เปิดยอดอย.อนุญาตผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง เครื่องสำอางมากที่สุด ปลูกกว่า 110 ไร่
อย.เผยพื้นที่ปลูกกัญชาในไทยแล้วมากกว่า 110 ไร่ จำนวนมากกว่า 245,000 ต้น อนุญาตแปรรูปกัญชา-กัญชงผลิตภัณฑ์แล้วกว่า 800 รายการ
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามนโยบายของ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการปลดล็อก
ให้พืชกัญชาและพืชกัญชงพ้นจากความเป็นยาเสพติด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ รวมไปถึงการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย. 65 ที่จะถึงนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สำรวจภาพรวมประเทศถึงวันที่ 18 เมษายน 2565
พบว่ามีการขออนุญาตกัญชาทั้งหมด 2,351 ฉบับประกอบด้วย นำเข้า 12 ฉบับ ครอบครอง 106 ฉบับ ผลิต (ปลูก) 458 ฉบับ ผลิต (แปรรูป/สกัด) 41 ฉบับ ผลิต (ปรุง) 6 ฉบับ ส่งออก 1 ฉบับ และจำหน่าย 1,650 ฉบับ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา แบ่งเป็นผู้รับอนุญาตปลูก 397 ราย พื้นที่ปลูกมากกว่า 110 ไร่ จำนวนมากกว่า 245,000 ต้น
การขออนุญาตกัญชง ทั้งหมด 2,361 ฉบับ ประกอบด้วย นำเข้า 110 ฉบับ ครอบครอง 21 ฉบับ ผลิต (ปลูก) 2,041 ฉบับ ผลิต (แปรรูป/สกัด) 14 ฉบับ ส่งออก 1 ฉบับ และจำหน่าย 174 ฉบับ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชง แบ่งเป็นผู้รับอนุญาตปลูก 2,041 ฉบับ (877 ราย) พื้นที่ปลูก 4,845 ไร่
สำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) รวมทั้งสิ้น 80 รายการ ได้แก่ น้ำมันจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซอสปรุงรส ขนมเยลลี่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เป็นต้น
อนุญาตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวม 754 รายการ ได้แก่ เครื่องสำอางที่มีสารสกัดที่มีสาร CBD จากกัญชาและกัญชง 95 รายการ เครื่องสำอางที่ใช้ส่วนของกัญชา 56 รายการ เครื่องสำอางที่ใช้ส่วนของกัญชง 18 รายการ และใช้น้ำมัน/สารสกัดเมล็ดกัญชง 585 รายการ เพื่อบำรุงผิวทำความสะอาดผิวและขัดผิว และอนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งสิ้น 12 รายการ ได้แก่ ยาแผนไทย 11 รายการ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ จำนวน 1 รายการ
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. พร้อมส่งเสริมให้ กัญชา กัญชง สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริมสุขภาพ โดยประชาชนสามารถปลูกเพื่อนำใช้ในการดูแลรักษาตนเองและบุคคลในครอบครัวได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งอนุญาตให้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ได้ เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือนและระดับประเทศต่อไป