3 เรื่องด่วน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ดันไทยสู่เป้า "Net Zero" ปี 2065
ภาพรวมทั่วโลก ไทยปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" 0.8% แต่กลับเป็น 1 ใน 10 อันดับต้นของโลก ที่ได้รับผลกระทบจาก "การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ" หากไม่เร่งแก้ปัญหา ไทยอาจจะต้องเผชิญกับท้าทายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ไปพร้อมๆ กัน
ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% ของภาพรวมทั้งหมดทั่วโลก แต่กลับเป็น 1 ใน 10 อันดับต้นๆ ของโลก ที่ได้รับผลกระทบจาก "การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ" อีกทั้ง แต่ละปีประชากรโลกกว่า 9-10 ล้านคน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ ไม่รวมโรคภัยไข้เจ็บจากสารเคมีทางการเกษตร หรือขยะพลาสติก ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (20 พ.ค. 65) “วราวุธ ศิลปะอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในช่วงเสวนาหัวข้อ สิ่งแวดล้อมยุคใหม่เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ ในงาน “Better Thailand Open Dialogue : ถามมา-ตอบไปเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” โดยเผยมุมมองสถานการณ์สิ่งแวดล้อมช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานอย่างหนักหน่วง ขณะที่ ทส. เองได้ประสานงานกับทุกหน่วยงาน ในการแก้ไขปัญหา
หากมอง 3 เรื่องสำคัญ คือ อากาศ น้ำเสีย และขยะ วันนี้มลภาวะ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ จะเห็นว่าขณะนี้ อยู่ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คุณภาพอากาศเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดในหลายเวที
เร่งแก้ปัญหา สภาพอากาศ
ที่ผ่านมา ปัญหามลภาวะของไทยดีขึ้นจาก ปี 2562 -2565 ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จุดความร้อนภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลง 70% หลายคนมองว่าฟ้าฝนมาช่วย แต่อีกส่วนคือทุกหน่วยงานรวมถึงประชาชน ให้ความร่วมมือไม่เผา PM2.5 ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในกทม. รายงานสถานการณ์อากาศใน กทม. วันนี้อยู่ในเกณฑ์ดี จากการที่มีมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 7 วัน และประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยา ในการแจ้งเตือนประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝนตก และฝุ่นละออง
"ฝุ่น 2.5 อย่ามองในวันต่อวัน การประเมินต้องประเมินค่า 24 ชม. 7 วัน 1 เดือน และเทียบกันปีต่อปี ว่าปริมาณวันที่เกินอยู่เท่าไหร่ ตอนนี้ปริมาณต่อวันลดลงไปราว 20% และปริมาณ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานลดลง 12% ดังนั้น มลภาวะทางอากาศ เป็นปัจจัยที่รัฐให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหา"
น้ำเสียเสีย ประเด็นซับซ้อน
ปัญหาน้ำเสีย เป็นอีกปัจจัย ที่ ทส. ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจคุณภาพน้ำ พบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นห่วง เพราะช่วงโควิด-19 คุณภาพน้ำลำคลอง บริเวณชายฝั่งทะเลไทย ยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะชุมชน ขณะที่ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเงื่อนไข กำหนดคุณภาพน้ำที่จะออกมา ที่ผ่านมามีการควบคุม ยกระดับมาตรฐานการตรวจ ให้ใบอนุญาต การระบายมลพิษและการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง
"น้ำเสียเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนเพราะเวลาพูดถึงบ้านเรือนชุมชน การทำให้มีระบบบำบัดน้ำเสียค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ ซึ่งหากได้รับการร้องเรียน กรมควบคุมมลพิษ จะทำหน้าที่ไปตรวจสอบและประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง"
ลดนำเข้าขยะพลาสติก เพิ่มการีไซเคิล
สำหรับเรื่องขยะในไทย ที่ผ่านมา มีการบริหารจัดการขยะไม่เพียงพอ ปัญหา คือ ทำอย่งาไรให้ขยะที่มีนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล อัพไซเคิลได้ รมว.ทส. เผยว่า 3 ปีที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับสมาคมซาเล้ง ทราบว่าขยะรีไซเคิล มีราคาสูงขึ้นตามลำดับ รวมถึงการกำจัดเศษพลาสติกในไทย
ขณะนี้ เรื่องเศษพลาสติกที่นำเข้า ที่ผ่านมามีการนำเข้ามาผ่านตู้คอนเทนเนอร์ ทส. ให้ความสำคัญมาก และต้องขอบคุณกระทรวงพานิชย์ ที่ออกข้อห้าม ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 400 กว่ารายการ จนตอนนี้ขยะพลาสติกในประเทศ มีราคาสูงขึ้นตาม ลำดับ ทั้งหมดนี้ ผูกรวมกันเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกในไทย
สู่เป้า Net Zero ในปี 2065
รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า จากการที่นายกรัฐมนตรี แสดงเจตนารมณ์ว่าจะเดินสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 ในการประชุม COP26 หลายคนสงสัยว่าทำได้หรือไม่
"ต้องทำให้ได้ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยกำลังได้รับผลกระทบ เนื่องจาก ปี 2564 น้ำท่วมของไทยหนักหนากว่าหลายปีที่ผ่านมา กทม. เกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง เจ้าพระยาท่วมสองฝั่ง ดังนั้น การแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งสำคัญ"
ต้นไม้ มีส่วนสำคัญ ในการดูดซับคาร์บอน ประเทศไทยมีพื้นที่ 323 ล้านไร่ 31.6% เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ ตามยุทธศาสชาติ 20 ปี เราต้องมีพื้นที่สีเขียว 55% โดยในจำนวนนี้ 35% เป็นป่าธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากที่มีตอนนี้ 31.6% ในเวลา 20 ปี อีก 15% ต้องเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ และอีก 5% เป็นพื้นที่สีเขียว
การที่ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่มีการดูดซับคาร์บอน สมดุลกับการที่เราสร้างคาร์บอนในชีวิตประจำวัน เรามี 2 ภาค คือ ภาคปลดปล่อยและภาคการดูดซับ หากทั้งสองมีความสมดุลกัน จึงจะเรียกว่า ความเป็นกลางทางคาร์บอน
3 สิ่งที่ต้องสนับสนุน สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
ทั้งนี้ 3 ปัจจัยสำคัญ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนนานาประเทศ คือ เงินทุน เทคโนโลยี และสร้างศักยภาพให้คนในประเทศ เป็นสิ่งที่ทำให้ไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ หากทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างปลายปีที่ผ่านมามีน้ำท่วม หรือปลายปีนี้อาจจะเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ วงจรน้ำท่วม น้ำแล้งเกิดขึ้นหลายปี แต่ความสาหัสในแต่ละปีจะมากขึ้น
ตัวอย่าง สุพรรณบุรี เคยน้ำท่วมครั้งใหญ่ 3 ครั้ง คือ ปี 49 ปี 54 และ ปี 64 เป็นครั้งแรกที่ทั้ง 10 อำเภอในสุพรรณบุรี น้ำท่วม ทั้งนี้ ภาพรวมทั่วโลก ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% แต่เป็น 1 ใน 10 อันดับต้นของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้น การเดินหน้าต่อไป ในเรื่องการจัดการขยะ มลพิษ น้ำเสีย เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 เพราะสิ่งที่จะทำในขณะนี้ คนที่จะลงโทษเราไม่ใช่ประเทศอื่น แต่เป็นธรรมชาติที่จะลงโทษ หากทำไม่ได้
แรงบีบจากมาตรการทั่วโลก
ปัจจุบัน เทรนด์ทั่วโลกกำลังบีบรัดมาตรการต่างๆ เช่น ยุโรป มีมาตรการทางภาษี CBAM ในการกำหนดคาร์บอนฟุตพรินต์ ในสินค้า ซึ่งปัจจุบัน มี 5 กลุ่ม คือ เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย ซีเมนต์ และพลังงาน ในอนาคต หาก 5 สินค้านี้ขยายฐานไปยังการเกษตร จะยิ่งยากไปใหญ่
นอกจากยุโรปแล้ว สหรัฐ เกาหลีใต้ แคนาดา และอีกหลายประเทศ เริ่มเอามาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นมาตรการด้านภาษี ดังนั้น ภาคเอกชน ในประเทศไทย ไม่ว่าจะบริษัทเล็กและใหญ่จำเป็นอย่างยิ่งต้องพัฒนาตัวเอง เช่น แต่ก่อนปลูกป่าต้องทำเป็น ซีเอสอาร์ แต่อีกหน่อยการปลูกป่าจะไม่ใช่ซีเอสอาร์อีกต่อไป แต่เป็นเป้าหมายหลักของบริษัท เพื่อให้ธุรกิจของตนเองมีความกรีน และป้องกันการเกิดปัญหาด้านภาษีที่จะส่งออก และสังคมโดยรอบมีความสุขมากขึ้น
ผู้บริโภคจะกระทบอย่างไร
ด้าน ผู้บริโภคอาจมีคำถามว่า ต้นทุนจะสูงขึ้นหรือไม่ จะเป็นผลักภาระให้ผู้บริโภคหรือไม่ รมว.ทส. อธิบายว่า อย่างไรเสียต้นทุนก็ต้องจ่ายไม่ว่าเป็นต้นน้ำหรือปลายน้ำเพื่อรักษาโลกนี้เอาไว้ เช่น ต้นทุนการที่ได้น้ำมา 1 คิว เทียบกับ ต้นทุนการบำบัดน้ำเสียน้ำ 1 คิว ต่างกันเท่าตัว หรือ ถุงพลาสติก 1 ตัน กับต้นทุนการกำจัดถุงพลาสติก 1 ตันต่างกันหลายเท่าตัว
ดังนั้น ตอนนี้ไทยยังให้ความสำคัญ กับการได้มา แต่การกำจัดของเสียเป็นภาระที่รัฐบาลและสิ่งแวดล้อมรับไป เช่น ไมโครพลาสติกในทะเล ก็อยู่ในสัตว์ทะเล และกลับมาที่ตัวเรา หากไม่ลงทุนกับโลกใบนี้ ท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์เราเองจะต้องเป็นคนจ่ายในการดูแลบำรุงรักษาเหล่านั้นในราคาที่แพงขึ้น
อนาคต สู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ การเติบโตของประเทศที่ยั่งยืนต้องสมดุล เศรษฐกิจต้องโต สิ่งแวดล้อมต้องดีขึ้น รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า หลังจากโควิด-19 แน่นอนว่าเศรษฐกิจจะต้องโตขึ้นกว่านี้ พี่น้องคนไทยต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โควิดเป็นสิ่งที่เตือนสติเราว่า เมื่อใดที่มนุษย์ก้าวข้ามความพอดี ความบาลานซ์ระหว่างธรรมชาติ ธรรมชาติจะส่งสัญญาณ โควิดเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดที่สุด ทุกครั้งที่มีสัญญาณเตือนจะเกิดความเสียหายขึ้นทั่วโลก
ดังนั้น การที่เราจะเดินหน้าจากนี้ไปไม่ว่าจะธุรกิจ สังคม อุตสหากรรม จะต้องคำนึงถึงคำว่าความยั่งยืน การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ธรรมชาติเมื่อไม่มีมนุษย์อยู่ ช่วงล็อกดาวน์ ธรรมชาติเขาสามารถอยู่ได้อย่างสมบูรณ์และแข็งแรง แต่มนุษย์ หากไม่มีธรรมชาติเราอยู่ไม่ได้