เอสซี ชู '3 ท' เที่ยว-เทศ-ท็อป (เทียร์)' กว้านโอกาสใหม่รอเศรษฐกิจฟื้น!
เอสซี ชู '3 ท' เที่ยว-เทศ-ท็อป (เทียร์)'กว้านโอกาสใหม่รอเศรษฐกิจฟื้น! ชี้ทุกวิกฤติมีโอกาส ระบุความแม่นยำไม่สำคัญเท่าความหลากหลายปัญหาใหญ่ “สินค้าคงค้าง” ที่มากเกินไป โดยเฉพาะแนวราบคาดใช้เวลากว่า 4ปี ระบายสต็อก
การกลับมาของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 ไม่ง่าย! เหมือนการย้อนกลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ก็ยังคงมี “โอกาส” ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ สะท้อนชัดว่าทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ!
ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น วิเคราะห์บนเวทีสัมมนาลงทุนประจำปี KKP The Year Ahead 2025 ของบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ระบุว่า สถานการณ์ปี 2567 “ท้าทายและยากลำบาก” จาก 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ 1.หนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยยากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อภาระหนี้สินและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่อเนื่อง
2.ความเชื่อมั่นต่ำ เป็นผลมาจากความเข้มงวดของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อและการปรับลดเกรดความน่าเชื่อถือของบริษัทหลายแห่งทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่ำในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เกิด Rejection สินเชื่อบ้านที่เกิน 10 ล้านบาทมากกว่า 10%
และ 3.ซัพพลายล้น ตลาดบ้านเดี่ยวและบ้านหรูเริ่มกลับมาดี ทำให้หลายบริษัทในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ต่างพากันเข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกัน ส่งผลให้เกิดซัพพลายเพิ่มขึ้น 80% ในกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยวและบ้านหรูที่ขายดีเพราะหลายบริษัทลงมาเล่นตลาดเดียวกัน คาดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี ในการระบายสินค้าคงค้าง (Stock) หมด! จากปกติใช้เวลา 2-3 ปี ในการระบาย
ณัฐพงศ์ วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โดยรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2568-2569 ยังมี “โอกาส” ดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ตลาดได้ หากสามารถจับจังหวะที่น่าสนใจ จาก “3 ท.” ได้แก่ "เที่ยว" ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะการลงทุนคอนโดมิเนียมและโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยว
ถัดมา “เทศ” คือลูกค้าต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา รัสเซีย และไต้หวัน เพิ่มความต้องการที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 20% โดยเฉพาะกลุ่มตลาดรายได้สูง เป็น “โอกาส” ให้กับไทยซึ่งเป็นประเทศไทยน่าอยู่ และ “ท็อป” (Top Tier) ตลาดบ้านหรู มูลค่า 20 ล้านบาทขึ้นไป ยังคงแข็งแกร่งและมีความต้องการสูง แม้ซัพพลายจะมีมากกว่าความต้องการ แต่ยังมีการเติบโตในกลุ่มลูกค้าระดับท็อป เพราะกำลังซื้อแข็งแรงที่สุด ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายลงมาเล่นตลาดนี้มากขึ้น
“หลังโควิด-19 ลูกค้าในประเทศยังคงมีความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่มีความไม่พร้อมเรื่องกำลังซื้อ และกังวลกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ต่างจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่มีความต้องการซื้อ แต่ซื้อไม่ได้ด้วยจำนวนโควตาที่จำกัด”
ยุคที่บริบททางเศรษฐกิจและการตลาดยังคงผันผวน “เอสซี แอสเสท” มองเห็นความสำคัญของความหลากหลายในการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ในช่วงเวลาที่ความแม่นยำไม่สามารถรับประกันผลสำเร็จในทุกสถานการณ์ บริษัทจึงเลือกมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม หรือโรงแรม เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าทุกกลุ่ม และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
“แผนธุรกิจเอสซีในยุคผันผวนนี้ เรามองว่าความแม่นยำไม่สำคัญเท่าความหลากหลาย ทำให้เอสซี มีบ้าน คอนโดมิเนียม โรงแรม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อครบทุกกลุ่มเป้าหมาย”
ณัฐพงศ์ กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันคือการมี “สินค้าคงค้าง” ที่มากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์แนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม) ที่มีการซัพพลายเกินดีมานด์มากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ใช้เวลานานในการระบายสินค้าคงค้างออกจากตลาดกว่า 4ปี ซึ่งมากกว่าการประเมินเมื่อปีก่อนที่คาดว่าจะใช้เวลาเพียง 2 ปี
อย่างไรก็ตา มแม้ว่าในระยะสั้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากหนี้ครัวเรือนสูง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำ และซัพพลายที่มากเกินไป แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น หนี้ครัวเรือนลดลง ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจกลับมา ผู้ประกอบการลดการเปิดโปรเจกต์ใหม่ มีโอกาสที่จะเห็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวในปี 2568 และกลับมามีความ “สมดุล” ในปี 2569