ศบค. เผยเด็ก 0-19 ปี "ติดโควิด" 5.5 หมื่นราย แนะฉีดวัคซีนก่อนเปิดเรียน
ศบค. เผยข้อมูล 1-21 เม.ย. 65 พบผู้ติดเชื้อโควิด อายุ 0-19 ปี 55,357 ราย คิดเป็น 14.42% แนะเร่งฉีดวัคซีนทั้งเด็กเล็ก เด็กโต ก่อนเปิดเรียน ขณะที่ "สถานการณ์โควิด-19" ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 9,790 ราย เสียชีวิต 54 ราย กว่า 61% ไม่ได้รับวัคซีน-ได้รับไม่ครบ
วันนี้ (5 พ.ค. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล “พญ.สุมนี วัชรสินธุ์” ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค รายงาน "สถานการณ์โควิด-19" โดยเผยผลการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก กรมอนามัย วิเคราะห์จากรายงานผู้ป่วยยืนยันประจำวันของ กรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย. 65 ผู้ติดเชื้ออายุ 20 ปีขึ้นไป 328,480 ราย คิดเป็น 85% ขณะเดียวกัน เป็นผู้ที่อายุ 0-19 ปี จำนวน 55,357 ราย คิดเป็น 14.42%
หากแยกตามรายละเอียดช่วงอายุ พบว่า อายุ 0-6 ปี ติดเชื้อ 6.62% อายุ 7-12 ปี ติดเชื้อ 3.76% และ อายุ 13-19 ปี ติดเชื้อ 4.04% การรายงานการติดเชื้อในเด็กมีการรายงานต่อเนื่อง ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องรับวัคซีน แม้ติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงก็มีโอกาสเกิด ภาวะลองโควิด หรือ ภาวะ MIS-C (มิสซี)
เร่งฉีดวัคซีนเด็กเล็ก เด็กโต ก่อนเปิดเรียน
ขณะที่ในกลุ่ม 5-11 ปี กว่า 5 ล้านราย ฉีดเข็ม 1 สะสม 53.6% และ เข็ม 2 สะสม 14.2% อัตราการฉีดยังน้อย เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคก่อนเปิดเทอม ดังนั้น ขอความร่วมมือโรงเรียน สถานศึกษา ให้เปิดเรียนออนไซต์ให้ได้มากที่สุด ภายใต้มาตรการ Thai Stop COVID 2 Plus
"สำหรับ ในโรงเรียนที่ให้นักเรียนตรวจ ATK ก่อนไปเรียน ไม่ได้เป็นข้อบังคับจาก กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด ควรมีการประเมินอาการ ตรวจ ATK ต่อเมื่อเด็กไปโรงเรียนมีอาการทางเดินหายใจ หากมีอาการ สงสัย ตรวจ ATK ที่บ้าน หากเป็นบวก รักษาที่บ้านหรือ รพ. ไม่ต้องไป โรงเรียน ไม่จำเป็นต้อง ATK ก่อนไปโรงเรียนทุกสัปดาห์หรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ที่เน้นย้ำคือการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ในเด็กเล็ก เด็กโต"
พญ.สุมนี กล่าวต่อไปว่า สำหรับเด็กโต 12-17 ปี ตอนนี้ควรได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด เด็กเล็กต้องฉีดครบโดสโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ฉีดในกลุ่ม 5-11 ปี ไปแล้ว 2.7 ล้านโดส ยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ ตอนนี้สำหรับสูตรที่ฉีดในเด็กเล็ก 5-11 ปี หลักๆ มี 2 สูตร ได้แก่
- ซิโนแวค + ไฟเซอร์ ห่างกัน 1 เดือน
- ไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ (ฝาส้ม) ห่างกัน 2 เดือน
ขอความร่วมมือผู้ปกครองพาบุตรหลานพาเด็กมาฉีดวัคซีนก่อนเปิดเทอมด้วย
ไทย ฉีดวัคซีนเข็ม 3 สะสม 37.9%
จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 4 พ.ค. 2565) รวม 134,175,785 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 56,343,422 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 51,447,253 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 26,385,110 ราย
ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 4 พฤษภาคม 2565
ยอดฉีดทั่วประเทศ 144,809 โดส
- เข็มที่ 1 : 17,808 ราย
- เข็มที่ 2 : 47,584 ราย
- เข็มที่ 3 : 79,417 ราย
“ภาพรวมการฉีดวัคซีนทั้งหมด 134 ล้านโดส ตั้งแต่ เริ่มฉีด 28 ก.พ. 64 เป็นเข็มที่ 1 คิดเป็น 81% เข็ม 2 คิดเป็น 74% และ เข็ม 3 คิดเป็น 37.9% ขณะที่ กลุ่มเสี่ยงเป้าหมายหลัก 60 ปีขึ้นไป กว่า 12 กว่าล้านราย ได้รับเข็มกระตุ้นที่ 3 จำนวน 41.7% ทั้งนี้ ขอให้บุตรหลานพาผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเพิ่มขึ้น เป้าหมาย คือ การได้รับเข็มกระตุ้น 60% ขึ้นไป” พญ.สุมนี กล่าว
ไทยติดเชื้อโควิด-19 ลดลง
สถานการณ์โควิด-19 ในไทย เป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลง โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,790 ราย รายงานจากการตรวจ ATK 8,728 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จาก PCR และ ATK ลดลง อย่างเห็นได้ชัด ผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ 101,281 ราย กว่า 70,054 คนอยู่ใน รพ.สนามหรือแยกกักรักษาที่บ้าน และ 31,227 ราย อยู่ใน รพ. ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,638 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 776 ราย การแอดมิท ในรพ. น้อยลง อัตราครองเตียงระดับ 2-3 เหลือ 20.1%
จับตา อุดรธานี ขอนแก่น อาการหนักใน รพ. เพิ่ม
หากดูแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อ และ อาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ ทิศทางลดลงต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าหมื่น ทำให้ผู้ป่วยหนักใน รพ. ลดลง ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษา ใน รพ. 10 อันดับแรก พบว่า จำนวนทรงๆ และน้อยลง ยกเว้น อุดรธานี 56 ราย และ ขอนแก่น 51 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้น ขณะที่จังหวัดอื่นมีทิศทางลดลงเรื่อยๆ
เสียชีวิต 61% ไม่ได้รับวัคซีน-ได้รับไม่ครบ
สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 54 ราย กว่า 98% เป็นกลุ่มสูงวัย 60 ปีขึ้นไป และ โรคเรื้อรัง โดยโรคเรื้อรังที่พบมาก คือ ไตวายเรื้อรัง 14 ราย อ้วน 7 ราย หลอดเลือดสมอง 7 ราย หลอดเลือดหัวใจ 5 ราย ติดเตียง 6 ราย การรายงานเสียชีวิตจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คือ 19 ราย ขณะที่กว่า 61% ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับเพียง 1 เข็ม และ อีก 30% ได้รับ 2 เข็ม และที่เหลือได้รับวัคซีน 3 เข็ม
ยกเลิก Test & Go ระบบการอนุมัติเร็วขึ้น
พญ.สุมนี กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ผ่อนคลายมาตรการการเข้าราชอาณาจักร มีการรายงานในที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก ถึงนักเดินทางที่เข้ามาในระบบ Thailand pass วันที่ 29 เม.ย. – 4 พ.ค. 65 พบว่า มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 213,958 ราย ได้รับอนุมัติ 202,878 ราย คิดเป็น 94.8% ไม่ผ่านการอนุมัติ 3,456 ราย รอพิจารณาโดย AI จำนวน 0 คน และ โดยผู้ตรวจ 7,624 ราย
จะเห็นว่าการอนุมัติเป็นสัดส่วนกว่า 94.8% ซึ่งมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ในการพิจารณาระบบ Thailand pass จะมี 2 เรื่อง คือ ใบรับรองวัคซีน และ กรมธรรม์ประกันชีวิต ดังนั้น การพิจารณาสองเรื่องนี้ ทาง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สำนักนายกรัฐมนตรี มีความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค ในการตรวจ ใบรับรองวัคซีนผ่านระบบ AI เมื่อยื่นเป็นคิวอาร์โค้ดเข้ามา สามารถตรวจสอบได้อย่างเรียลไทม์
"แต่หากยื่นเป็นเอกสาร ต้องถูกพิจารณาโดยเจ้าหน้าที่ด่านกรมควบคุมโรค ที่สนามบิน ใช้เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมงในการอนุมัติ ดังนั้น การยกเลิก Test & Go ราบรื่นดีไม่มีความล่าช้าแต่อย่างใด" พญ.สุมนี กล่าวทิ้งท้าย