ส่องตลาด "กระต่าย" สัตว์เลี้ยงยอดนิยม อยากเลี้ยง ต้องรู้อะไร
ตลาดสัตว์เลี้ยงเรียกว่าเติบโตมากโดยเฉพาะในช่วง "โควิด-19" สัตว์เล็ก ที่สามารถเลี้ยงสถานที่ขนาดเล็ก เช่น คอนโด ห้องพัก ถือว่าติด Top 5 สัตว์เลี้ยงยอดนิยม ขณะเดียวกัน "กระต่าย" เป็นหนึ่งในสัตว์เล็กที่หลายคนให้ความสนใจ และยังสามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้อีกด้วย
ในยุคปัจจุบันหลังจากผ่านช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2020 ผู้คนมีการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเทรนด์สำคัญที่กำลังมาแรง แนวคิดการเลี้ยงสัตว์ค่อยๆเปลี่ยนแปลง สัตว์เลี้ยง กลายเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ทั้ง สัตว์เลี้ยงสุดฮิตอย่างสุนัขและแมว ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ทั้ง นก ปลา กระต่าย สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ฟันแทะ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เรียกว่าเม็ดเงินในตลาดสัตว์เลี้ยงสะพัดมากขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด-19
ข้อมูลจาก สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง หรือ TPIA พบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง ในปี 2564 เติบโตกว่าปี 2563 ประมาณ 6% ซึ่งส่งเสริมให้มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงทั้งระบบกว่า 4 หมื่นล้านนั้น เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยส่งผลกระทบต่อตลาด คือ โควิด-19 ช่วงกลางปีที่มีการล็อกดาวน์ โดยตลาดในกลุ่มอาหารสุนัข มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดทั้งในด้านรายได้และขนาดการใช้จ่าย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์ราคาแพงเพิ่มสูงขึ้น
โดยในปี 2565 คาดว่าตลาดยังมีอัตราการเติบโต 8-10 % จากการคลายความกังวลของโควิด และแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเลี้ยงแบบลักษณะความเป็นเจ้าของ กลายเป็นการเลี้ยงแบบความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว
สัตว์เล็ก ติด Top 5 สัตว์เลี้ยงยอดนิยม
สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมเลี้ยง ได้แก่
อันดับ 1 แมว
อันดับ 2 Small Animal ที่สามารถเลี้ยงสถานที่ขนาดเล็ก เช่น คอนโด ห้องพัก ได้และไม่เป็นภาระมากไปในการดูแลนั่นเอง
อันดับ 3 สุนัข
อันดับ 4 ปลา
อันดับ 5 นก
จะเห็นได้ว่า การเติบโตของตลาดสัตว์เล็กเรียกว่าขึ้นไปอยู่อันดับต้นๆ เพราะความน่ารักไซส์เล็กที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันที่คนมองหาเพื่อนในบ้านที่ไม่ใช้พื้นที่เยอะ ไม่ส่งเสียงดัง และเป็นมิตรเช่น กระต่าย ชินชิลล่า หนูเควี่ เป็นต้น
"กระต่าย" หนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยม
บาส - วุฒิชัย ทองนพเก้า วัย 42 ปี หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการฟาร์มกระต่ายรายแรกๆ ของประเทศ ที่มุ่งมั่นศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายในประเทศมาอย่างยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการการเลี้ยงกระต่ายให้เกิดขึ้นมากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “เรายืดหยัดให้เกิดสิ่งดีที่สุด” (We Stand for Excellence) เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาสนใจการเลี้ยงกระต่ายว่า KB Rabbit range เกิดจากอดีตคนรักสัตว์ที่ผ่านการเลี้ยงสัตว์มาแทบทุกประเภท
โดยเริ่มเพาะกระต่ายเองครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2000 และได้รับโอกาสเข้าไปช่วยงานที่ฟาร์มกระต่ายจากรุ่นพี่ที่สนิทได้ระยะหนึ่งจนได้รับความไว้วางใจและการยอมรับให้มาช่วยดูแลกิจการต่อ ซึ่งตอนนั้นฟาร์มกระต่ายแห่งนี้ตั้งอยู่ที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ตลาดกลางคืนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาสวนลุมไนท์บาซาร์ต้องปิดตัวลง ทำให้ต้องมองหาทำเลที่ตั้งแห่งใหม่ และย้ายหน้าร้าน พร้อมฟาร์มกระต่ายไปยังตลาดนัดสวนจตุจักรจนถึงทุกวันนี้
“ช่วงแรกเรายังดูไม่ออกว่ากระต่ายแบบไหนสวยไม่สวย ดูหลักๆ แค่สี ก็พยายามทดลองผสมเพื่อให้ได้สีที่ต้องการ ถามคนนั้นคนนี้ไปเรื่อย เพราะสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือให้อ่าน หลังจากเราศึกษาข้อมูลไปเรื่อยๆ จึงพบว่าสายพันธุ์กระต่ายมีเยอะมาก เหมือนสายพันธุ์สุนัข แต่ละสายพันธุ์เองก็มีนิสัยต่างกัน ที่เซอร์ไพรส์เราที่สุด คงเป็นสายพันธุ์กระต่ายยักษ์” คุณบาส กล่าว
ข้อได้เปรียบของ "กระต่าย"
สำหรับผู้เลี้ยงที่มองหาสัตว์ตัวเล็กไม่ส่งเสียง ใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องใช้เวลากับมันเยอะ สามารถปรับตัวเข้ากับเรา เล่นด้วยได้เมื่อคุ้นเคยและฝึกได้ กระต่าย ดูเหมือนจะเป็นคำตอบในใจของทุกคน
สำหรับมือใหม่ที่อยากเลี้ยงกระต่าย หรือสัตว์ฟันแทะ อย่าคิดเลี้ยงเหมือนสุนัข อย่าเลี้ยงแทนแมว หากคิดเลี้ยง ควรศึกษาลักษณะสายพันธุ์ และวิธีเลี้ยงที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องอาหาร ควรเลี่ยงผักและผลไม้สด เพราะเนื่องจากอากาศของบ้านเรา จะทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี เสี่ยงต่อโรคท้องร่วงในกระต่ายและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กระต่ายเสียชีวิต
อยากทำฟาร์มกระต่ายต้องรู้อะไร
สำหรับคนที่อยากผันตัวมาทำฟาร์ม คุณบาส เน้นย้ำว่าการเพาะพันธุ์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การหมั่นหาความรู้ และเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับความรู้แบบเดิมๆ เป็นสิ่งแรกที่คนทำฟาร์มต้องทำ และค่อยๆ ศึกษาสถานที่เลี้ยง และการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ตามมา ตลอดจนหมั่นสะสมประสบการณ์และแสวงหาความรู้ต่อยอดต่อไป
คุณบาส เล่าต่อไปว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ ช่วงที่ได้ไปช่วยจัดงานประกวดกระต่ายครั้งแรกในประเทศไทย ปี 2004 ที่งาน Pet Expo ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งได้สัมผัสประสบการณ์จากการช่วยงานนายกสมาคมผู้เพาะพันธุ์กระต่ายอเมริกัน (ARBA: American Rabbit Breeders Association) ณ ขณะนั้น
“งานนั้นงานเดียว เหมือนเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่ออาชีพไปโดยสิ้นเชิง”
ต่อมาในปี 2011 มีโอกาสได้เดินทางเข้าร่วมงานประกวดกระต่ายที่สหรัฐอเมริกา ที่นั้นมีการทำฟาร์มกระต่ายที่จริงจังมาก งานประกวดครั้งหนึ่ง มีกระต่ายมาโชว์ที่งานกว่าสองหมื่นตัว มีฟาร์มกระต่ายและผู้เลี้ยงกระต่ายเข้าร่วมจากทั่วทุกมุมโลก มีสินค้าและบริการครบวงจรพร้อมให้บริการ โดยสมาคมผู้เพาะพันธุ์กระต่ายอเมริกัน (ARBA) เป็นผู้จัดงาน และคอยทำหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจการเพาะพันธุ์กระต่ายทุกสายพันธุ์
รวมทั้งแนะนำวิธีการเลี้ยงกระต่ายให้กับผู้เลี้ยงกระต่ายทุกระดับ ตั้งแต่มือสมัครเล่นไปจนถึงฟาร์ม มีการพัฒนาอาชีพเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับกระต่าย ทั้งอาชีพผู้ขึ้นทะเบียนกระต่าย กรรมการตัดสินกระต่าย บริษัทให้บริการรับ-ขนส่งกระต่ายไปทั่วโลก คลินิกตรวจสุขภาพกระต่าย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
“กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เด็กทุกคนล้วนคุ้นเคย บางคนเคยเลี้ยง และคิดว่าเป็นสัตว์ที่บอบบาง แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่า บ้านเรายังขาดความเข้าใจในการเลี้ยงดูกระต่ายเท่าที่ควร”
จากนั้นเป็นต้นมา คุณบาส ค่อยๆ ซึมซับแนวคิดและต้องการผลักดันตลาดบ้านเราให้เทียบเท่าต่างประเทศ เพราะคิดว่าบ้านเราเองก็มีศักยภาพ สามารถทำได้ โดยมีเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งจะพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายที่เกิดในไทย และสามารถชนะการประกวดที่ต่างประเทศได้สักครั้งหนึ่ง
แสวงหาความรู้
หลังจากกลับจากงานประกวดครั้งนั้น คุณบาส ตัดสินใจวางเป้าหมายจะพัฒนาวงการฟาร์มกระต่ายบ้านเรา เริ่มต้นโดยการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ สี ยีนส์เด่น ยีนส์ด้อย เก็บประสบการณ์ตรงจากการทำฟาร์มเอง หาหนังสือมาอ่าน จนสามารถสอบผ่านเป็นผู้ขึ้นทะเบียนกระต่ายที่รับรองโดยสมาคม ARBA
นอกจาก กระต่ายแล้ว คุณบาส ยังสอบผ่านและเป็นผู้ขึ้นทะเบียนหนูเควี่ได้อีกเช่นกัน ซึ่งถือเป็นคนแรกและคนเดียวในเอเชียที่ได้รับการยอมรับจากสมาคม ARBA อย่างเป็นทางการ โดยระหว่างนี้ อยู่ในขั้นตอนการสอบเป็นกรรมการผู้ตัดสินของสมาคม ซึ่งกำหนดการสอบไว้ในปี 2020 แต่เป็นเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องล่าช้าออกไป
“เราอยากเห็นวงการกระต่ายบ้านเราทัดเทียมกับบ้านเค้า กระต่ายบ้านเราจริงๆ สวยนะ แข่งขันได้เลย แต่ยังไปไม่ถึง ด้วยหลายๆ สาเหตุ อย่างแรกที่ติดเลย คือ เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าบ้านเราไม่กำจัดโรคพิษสุนัขอย่างเป็นจริงเป็นจัง เราก็ส่งไปตลาดฝั่งอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่นลำบากเลย บ้านเค้าซีเรียสเรื่องนี้”
“ก่อนหน้านี้เคยมีช่วงที่รัฐบาลจริงจังกับการจัดการเรื่องนี้นะ แต่ตอนนี้หายไปแล้ว ตอนนั้นเราหวังจริงๆ ถ้าทำได้ เราอยากลองเอากระต่ายไปลงประกวดด้วยสักครั้ง ถึงแม้เราจะเสียเปรียบเรื่องการขนส่งเดินทางก็ตาม”
กระต่ายไทย เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ
สำหรับเขา ฟาร์มกระต่าย KB Rabbit Range มีส่งออกไปตามประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าให้พูดจริงๆ ตลาดฟาร์มกระต่ายบ้านเราถือเป็นที่ยอมรับในแถบนี้ และแนวโน้มคนเลี้ยงสัตว์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเวียดนามที่กำลังโต ผู้คนชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้มีหลายเจ้าที่มาติดต่อให้ส่งกระต่ายให้ แต่จำนวนไม่พอ ยิ่งกระต่ายเกรดประกวด ความต้องการยิ่งมีสูงมาก มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ขาดตลาดอยู่เป็นประจำ เพราะยิ่งสวย ยิ่งเพาะยาก
ต่อยอดสู่การเพาะพันธุ์ชินชิลล่า
เนื่องจากดำเนินธุรกิจอยู่ในวงการฟาร์มกระต่ายมาเป็นเวลานาน ทำให้มีประสบการณ์วนเวียนอยู่กับเหล่าบรรดาสัตว์ฟันแทะ จนตอนนี้ที่ฟาร์มได้นำเอาชินชิลล่า สัตว์ฟันแทะที่มีขนนุ่มที่สุดในโลกเข้ามาเพาะพันธุ์เพิ่มเติม เป็นการขยายฐานลูกค้าออกไป เพราะนอกเหนือจากกระต่าย หนูเควี่แล้ว ชินชิลล่าก็เป็นสัตว์เลี้ยงอีกประเภทหนึ่งที่มีวิธีการเลี้ยงดู การเพาะพันธุ์ การดูแลรักษาใกล้เคียงกับกระต่ายอีกด้วย
“เริ่มแรกเรานำเข้าชินชิลล่ามาเพื่อลองเลี้ยงและเพาะเอง เพราะความชอบอย่างเดียวเลย ตอนแรกเราลังเลว่าจะเอาเข้ามาดีมั้ย เพราะโดยธรรมชาติ ชินชิลล่าอยู่ในที่ๆ อากาศเย็น แล้วบ้านเราอากาศร้อนมาก ถ้าคนอยากเลี้ยง ก็ต้องเปิดแอร์ให้”
“สุดท้าย เราก็ตัดสินใจนำเข้ามา และเริ่มต้นเพาะพันธุ์เอง ใช้พื้นฐานความรู้จากที่ทำฟาร์มกระต่าย แล้วเราก็เพาะได้เองจริงๆ ซึ่งลูกที่เกิดในไทย เค้าก็จะปรับตัวตามสภาพอากาศบ้านเราไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ยังไงก็ยังต้องเลี้ยงในห้องแอร์อยู่”
จากที่เริ่มต้นเพียงเพราะความชอบ กลับนำไปสู่ความต้องการที่จะพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับกระต่าย เพราะที่ต่างประเทศ ก็มีสมาคมผู้เพาะพันธุ์ชินชิลล่าเช่นกัน ได้แก่ Mutation Chinchilla Breeders Association หรือ MCBA ทำหน้าที่พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับชินชิลล่า ตั้งแต่การเลี้ยงดู การผสมพันธุ์ เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับชินชิลล่าทั่วโลก
“เราไม่ได้จำกัดตัวเองว่าต้องทำฟาร์มกระต่ายอย่างเดียว แต่เราค่อยๆ ขับเคลื่อนวงการสัตว์เล็ก สัตว์ฟันแทะ ให้มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค”
เขากล่าวย้ำอีกว่าหากขึ้นทะเบียนเป็นกรรมการผู้ตัดสินงานประกวดกระต่ายและหนูเควี่โดย ARBA ได้สำเร็จ เป้าหมายถัดไป คือ เส้นทางของวงการชินชิลล่าอีกด้วย
คิดค้น พัฒนา ฟาร์มให้ได้มาตรฐาน
คุณบาส เล่าต่อไปว่า ตลอดเส้นทางที่พัฒนาและศึกษาอยู่ในวงการนี้ ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมายมาตลอดทุกยุคทุกสมัยตลอดระยะเวลา 20 ปี ทั้งเรื่องโรคระบาดในสัตว์เลี้ยง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สงครามการค้า ซึ่งความมุ่งมั่นพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีและให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพสินค้า ตลอดจนคอยให้คำแนะนำแก่ผู้เลี้ยงทุกระดับ ทำให้ KB Rabbit Range ฝ่าฟันทุกสภาวะและยังคงอยู่ในตลาดจนถึงทุกวันนี้
“ด้วยความที่เราตั้งเป้าไว้ว่าสักวันหนึ่งอยากจะนำกระต่ายที่เพาะเลี้ยงเองออกไปประกวดในต่างประเทศให้ได้สักครั้ง ทำให้เราลองทำทุกทาง ทุกวิธีจริงๆ ตั้งแต่เรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์ การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย อาหาร น้ำ อากาศ เรียกว่าทำทุกอย่างที่จะทำได้หมด”
"เรามุ่งมั่นพัฒนาฟาร์มสัตว์เลี้ยงให้สมบูรณ์ที่สุด โดยมีการพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้ในฟาร์มของตัวเอง ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปีและกระจายไปยังพันธมิตรต่างๆ ซึ่งมีทั้งอาหารกระต่ายและอาหารชินชิลล่า รวมทั้งแสวงหาแหล่งปลูกหญ้า และคัดคุณภาพด้วยตัวเอง เพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์เลี้ยงในฟาร์มจะได้รับแต่ของดี มีคุณภาพสูง"
"นอกจากนี้ ยังศึกษาและทดลองค้นหาวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของไทย หลังจากได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มต่างประเทศหลายแห่ง และลองผิดลองถูก จนเจอวิธีที่เหมาะที่สุด นั้นคือการเลี้ยงโดยใช้วัสดุรองกรง ในห้องแอร์แบบระบบปิด และมีการถ่ายเทอากาศที่ไหลเวียนอยู่เสมอ"
“ผู้เลี้ยงบ้านเราส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการเลี้ยงโดยใช้วัสดุรองกรง เพราะมองว่ายุ่งยากและสิ้นเปลือง แต่หากไม่เป็นภาระจนเกินไป การเลี้ยงแบบมีวัสดุรองกรง จะช่วยในเรื่องสุขภาพและระบบหายใจของสัตว์เลี้ยงได้ดีกว่า ยิ่งถ้าเป็นฟาร์มกระต่ายด้วยกัน เราจะแนะนำให้ใช้วัสดุรองกรงมากกว่า ถ้าติดขัดจริงๆ เราจะย้ำให้ดูแลเรื่องการถ่ายเทของอากาศในบริเวณที่เลี้ยงอย่างจริงจัง เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในระยะยาว”
“ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากให้ฟาร์มเลี้ยงในห้องแอร์ระบบปิด เพราะเดี๋ยวนี้อุณหภูมิบ้านเราร้อนขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงฤดูร้อน มีโอกาสสูงมากที่สัตว์เลี้ยงจะเกิดภาวะ Heat Stroke ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสีย”
ส่งต่อประสบการณ์
คุณบาส กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญ คือ การที่เราคอยให้คำปรึกษาให้กับลูกค้ามาโดยตลอด โดยให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยง ทั้งกระต่าย ชินชิลล่า ตั้งแต่การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สำหรับการผสม อาหารการกิน สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู ทำให้เมื่อลูกค้าตัดสินใจรับไปเลี้ยงดู เขาเหล่านั้นจะไม่เป็นกังวลในเรื่องสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงจากฟาร์ม ทำให้ใช้เวลาร่วมกับสมาชิกใหม่ของครอบครัวได้เต็มที่
“เราเข้าใจความรู้สึกของคนที่เพิ่งรับเลี้ยงสัตว์เข้ามาใหม่ ประสบการณ์แรกที่ได้รับต้องสร้างความประทับใจ เพราะเมื่อเลี้ยงไปนานๆ ย่อมเกิดความผูกพัน หากสัตว์เลี้ยงของเขาเกิดอะไรขึ้น หรือมีปัญหาตามมาภายหลัง ย่อมสร้างปัญหาหรืออาจเกิดปมในใจ จนไม่กล้าเลี้ยงสัตว์เลยก็เป็นได้ เราจึงพยายามพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีและแข็งแรง เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา”
ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่าที่ติดตามกันมานาน บางคนจากเลี้ยงเล่นๆ ก็ผันตัวเองกลายมาเป็นฟาร์ม กลายมาเป็นพันธมิตรทางการค้าของ KB Rabbit Range เรียกว่า เป็นการทำการตลาดด้วยการให้ความรู้จากประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน และไม่หยุดตัวเองในการพัฒนาวงการสัตว์เล็กเพื่อยกระดับการแข่งขันของคนไทย โดยวางแผนที่จะไปงานประกวดที่อเมริกา ยิ่งมีฟาร์มมากขึ้นเท่าไหร่ แต่ละฟาร์มจะพยายามเพาะพันธุ์ให้ลักษณะกระต่ายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นเสน่ห์ของการเพาะพันธุ์
ออกสู่ต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้คนมีเวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากการล๊อคดาวน์ คุณบาส มองว่า นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการอยู่ในตลาดของเขา เมื่อลูกกระต่ายจากฟาร์มถูกจองหมด และยอดจองยาวนานไปจนถึงสิ้นปี ดังนั้น การต่อยอดของ คือ การส่งต่อความรู้ให้กับผู้ที่สนใจที่จะเพาะพันธุ์กระต่ายเพื่อให้ตลาดในภาพรวมมีการแข่งขันที่ดีขึ้น
"สัตว์เลี้ยงในประเทศแถบเพื่อนบ้านเรายังมีความต้องการอยู่สูง ยิ่งมีผู้เล่นเยอะ ตลาดยิ่งคึกคัก และสุดท้ายวงการสัตว์เลี้ยงบ้านเราก็จะยิ่งพัฒนา ดังนั้น การเก็บความรู้ไว้กับตัว มีแต่จะยิ่งทำให้องค์ความรู้ที่มีไม่พัฒนา และสุดท้ายตลาดก็จะซบเซาลงในที่สุด ดังนั้น จึงริเริ่มการจัดการสัมมนากระต่ายในประเทศ โดยเชิญผู้ตัดสินกระต่ายจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อมาให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ"
"สำหรับผู้ที่เพาะพันธุ์กระต่ายอยู่แล้วก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำกระต่ายของตัวเองเพาะมาเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ โดยงานสัมมนากระต่ายจะจัดขึ้นที่วันที่ 7-8 พฤษภาคม 2565 ณ งาน Pet expo ไบเทคบางนา ฮอล 103-104 รวมถึง ยินดีอย่างยิ่ง หากผู้ที่สนใจอยากติดต่อเพื่อสอบถาม หรือแลกเปลี่ยนพูดคุย ไม่ว่าจะเริ่มจากการเลี้ยงเล่น หรือจะพัฒนาต่อยอดหาอาชีพใหม่ให้กับตัวเอง เพื่อพัฒนาวงการนี้ไปด้วยกัน" คุณบาส กล่าวทิ้งท้าย