ลดดอกเบี้ยกระตุ้น ‘อสังหาฯ’ ประคองตลาด - ปลุกกำลังซื้อ

ลดดอกเบี้ยกระตุ้น ‘อสังหาฯ’  ประคองตลาด - ปลุกกำลังซื้อ

นายกสมาคมอาคารชุดไทย ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% เป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจ ภาคอสังหาฯ ปีนี้ให้ติดลบน้อยลง ทำดอกเบี้ยลดลงจะส่งผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าช่วยให้ต่างชาติโอนเพิ่มขึ้น ปลุกกำลังซื้อโค้งสุดท้าย

การคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยทำให้สร้างดีมานด์ใหม่การซื้อที่อยู่อาศัยได้ในช่วงไตรมาส 4 ที่มีคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่รอโอนมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาทได้รับอานิสงส์ แม้จะไม่ถึงกลับพลิกให้ตลาดฟื้นตัวแต่ช่วงประคองตลาดอสังหาฯ

ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยทุก 0.25% ทำให้ดีมานด์เพิ่มขึ้น 2% ส่วนผู้ประกอบการจะลดภาระได้ 3% และมีผลต่อราคาขายบ้านลดลง 0.7% นอกจากนี้ มีผลต่อการชำระคืนหนี้ และเกิดการหมุนเวียนในซัพพลายเชนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และประคองตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ให้ติดลบน้อยลง โดยเมื่อดอกเบี้ยลดลงทำให้เงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต่างชาติโอนมากขึ้น ขณะที่ลูกค้าคนไทยมีกำลังซื้อเพิ่ม
 

นายประเสริฐ กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจภาพใหญ่ จะทำให้กระตุ้นกำลังซื้อคนในวงกว้าง และทำให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นฟื้น โดยเฉพาะตลาดกลาง-ล่าง และลดภาระผู้ที่ต้องมีการออกหุ้นกู้ได้ ขณะเดียวกันอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ทบทวนนโยบาย LTV ด้วยการยกเลิกชั่วคราวเป็นปีต่อปีเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

“การลดดอกเบี้ยจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจกิจไทย ทำให้ค่าเงินบาทเสถียรภาพ และเกิดการลงทุนมากขึ้น ในส่วนของตลาดอสังหาฯ ลดภาระผู้ซื้อบ้านทำให้ค่าผ่อนลดลง กลุ่มผู้ซื้อใหม่ดอกเบี้ยถูกลงสามารถกู้ได้วงเงินมากขึ้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้นช่วงปลายปี”
 

ลดดอกเบี้ยส่งผลเชิงจิตวิทยา

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยทำให้ความรู้สึก (sentiment) หรือ จิตวิทยาของคนดีขึ้นแต่ในทางปฏิบัติต้องรอดูว่า ธนาคารพาณิชย์จะดำเนินการหรือไม่หลังจากที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมานาน แต่ถ้าหากกดดันให้ลดลง ต้องให้ ธนาคารรัฐลดดอกเบี้ยนำร่องก่อน

สำหรับภาพรวมการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อภาคอสังหาฯ และต่อกลุ่มผู้ซื้อรายใหม่ ที่จะมีการผ่อนที่ลดลง แต่ไม่มากนัก ซึ่งปกติวงเงินกู้ 1 ล้านบาท จะมีการผ่อนอยู่ที่ 7,000 บาท ส่วนลูกค้าเก่าที่ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ คงยังไม่ได้ประโยชน์ ต้องรอหมดแคมเปญก่อนถึงจะได้ผลของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 

แต่ยอมรับว่า ในปี 2567 อสังหาฯ อยู่ในภาวะที่ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนนโยบาย LTV ด้วยการยกเลิกไปก่อนจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว

หนุนบาทแข็งคลายตัว เอื้อทัวริสต์จับจ่าย

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า หลังจาก กนง.มีมติลดดอกเบี้ย มองว่าส่งผลดีต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว และโรงแรม ช่วยลดต้นทุนการเงินแก่ลูกหนี้รายเดิม ส่วนภาพรวมธุรกิจใหม่ก็สามารถกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง กระตุ้นการลงทุนใหม่ซึ่งขึ้นกับภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันด้วย 

นอกจากนี้การลดดอกเบี้ยยังมีส่วนทำให้สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าคลายตัวลง ส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะเดินทางมาจับจ่ายในไทย

สมาคมฯ คาดแนวโน้มการท่องเที่ยวไทยในไฮซีซันช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) น่าจะไปได้ดี เนื่องจากปริมาณที่นั่งโดยสารเริ่มกลับมามากขึ้นในช่วงตารางบินฤดูหนาวที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนธ.ค. เป็นต้นไป หนุนอัตราเข้าพักโรงแรมดี เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ในโซนซีบีดี (CBD) คาดอยู่ที่ระดับ 80% ขึ้นไป

"อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 เดือนนี้พบว่า มีแรงเฉื่อยของกระแสการเดินทาง และมีปัจจัยน้ำท่วมหลายพื้นที่รบกวนมู้ดการเดินทาง และตัดสินใจออกเดินทางของนักท่องเที่ยว ต่างจากช่วงต้นปี และกลางปีที่มู้ดการเดินทางดูดีมาก ด้านตลาดนักท่องเที่ยวจีน ถือเป็นตลาดเดียวที่ผู้ประกอบการกังวลเพราะยังฟื้นไม่เต็มร้อย คาดตลอดปี 2567 จะปิดที่ตัวเลข 7 ล้านคน  หลังสถิติล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 13 ต.ค.67 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสะสม 5.47 ล้านคน มากเป็นอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 27.21 ล้านคน โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่นิยมมาเที่ยวด้วยตัวเอง การเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ดั้งเดิมลดลงไปมาก"

ลดดอกเบี้ยเหมาะสมกับเศรษฐกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุม กนง.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25%สภาหอการค้าฯ เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้

รวมทั้งการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เชื่อว่าจะกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออก และภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และประชาชนต้องแบกรับดังนั้นการลดครั้งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายปี 2567และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศว่านโยบายทางการเงิน และนโยบายทางการคลังของประเทศไทยสอดคล้องไปในทางเดียวกัน

สรท.ชี้ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การที่ กนง.ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้เซอร์ไพรส์ เพราะคาดเดาไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องขอขอบคุณ กนง.ที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคลายความกดดันให้ภาคธุรกิจในหลายด้าน

รวมทั้งจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงอยู่แล้วจะช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการได้ไม่มากก็น้อย เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันก็ยังอยู่ในระดับสูง และยังช่วยในเรื่องของเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าลงอีก แม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นมากดดัน

ส่วนการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนหรือไม่ตอบยากในภาวะเศรษฐกิจตรึงตัว ประชาชนยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยอีกทั้งขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

“ไม่เซอร์ไพรส์ที่ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ย เพราะดูจากสถานการณ์ บริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเอื้อต่อการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องขอขอบคุณ กนง.เพราะคลายความกดดันของภาคการส่งออกได้มาก”นายชัยชาญ กล่าว

นายชัยชาญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของรัฐบาลที่อยากช่วยดูแลต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มเติม สิ่งใดที่ช่วยได้หรือชะลอ ออกไปก่อนก็ควรดำเนินการ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การตรึงราคาน้ำมัน ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นส่วนช่วยในเรื่องการผลักดันการส่งออกของไทยได้ส่วนหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโตได้ 2%

ส่วนการจะลดดอกเบี้ยในครั้งต่อไปหรือไม่ คงต้องรอดูว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะลดดอกเบี้ยอีกหรือไม่ในการประชุมต้นเดือนพ.ย.2567อีกทั้งต้องดูความเคลื่อนไหวของเงินบาทของคู่ค้า และคู่แข่งของไทยด้วยจะเคลื่อนไหวอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเงินบาทเราแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์