แอชตันอโศก-อนันดาเฮ! กฤษฎีกาตีความไม่ต้องทุบตึก ขอใบอนุญาตใหม่ได้

แอชตันอโศก-อนันดาเฮ! กฤษฎีกาตีความไม่ต้องทุบตึก ขอใบอนุญาตใหม่ได้

ปิดฉากคดีมหากาพย์ แอชตันอโศก! ลูกบ้าน-อนันดาเฮ! กฤษฎีกาตีความชี้ไม่ต้องทุบตึกขอใบอนุญาตใหม่ได้ มีผลย้อนหลัง คาดว่าสามารถจบปัญหาได้ภายในปี2567

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณี แอชตัน อโศก  ถือว่า จบแล้ว เพราะเริ่มกระบวนการแก้ไขเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่รฟม. นำเข้าครม.ใหม่และขอใบอนุญาตเข้าไปใหม่แล้วกทม.ก็อนุมัติก็จบแล้ว คาดว่าภายในปีนี้น่าจะจบ  เพราะมีความเห็นจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาออกมารองรับแล้ว 

โดยก่อนหน้านี้ (วานนี้ 26 ส.ค.2567)ได้มีรายงานข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา ว่า นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้เผยความคืบหน้าการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีโครงการแอชตัน อโศกว่า ตามที่ กทม.ได้มีหนังสือ ที่ กท.0907/1333 ลงวันที่ 10 เม.ย.2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้าง คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับมาแล้ว สรุปสาระสำคัญดังนี้
 

1.เรื่องการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้าง กทม.จะต้องออกใบใหม่หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนถือว่าคำสั่งออกใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดลง ทำให้การโครงการแอชตันฯ ก่อสร้างโดยไม่มีใบอนุญาต กทม.มีหน้าที่ทำให้ชอบด้วยกฎหมาย ให้เอกชนยื่นคำขอใหม่อีกครั้งโดยให้มีผลย้อนหลังได้ ไม่ต้องรื้อหรือทุบ

2.การใช้อำนาจในการออกคำสั่ง ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2522 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดําเนินการ ระงับการกระทําดังกล่าว หรือห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆของอาคารแล้วแต่ละกรณี เห็นว่า กทม.ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งทำพร้อมกันในคราวเดียวกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจตามความเหมาะสม และการออกคำสั่งเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องกับเจ้าอาคาร ได้แก่ เจ้าของห้องในอาคารชุดทุกห้อง และนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขอาคาร
 

นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นกรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อนุญาตให้โครงการแอชตันฯ ใช้พื้นที่ตั้งสำนักงาน ถือว่าผิดวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดิน ภายหลังได้มีการรื้อถอนและใช้เป็นลานจอดรถของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและประชาชนทั่วไป โดยเสียค่าบริการตามที่ รฟม. กำหนด รวมทั้งสามารถใช้ทางเข้าออกกว้าง 13 เมตร ถือว่า ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปไม่กระทบวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดิน ส่วนกรณี รฟม.รับค่าทดแทนจำนวน 97,671,707.45 บาท โดยเอกชนก่อสร้างอาคารจอดรถให้นั้น พบว่า รฟม.ไม่ได้เสนอ ครม.เห็นชอบเนื่องจากวงเงินเกิน 90 ล้านบาท อาจขอให้ ครม.เห็นชอบภายหลังได้

สำหรับขั้นตอนต่อไปคณะทำงานฯ โดยมีนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน จะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา สำนักงานเขตวัฒนา และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยยึดแนวทางที่ได้มีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป