Generation Rentไร้เงินเก็บชะลอซื้อ-เช่าบ้านหันมาอยู่กับพ่อแม่
เศรษฐกิจโตช้า-ดอกเบี้ยแพง-ราคาบ้านแพงสวนทางกับรายได้ Generation Rentไร้เงินเก็บไม่พร้อมซื้อ-เช่าบ้าน เปลี่ยนมาอยู่กับพ่อแม่ตอบโจทย์ทางการเงินและลดภาระค่าใช้จ่าย
DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้เจเนอเรชัน Y – Z ตัดสินใจชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อนเนื่องจากมีเงินเก็บไม่พอที่จะซื้อที่อยู่อาศัย
• “เงินเก็บสวนทางราคาบ้าน” ทำคนเลือกเช่า ในขณะเดียวกันเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกเช่าที่อยู่อาศัยแทนการซื้อ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยการเงินเป็นหลัก โดยมากกว่าครึ่ง (56%) เผยว่ามีเงินเก็บไม่พอที่จะซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่ราคาบ้านที่สูงเกินไปทำให้เกือบ 2 ใน 5 (37%) ขอเลือกออมเงินแทน และ 36% มองไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นว่าผู้เช่าส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับการบริหารสภาพคล่องทางการเงินในยุคที่แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง จึงลดความเสี่ยงโดยหลีกเลี่ยงการซื้อที่อยู่อาศัย และหันมาเลือกเช่าซึ่งตอบโจทย์ทางการเงินและลดภาระค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า
ปัจจุบันมุมมองการเป็นเจ้าของที่อาศัยของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ Generation Rent ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตและไม่สร้างภาระทางการเงินในระยะยาวจากการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีความคล่องตัวมากกว่าหากต้องการโยกย้ายในอนาคต โดยผู้เช่าเกือบ 2 ใน 5 (39%) เผยว่าได้วางแผนเช่า 2 ปีก่อนจะซื้อที่อยู่อาศัยในภายหลัง ส่วน 29% มีความไม่แน่ใจว่าจะเช่าอีกนานแค่ไหน เนื่องจากยังต้องพิจารณาปัจจัยความพร้อมด้านอื่น ๆ อีกครั้ง ขณะที่ 5% เผยว่าตั้งใจจะเช่าอยู่ตลอดชีวิต
สำหรับอัตราค่าเช่าที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในหมู่ผู้เช่าอยู่ในช่วงไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน สัดส่วน 46% สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การมองหาที่อยู่อาศัยให้เช่าที่มีราคาย่อมเยา ตอบโจทย์สถานะทางการเงินในยุคปัจจุบันเป็นหลัก รองลงมาคือ 5,001-10,000 บาท/เดือน และ 10,001-15,000 บาท/เดือน (สัดส่วน 32% และ 9% ตามลำดับ)
ขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) หรือ Gen Y และ Gen Z ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มต้นสร้างครอบครัวและเริ่มวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยจึงมีความสำคัญต่อภาคอสังหาฯ อย่างไรก็ดีมีผู้บริโภคเพียง 37% เท่านั้นที่มีแผนย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ภายใน 1 ปีข้างหน้า ขณะที่กว่า 3 ใน 5 (63%) เผยว่ายัง"ไม่มี"แผนย้ายออกเร็ว ๆ นี้ โดยให้เหตุผลว่าต้องการดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด 43% รองลงมาคือตั้งใจรับช่วงต่อบ้านของพ่อแม่ 28% และไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยของตัวเองในเวลานี้ 27% สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายทางการเงินที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญของมนุษย์
แม้ความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อแผนการซื้อบ้าน/คอนโดฯ ของคนรุ่นใหม่ แต่ความต้องการซื้อนั้นยังคงมีอยู่ โดยกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) และ Gen Z เผยว่าหากต้องเลือกระหว่างการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ต้องการซื้อมากถึง 82% มีเพียง 18% เท่านั้นที่สนใจเช่า
ทั้งนี้ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) และ Gen Z วางแผนการเงินไปกับการใช้จ่ายภายในครอบครัวมากถึง 56% รองลงมาคือเก็บเงินไว้เป็นกองทุนเงินสำรองฉุกเฉิน 54% เพื่อรับมือสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต และเก็บเงินไว้เพื่อเคลียร์หนี้ต่าง ๆ ให้หมด 27% โดยมีเพียง 21% เท่านั้นที่วางแผนออมเงินไว้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย
สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่า สถานการณ์สังคมสูงวัยที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับวัยแรงงานที่ลดลงในไทย ส่งผลให้ “แซนด์วิช เจเนอเรชัน (Sandwich Generation)” หรือคนที่อยู่ตรงกลางที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเอง มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาทางการเงิน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางกลายเป็นความท้าทายให้คนรุ่นใหม่สร้างเนื้อสร้างตัวได้ยากกว่าสมัยก่อน การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ อีกต่อไป