“นิด้า” ตั้ง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ก้าวสู่ International Role Model
“นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผสานกับเทคโนโลยีและศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนา International Role Model” ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ
“ปี 2564 นิด้ามุ่งเป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง” ดร. ปรียานุช ธรรมปิยา
ถือเป็นการลงทุนทางด้านวัฒนธรรมครั้งใหญ่ของประเทศ เมื่อทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดตั้งโครงการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ TASSHA (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) และได้มอบหมายให้ “สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)” รับผิดชอบในส่วนของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง 1 ใน 5 สถาบันภายใต้ TASSHA
ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เล่าถึงแนวทางการดำเนินการของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงว่า นิด้าจะเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนางานด้านวิชาการ งานด้านวิจัย และสร้างบุคลากร ที่สามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งนิด้ามีความพร้อมทั้งคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ด้านนี้อย่างมาก ดังนั้น เมื่อได้รับมอบหมายจากทาง กระทรวง อว. ให้เป็นผู้รับผิดชอบสถาบันดังกล่าว นิด้าจึงพร้อมนำศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปผสานกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็น International Role Model ของประเทศที่กำลังพัฒนา
“ภารกิจหลักของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงมี 4 ด้าน คือ การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทางวิชาการของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การวิจัย การสร้างและพัฒนากำลังคน ทุนทางปัญญา และการส่งเสริมการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ โดยสถาบันดังกล่าวได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 ก.พ.2564 เพื่อขับเคลื่อนและร่วมกันแก้ปัญหาชุมชน ซึ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปใช้ได้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฉะนั้น หลังจากนี้นิด้าจะนำเสนอโครงการที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาบูรณาการร่วมกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสร้างความเชื่อมโยงจากในประเทศไทยสู่ระดับโลก” ศ.ดร.กำพล กล่าว
“สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง” ดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 และปี 2565 ภายใต้วงเงิน 40 ล้านบาท และ 169 ล้านบาท ดร. ปรียานุช ธรรมปิยา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง นิด้า กล่าวว่า ทางนิด้าได้รับความไว้วางใจจากกระทรวง อว.จัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง นิด้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งสถาบันโดยคณะผู้บริหารของนิด้า ได้ร่วมกำหนดเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปี ข้างหน้า และได้ผ่านการอนุมัติของ อว. โดยสิ่งที่จะดำเนินการให้เกิดขึ้น มีดังนี้
- ประเทศไทยจะมี SEP Innovation Platform ซึ่งไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ หากพูดถึงเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องมาที่นิด้า โดยนิด้าจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ และออฟไลน์
- สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อตอบสนองพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 10 ที่ต้องการจะสืบสาน รักษา ต่อยอดงาน ของ รัชกาลที่ 9 โดยจะมีการพัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิตให้มีมากขึ้นและหลากหลาย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งทฤษฎีวิชาการ และปฏิบัติ เช่น การเกษตร การจัดการน้ำ บริษัท องค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติจริง ผู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องเหล่านี้
- นิด้าจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับทุกมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจจัดทำหลักสูตรปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ ในการผลิตวิศวกรสังคมไปพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- SEP Development Model สร้างความร่วมมือกับนักวิชาการระดับโลกและระดับแนวหน้าของไทย พัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นทฤษฎีการพัฒนา ที่สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอน พัฒนาองค์กร สังคม และประเทศ และ
- SEP Training สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศ ทั่วโลกที่สนใจในการขยายหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทำให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปต่อยอดและใช้ได้จริง
“สิ่งที่จะเห็นในปี 2564 จะเป็นการสร้างฐานข้อมูล Big DATA เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านวิชาการ โครงการ กิจกรรม การเรียนรู้ และนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เพราะในการไปสู่เป้าหมายได้จะต้องรู้ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรคน องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงมากน้อยอย่างไร รวมถึงต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ทำงานวิจัยในชุมชนท้องถิ่น สร้างฐานข้อมูล และทำให้โครงการเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงในทางปฎิบัติ โดยจะเริ่มต้นจาก “นิด้า” บูรณาการร่วมกัน แต่นิด้ามิใช่เป็นเจ้าขององค์ความรู้ แต่จะเป็นเกตเวย์ให้ทุกคนได้เชื่อมต่อความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง กระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ที่ถูกต้องและลึกซึ้งเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดร. ปรียานุช กล่าว
“สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” ได้ทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างยาวนาน “สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง” จึงสามารถต่อยอดจากฐานโครงการต่างๆ ได้ อาทิ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ซึ่งขณะนี้นิด้ารับผิดชอบกว่า 50 ตำบล ทั่วประเทศ และ 3 แขวงของ กทม. เพื่อร่วมกับ อว. ในการยกระดับเศรษฐกิจสังคม โดยมีทีมนักวิจัยร่วมทำงานกับผู้นำในชุมชนท้องถิ่น เป็นการนำโจทย์จากชุมชนมาแก้ปัญหา ภายใต้การใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการยกระดับชุมชนและสังคม
“อาจารย์ทำงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงมากว่า 20-30 ปี ซึ่งตอนนี้คนไทยและต่างชาติเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ว่าเป็นการใช้ชีวิตตามแนวทางสายกลาง บนพื้นฐานของการรู้จักตนเอง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การบริหารจัดการการเงิน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาธุรกิจ เป็นหลักคิดในการใช้ตัดสินใจไม่ให้มีความเสี่ยง ไม่เกินตัว และไม่ได้อยู่ในความคิดฟุ้งเฟ้อ สามารถบูรณาการใช้จริงในชีวิต ในการทำงาน ที่สำคัญคือ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานหลักคิดที่ยิ่งใหญ่ในการดำเนินชีวิตให้กับคนไทย เพื่อจะได้ เจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข” ดร.ปรียานุช กล่าวทิ้งท้าย