เช็กขั้นตอน “ปลูกกัญชาถูกกฎหมาย” 9 มิ.ย. นี้
“อนุทิน”ยัน 9 มิ.ย.นี้ ปลูกกัญชาได้ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ร่างพรบ.กัญชา กัญชงส่อออกไม่ทัน อย.เตรียมเปิดแอปฯ “ปลูกกัญ” กลไกใช้จดแจ้ง ไม่ต้องขออนุญาตสำหรับคนต้องการปลูก ย้ำผลิตภัณฑ์ต้องขออนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ กัญชานำเข้ายังผิดกฎหมายทั้งหมด
จากกรณีที่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย.2565 ซึ่งจะมีผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ที่ปลูกภายในประเทศ ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2 % ยังเป็นยาเสพติด ขณะเดียวกันมีการเสนอร่างพรบ.กัญชา กัญชงเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯเพื่อใช้เป็นกฎหมายควบคุมการนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2565เป็นต้นไป ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ถูกกฎหมาย หลังจากที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ เพราะกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าร่างพรบ.กัญชา กัญชงที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย(ภท.) จะออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย.นี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ทันแน่นอน จึงเป็นเหตุผลที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เพื่อไปบอกว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ กัญชาเสรีต้องใช้อย่างไรถึงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้นคนที่ใช้ผิด คือ คนที่ตั้งใจจะใช้ผิด ก็จะต้องมาดูเรื่องกฎหมายสาธารณสุขมาดูแลต่อไป ย้ำว่าทำนโยบายนี้มาเพื่อให้คนได้ใช้ประโยชน์ของกัญชา ไม่ใช่ใช้ส่วนที่เป็นโทษ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ถามต่อว่าแล้วจะมีกลไกอะไรมาควบคุมกำกับกรณีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องให้ความเข้าใจ ย้ำว่านโยบายกัญชาคือกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น ถ้าคนบริโภคในอัตราที่เหมาะสม ก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าขาดความเข้าใจแล้วไปใช้ทางที่ผิดแล้วหวังว่าจะออกฤทธิ์ทำให้สุขภาพดีขึ้นไม่มีทาง มีแต่โทษ ต้องเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนเข้าใจเพียงแต่จะทำหรือไม่ทำ
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแม้ ร่างพรบ.กัญชา กัญชง จะออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย.2565 ประชาชนก็สามารถปลูกกัญชาได้ถูกกฎหมายใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว ไม่ต่างอะไรจากต้นพริกขี้หนูถ้าไม่สนใจแล้วไปเอามากินครั้งเดียวหลายๆเม็ด ก็อันตรายได้ แต่ถ้าใช้เพื่อประโยชน์ เพิ่มเติมรสชาติของอาหาร หรืออะไรก็แล้วก็จะเป็นประโยชน์ กัญชาก็ฉันใดฉันนั้น ซึ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ กัญชาเสรีทางการแพทย์เสมอ เพราะฉะนั้น อธิบายด้วยตัวมันเอง ส่วนการใช้ที่ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ และอาจจะผิดกฎหมายด้านสาธารณสุขด้วย
ถามถึงข้อเสนอนักวิชาการกรณีควรมีการเพิ่มกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชาในร่างพรบ.กัญชา กัญชงที่ภท.เสนอด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการจะพิจารณา ซึ่งตอนนี้ร่างพรบ.ผ่านครม. ผ่านความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี อยู่ในการบรรจุในวาระการประชุมรัฐสภา ซึ่งสภาเปิดวันที่ 22 พ.ค.2565 ก็ต้องมีการบรรจุเข้าไปตามขั้นตอน ตอนนี้ผ่านมือสธ. ผ่านมือรัฐบาลไปแล้ว อยู่ที่การพิจารณาของสภา
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า สำหรับกัญชา กัญชง เรามองว่าเป็นพืชสมุนไพร ที่ใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ การแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงจะนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ คือการปลูก กลางน้ำ คือการสกัดออกมาเป็นสาร THC และ CBD และปลายน้ำ คือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2565 มีการอนุมัติผลิตภัณฑ์ไปแล้วเกือบ 1 พันรายการ ทั้งยาสมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม และจะมีการอนุมัติเพิ่มเติมขึ้น อย่างไรก็ตาม หลักการใช้กัญชาเพื่อการส่งเสริมใช้ในการแพทย์ แต่ยังมีข้อกำหนดไม่ให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์ หรือเด็ก รวมถึงการควบคุมโฆษณา ซึ่งจะมีโทษตามกฎหมายผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น พรบ.ยา พรบ.อาหาร พรบ.เครื่องสำอาง
“ในเรื่องการปลูกนั้น ผู้ที่ต้องการปลูกสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยสามารถจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น ที่ชื่อว่า ปลูกกัญ โดยอย.เตรียมจะนำมาใช้ในการจดแจ้งการปลูกกัญชาสำหรับประชาชนทั่วไปและการขอนุญาตปลูกในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้พืชสมุนไพรที่เหมาะสม” นพ.ไพศาลกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากร่าง พรบ.กัญชา กัญชง พิจารณาออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย.นี้ จะส่งผลต่อการนำไปใช้ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น เพราะประชาชนรับทราบ และมี mindset ในเรื่องการเป็นยาเสพติดกับสิ่งที่จะไปใช้ประโยชน์ได้ดี นึกถึงเรื่องใช้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือสินค้าที่ทำจากกัญชา กัญชงอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า โดยประชาชนมีความตื่นตัว แต่ขอย้ำว่า สารสกัดที่มีปริมาณ THC มากกว่า 0.2% ยังเป็นยาเสพติดอยู่ และการนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศก็ทำไม่ได้ เรื่องนี้มีการระบุในประกาศชื่อยาเสพติดให้โทษอย่างชัดเจน ว่าต้องเป็นการปลูกในประเทศ แม้แต่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ก็มีข้อมูลชัดเจนว่าต้องมาจากกัญชาที่ปลูกในประเทศ เพราะฉะนั้น การนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศทั้งหมดทำไม่ได้ ยังผิดกฎหมาย
ถามต่อว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุญาตจาก อย. มีปริมาณ THC สูงกว่า 0.2% หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ก่อนได้รับอนุญาตจะมีการตรวจวิเคราะห์ โดยมีข้อกำหนดว่าต้องมีปริมาณเท่าไหร่ต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่ถ้าเกิน 0.2% จะนำไปใช้จะต้องขออนุญาต เช่น ยาสูตรเข้ากัญชา ต่างๆ อย่างสูตรเมตตาโอสถ ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็จะมีปริมาณ THC สูงมาก แต่เป็นการนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็ใช้ได้
ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า จะมีการควบคุมโฆษณาอย่างไร เพราะตอนนี้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาผ่านสื่อต่างๆอย่างมาก นพ.ไพศาล กล่าวว่า มีการควบคุมการโฆษณาตามพรบ.ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างยา อาหารและสมุนไพรจะต้องขออนุญาตจากอย.ก่อน แต่เครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาตก่อนโฆษณา แต่จะต้องไม่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง