4 ช่วงวัย กับ 5 ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต ควรมีติดตัว
สกศ.เปิด 5 ทักษะจำเป็นแห่งอนาคตที่ในทั้ง 4 ช่วงวัย ปฐมวัย วัยเด็ก/วัยรุ่น วัยทำงาน และสูงวัย ควรมีติดตัว เตรียมพร้อมคุณภาพชีวิต อยู่รอดในโลกศตวรรษที่21
ตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2589 ประเทศไทยจะมีความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาทั้งสิ้น 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
4.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 5.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
อันนำไปสู่เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคนไทยในทุกช่วงวัย ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางกาย ใจ และสติปัญญาให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ โดยคาดหวังให้คนไทยมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และนิสัยรักในการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
- 5ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคตในแต่ละช่วงวัย
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดทำทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต เพื่อเตรียมการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 โดยแบ่งตามช่วงวัย ดังนี้
ช่วงปฐมวัย (0-5ปี)
การพัฒนาช่วงวัยนี้ควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างปลอดภัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีมุมมองต่อโลกอย่างกว้างขวาง มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทุกด้านพร้อมกัน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ควบคู่กับการพัฒนาผู้ปกครอง ผู้ดูแล และครูให้มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ
5 ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต
- ความคิดเชิงสร้างสรรค์
- ความอยากรู้อยากเห็น
- ความสามารถทางกายภาพ การแก้ปัญหา การสื่อสาร
- การอ่าน ออก เขียนได้
- ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าใจผู้อื่น
ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น (5-21 ปี )
การพัฒนาช่วงนี้ควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นหลากหลาย ครอบคลุมการพัฒนาทั้งกาย ใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตลอดจนทักษะพื้นฐานและทักษะที่เชื่อมสู่โลกการทำงาน ไม่จำกัดการเรียนรู้อยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ส่งเสริมการค้นหาตัวตนและความถนัดของเด็ก และมีช่องทางการเรียนรู้ที่ตอบสนองได้ทันทีทั้งในและนอกระบบ
5 ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต
- ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล
- การอ่าน ออก เขียนได้
- การเป็นผู้เรียนเชิงรุก
- การเป็นพลเมืองที่ดี ความอยากรู้อยากเห็น
- การคิดเชิงสร้างสรรค์
- ทักษะศตวรรษที่21 ที่วัยแรงงาน- สูงวัย ควรมี
ช่วงวัยแรงงาน (15-59 ปี)
การพัฒนาในช่วงวัยนี้ควรเสริมสร้างความต้องการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยโอกาสในการพัฒนาตัวเองดังกล่าว ควรควบคู่กันทั้งการเรียนรู้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
5ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต
- ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล การแก้ปัญหา
- ความรู้ทางธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ
- การคิดเชิงสร้างสรรค์
- การทำงานร่วมกับผู้อื่น
- การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ช่วงวัยผู้สูงอายุ (60ปีขึ้นไป)
การพัฒนาในช่วงวัยนี้ควรมีรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะการสนับสนุนการนำความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงวัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ชุมชน และตัวผู้สูงวัยเอง เพื่อเสริมสร้างคุณค่าและต่อยอดบทบาทในสังคมของผู้สูงอายุและรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่อง
5ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต
- การปรับตัว
- การมองโลกในแง่ดี
- ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล
- ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ
- การเข้าถึงผู้อื่น
- การแก้ปัญหา