักงานที่สูงที่สุดในไทย ด้วยความสูง 275.76 เมตร ติดบีทีเอสเพลินจิต ปัจจุบันมีอัตราเช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน 70% ค่าเช่าเฉลี่ย 1,500 บาทต่อตารางเมตร โดยผู้เช่าเริ่มย้ายเข้าพื้นที่แล้วหลายราย
สำหรับผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ มีหลากหลายธุรกิจ เช่น ที่ปรึกษาระดับโลก ธนาคารระดับโลก บริษัทเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยวระดับโลก กลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ล่าสุด ลอว์ตัน เอเชีย อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาแล้วกว่า 25 ปี ได้เช่าพื้นที่สำนักงานบนชั้น 20 เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่
ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหาร หัวหน้าแผนกอาคารสำนักงาน ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดอาคารสำนักงานแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อช่วงชิงลูกค้าเข้ามาเช่าพื้นที่ ก่อนที่ “วัน แบงค็อก” โครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งพัฒนาโดยกิจการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะเปิดโครงการเต็มรูปแบบช่วงปลายปีนี้
วัน แบงค็อก ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านพระราม 4 จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ด้วยจุดขาย “ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้เช่าโดยเฉพาะบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญ นอกเหนือจากอาคารสำนักงานมาตรฐานสากล ออกแบบรองรับการใช้งาน สะดวก ปลอดภัย มีเทคโนโลยีทันสมัย และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้เช่า
ก่อนหน้านี้เมกะโปรเจกต์ “วัน แบงค็อก” ได้เปิดอาคารสำนักงาน “Tower 4” ริมถนนวิทยุ เริ่มให้ผู้เช่าเข้าตกแต่ง และย้ายเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.67ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้เช่า 70-80% ตามแผนจะมีการเปิดอาคารสำนักงานอีก 2 อาคาร ปลายปีนี้
ทางด้าน นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บัญชี และบริหารความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการ เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส เป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ จำนวน 43 ชั้น ค่าเช่าอยู่ที่ 1,400-1,500 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมิกซ์ยูส ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มูลค่า 46,000 ล้านบาท ออฟฟิศดังกล่าว เซ็นทรัลพัฒนา เป็นเจ้าของ 100% มีพื้นที่รวม 130,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ออฟฟิศให้เช่า 60,000 ตารางเมตร
เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส เป็นอาคารสำนักงานแห่งที่ 11 ของเซ็นทรัลพัฒนา คาดว่าปลายปีนี้จะมียอดจอง 20-40% เตรียมเปิดบริการช่วงไตรมาส 2 ปี 2568
“เราต้องการพัฒนาเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส ให้มีมาตรฐานระดับโลกเทียบกับ นิวยอร์ก ลอนดอน ด้วยทำเลไพร์มโลเคชั่น สีลม สาทร ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของไทย”
สอดคล้องกับ ธิติวัฒน์ ธนาพรนิธินันท์ ผู้จัดการประเทศไทย IWG ผู้ให้บริการพื้นที่สำนักงานให้เช่าแบบยืดหยุ่น (Flexible Workspace) หรือ เวิร์คสเปซภายใต้แบรนด์ Regus, Spaces และ HQ ระบุว่า ตลาดอาคารสำนักงานแข่งขันสูงจนอยู่ในภาวะ “สงครามราคา” อาคารสำนักงานบางแห่งยอมลดราคาค่าเช่าลง 25% หลังอัตราผู้เช่าลดลงเหลือ 70%
สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าของอาคารมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมที่จะเสนอเงื่อนไขพิเศษมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้เช่า และกระจายความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ รวมถึงมีการทำสัญญาเช่าเป็นระยะสั้นมากขึ้น ต่างจากอดีตเป็นการระยะยาวราย 3 ปี อีกทั้งมีพันธมิตรกับ Co-working Space ต่างๆ เพื่อขยายฐานไปยังกลุ่มผู้เช่าใหม่
จึงถือเป็น “โอกาสทอง” ของธุรกิจสำนักงานพร้อมใช้อย่าง IWG เข้ามาเติมเต็มความต้องการผู้ประกอบการอาคารสำนักงานให้เช่าตอบโจทย์พฤติกรรมของบริษัทยุคใหม่ ด้วยรูปแบบออฟฟิศสำเร็จรูป และพื้นที่สำนักงานแบบยืดหยุ่น สามารถทำได้หลากหลายสเกล ตั้งแต่ 2-3 ตารางเมตร ไปจนถึง 2,000-3,000 ตารางเมตร
จะเห็นว่า เวลานี้มีบริษัทข้ามชาติหลายแห่งโดยเฉพาะสัญชาติญี่ปุ่น และยุโรป เริ่มย้ายพนักงานที่ทำงานในสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคออกจากสิงคโปร์ เนื่องจากต้นทุนค่าเช่าสูงขึ้นมุ่งหน้าไปยังประเทศใกล้เคียงแทน เช่น ไทย และมาเลเซีย ส่งผลดีต่อตลาดอาคารสำนักงานในประเทศไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์