ตุลาการแถลงคดี‘แอชตันอโศก’เห็นควรยกฟ้องลุ้นศาลสูงชี้ขาด

ตุลาการแถลงคดี‘แอชตันอโศก’เห็นควรยกฟ้องลุ้นศาลสูงชี้ขาด

จับตากรณี “แอชตัน อโศก” หลังพิจารณาคดีเพิกถอนใบอนุญาตนัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดี “ยกฟ้อง” ถือเป็นสัญญาณบวก วงการอสังหาฯ สถาบันการเงิน ลูกบ้าน ลุ้นผลตัดสินศาลปกครองสูงสุด 1-2 เดือน “อิสระ บุญยัง” ระบุ จะเป็นมาตรฐานต่อไป แนะผู้ประกอบการรอบคอบ-ระวังการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

วานนี้ (20ก.ย.) เวลา 09.30 น.ศาลปกครองสูงสุด นั่งพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อส. 67/2564 ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด)

ตุลาการผู้แถลงคดี ได้ให้ความเห็นต่อกรณี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อนุญาตให้ โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืน เพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ขณะ รฟม. ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบ คำอุทธรณ์จากฝั่งลูกบ้าน และ บมจ.อนันดา ฟังขึ้น

ทางตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นว่าโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี

อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี “ไม่ได้ ” ถูกนำมาพิจารณาร่วมกับการตัดสินของตุลาการเจ้าของสำนวน จึงยังต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง คาดว่า ต้องใช้ระยะเวลา 1-2 เดือนจากนี้หรือเร็วสุด 1-2 สัปดาห์

ตุลาการแถลงคดี‘แอชตันอโศก’เห็นควรยกฟ้องลุ้นศาลสูงชี้ขาด

ชี้พิจารณาคดีนัดแรกสัญญาณบวก

นายพิสิษฐ เดชไชยยาศักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องสอดของโครงการแอชตัน อโศก บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด / ที่ปรึกษากฎหมายจาก WCP  กล่าวว่า คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี เป็นสัญญาณบวก เพราะคดีดังกล่าวมีผลกระทบต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงิน รวมทั้งประชาชนที่เก็บหอมรอมริบมาซื้อที่อยู่อาศัย 

"เราอาจจะต้องมองย้อนกลับไปว่า โครงการนี้ใช้มา 4-5ปี แล้วสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอะไร ทางตรงข้ามสร้างคุณูปการทั้งในแง่ที่อยู่อาศัยธุรกิจต่างๆ แม้กระทั่ง รฟม. ใช้เป็นอาคารสำนักงาน ที่ทำการ ร้านค้า และให้บริการแก่คนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าได้ ที่สำคัญทุกอย่างผ่าน 7-8 องค์กร ที่กลั่นกรอง รวมทั้งที่ดินแปลงนี้ ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเสร็จหมดแล้ว”

นายพิสิษฐ ระบุว่า โครงการและที่ดินเหล่านี้เป็นไปตามกฎหมาย รฟม. ทั้งสิ้น การที่ รฟม. นำมาให้เอกชนร่วมใช้ รฟม. ไม่ได้สูญเสียกรรมสิทธิ์ ซึ่ง รฟม.ก็ใช้เป็นทางเข้าออกที่จอดรถด้วยไม่ได้สูญเสียกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด 
 

นายพิสิษฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการก็มีข้อโต้แย้ง คัดค้าน ระงับการก่อสร้าง และให้ไปดำเนินการให้ถูกต้อง มีการตรวจสอบกลั่นกรองอยู่หลายรอบ ระหว่างการก่อสร้างต่างๆ หรือแม้กระทั่งเสร็จแล้วก็ยังมีการระงับ มีการตรวจสอบกันทุกขั้นตอน

ที่ผ่านมาประเด็นหลัก คือ ที่มาจากการเวนคืน ไม่สามารถนำมาให้เอกชนใช้ ฉะนั้นเมื่อไม่สามารถให้นำมาใช้มาทำเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใบอนุญาตจึงออกไม่ชอบ ศาลชั้นต้นจึงให้เพิกถอน นั่นคือแนวทางของศาลชั้นต้น แต่ รฟม. นำมาใช้เป็นที่สาธารณะ ที่สำคัญ ที่ดินที่ทำโครงการก็เป็นเจ้าของที่ดินเดิมที่ถูกเวนคืน ฉะนั้นถ้ามองในแง่ยุติธรรม ความเหมาะสม ทางต้องมีให้เขาอยู่แล้ว จึงย้ายมาติดกับทางสยามสมาคมฯ

ปัจจุบันคดีกับทางสยามสมาคมฯ อยู่ในศาลชั้นต้น ยังไม่มีคำสั่งห้ามอะไร ลูกบ้านยังไม่ได้รับผลกระทบอะไร จึงยังไม่ได้ร้องสอดเข้ามาในช่วงแรกรวมทั้งศาลปกครองสูงสุดทราบ ว่าได้รับความเดือดร้อน แต่ล่าสุดได้นำคำร้องสอดของลูกบ้านเข้ามาเพื่อให้ศาลได้เห็นภาพความเป็นจริงว่า 668 ห้อง ได้รับความเสียหายจริงๆ จึงร้องเข้าไปในคดี ของสยามสมาคมฯ

“ตามหลักการต้องรอฟังผลจากศาลปกครองสูงสุด เพื่อเป็นบรรทัดฐาน ถ้าเขาออกบรรทัดฐานมา สามารถมีผลมาบังคับใช้ได้ เพราะศาลล่างยึดศาลสูงเป็นหลัก ซึ่งในทางปฏิบัติใช้เวลา 1-2 เดือน ถึงจะมีคำพิพากษาในคดี โดยจะมีหนังสือแจ้งไปยังคู่ความที่เกี่ยวข้อง”

ตุลาการแถลงคดี‘แอชตันอโศก’เห็นควรยกฟ้องลุ้นศาลสูงชี้ขาด

ชี้แอชตัน อโศก ถูกรื้อจะเป็นโดมิโน

สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ มีหลายโครงการที่มีลักษณะคล้ายกันในเส้นรถไฟฟ้า หรือแม้แต่โครงการนี้ที่บอกว่า นำที่เวนคืนมาทำไม่ได้ เช่น ทางหลวงก็ต้องถูกรื้อหมด จะส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะธนาคารไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าให้สินเชื่อ หากกรณี “พลิก” ผลที่ตามมาใครจะกล้าลงทุน คนจะซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม จะต้องตรวจเช็คละเอียดยิบ เพราะไม่สามารถล่วงรู้ได้

“ถ้าโครงการนี้ไม่ผ่าน โครงการอื่นๆ จะกลายเป็นโดมิโน และโครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่าง มิตซุย ฟูโดซัง ประเทศญี่ปุ่น กับอนันดาฯ  เมื่อมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ทั้งที่ก่อนทำโครงการได้ศึกษาข้อมูลจากฝ่ายกฎหมายของเขา เพราะมูลค่าโครงการ 5,000-6,000 ล้านบาท ต้องตรวจสอบแล้วถึงกล้าลงทุน แล้วชวนลูกค้าเข้ามาซื้อ ซึ่งต่างชาติที่เข้ามาซื้อโครงการนี้ มีมากพอสมควร หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติ”

ผลการตัดสิน ‘กำหนดมาตรฐาน’

นายอิสระ บุญยัง ประธานกลุ่มกานดา พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ตามหลักการไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร จะเป็นมาตรฐานต่อไปในการประกอบธุรกิจอสังหาฯ แต่ทั้งนี้ ที่ดินอื่นๆ ขององค์กรรัฐ อาจมีระเบียบปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องมีความระมัดระวังตั้งแต่เรื่องของการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะคดี ก็จะเป็นมาตรฐานต่อไป

ส่วนการที่แนวโน้มในทางบวกของคดีที่น่าจะเป็นผลดี ก็จะไม่ก่อผลกระทบต่อผู้ซื้อและสถาบันการเงิน ไม่ก่อความวิตกกังวลต่อผู้ประกอบการรายอื่นๆ ด้วย ซึ่งใช้ที่ดินในลักษณะเดียวกัน

สำหรับคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับ เนื่องจากเห็นว่า เดิมที่ดินโครงการ ติดกับถนนสาธารณะ (ถนนอโศกมนตรี) แต่ต่อมาที่ดินบางส่วนถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษฯ ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือไม่มีส่วนใดติดถนนสาธารณะ และไม่มีทางออกสู่ถนนอโศกมนตรี ซึ่ง รฟม. ได้อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านหรือเข้า-ออก  กว้าง 13 เมตร ตามคำขอของผู้ร้องสอดเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะยกที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะโดยเปิดหรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไปหรือใช้เป็นทางสัญจรแต่อย่างใด

ดังนั้น ผู้ร้องสอดจึงไม่อาจนำที่ดินของ รฟม. ไปประกอบการยื่นแจ้งการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารได้

ตุลาการแถลงคดี‘แอชตันอโศก’เห็นควรยกฟ้องลุ้นศาลสูงชี้ขาด

ดังนั้น ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการจึงไม่มีด้านหนึ่งด้านใดยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) อนุญาตให้ก่อสร้างและดัดแปลงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับประเด็นที่ผู้ว่าการ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ออกประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกไม่ใช่ผู้ที่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าที่ขออนุญาตใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านเข้า-ออกสู่ทางสาธารณะ จึงมิใช่ผู้ที่อยู่ในบังคับของประกาศที่พิพาทและไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้อง ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อประโยชน์ของที่ดินของผู้ร้องสอดนั้น เป็นเพียงการก่อตั้งสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. ตามคำเสนอของผู้ร้องสอด การออกใบอนุญาตดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง และผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องในข้อหานี้

ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 และผู้ร้องสอดจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด