Green Legal หนึ่งจิ๊กซอว์สู่ความยั่งยืน
ทุกวันนี้ถ้าองค์กรไหนไม่มีหรือไม่พูดถึงเรื่องของ “ความยั่งยืน” นี่จะถือว่า “ตกเทรนด์” มากเลย
อย่าเข้าใจผิดว่าผมมอง “ความยั่งยืน” เป็นแฟชั่น หรือเทรนด์ที่ใครก็ต้องวิ่งตาม ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับโดยสากลแล้วว่า การให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบ คือ เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แท้จริง ส่วนนโยบาย รายละเอียดปลีกย่อยจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นกับประเภทธุรกิจของแต่ละองค์กร
สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Green Legal เป็นจิ๊กซอว์สำคัญอีกตัวหนึ่งในโมเดล Total Green Real Estate Development-Services ซึ่งในภาพรวม คือ การยึดมั่นบนหลักการของ ESG (Environment, Social and Governance : สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ภายใต้รายละเอียดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย และการติดต่อกับหน่วยงานภายนอกองค์กร หนักแน่นในแนวทางการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการ
แน่นอนว่ามีกระบวนการมากมายที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย เป็นแกนกลางสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม กฎหมายที่ดำเนินมาเป็นสาธารณะ มีผลต่อทุกคน ทุกกระบวนการของงาน ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันเป็นไป เป็นอยู่ทางสังคม เรียบร้อย สงบสุข ของส่วนรวม มิใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง
เราในฐานะผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสังคมที่เราอยู่ เรายึดมั่นในการดำเนินการตามกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ของสังคมอย่างเคร่งครัด โดยเริ่มที่ตัวเรา งานของเรา ก่อนเลยที่ต้องตั้งอยู่บนความถูกต้องตามข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้เวลาที่กำหนดร่วมกันสำหรับทุกคน ก็จะทำให้ช่องว่างต่างๆ ลดลงไปอย่างมาก และไม่เป็นการเร่งรัดบีบคั้นให้การพิจารณาต่างมีปัจจัยกดดันเกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ปิดช่องโหว่แห่งสีสันเทาดำให้หายไปได้
ทั้งนี้ ในกระบวนการร่วมในงานเอกสารที่หน่วยงานต่างๆ ก็เริ่มให้การยอมรับในการประสานงานผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น การให้การสนับสนุนหน่วยงานราชการในโอกาสพิเศษต่างๆ ด้วยการจัดกิจกรรมทดแทนการให้ของขวัญ ของกำนัล ซึ่งในบางครั้งยังสามารถสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือแนวทางเกี่ยวกับความยั่งยืนที่เข้าใจได้ง่ายๆ นำไปทำต่อเองได้ สร้างการรับรู้และเรียนรู้ให้กว้างออกไปอีก
แค่ตัวอย่างที่หยิบยกมา แต่จริงๆ แล้ว ถ้าแต่ละองค์กรมีความเข้าใจ และจริงจัง ทุกเรื่อง ทุกกระบวนการสามารถบริหารจัดการให้เข้าสู่จุดหมายแห่งความยั่งยืนได้หมด แต่ต้องมีการตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้จริง มีเอกสารหลักฐานที่ตรวจสอบได้ตามหลักการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และจะยิ่งดีขึ้นไปอีก หากได้มีการปรึกษา พูดคุย ประชุมร่วมกับหน่วยงานภายนอกเพื่อหาแนวทางในการสร้างความยั่งยืนร่วมกัน
เพราะที่สุดแล้ว “ความยั่งยืน” ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะสร้างความเชื่อมั่น ปั้นยอดขายให้กับองค์กรเท่านั้น แต่ยังสร้างสังคมที่งดงามและโลกที่น่าอยู่ให้กับลูกหลานของเราในอนาคตอีกด้วยครับ