" เลือกตั้งผู้ว่า กทม. " รอมารื้อ "ระบบสุขภาพปฐมภูมิเมืองกรุง"
"ระบบสุขภาพปฐมภูมิเมืองกรุง" เป็นหนึ่งสิ่งที่รอให้ "ผู้ว่ากทม." คนใหม่เข้ามารื้อ แต่ดูจะเป็นนโยบายที่ผู้สมัคร เลือกตั้งผู้ว่า กทม. 2565 กล่าวถึงน้อยมาก ทั้งที่การระบาดของโควิด-19 สะท้อนภาพความไม่พร้อมของระบบในการรองรับสถานการณ์อย่างชัดเจน
ระบบบริการสาธารณสุขหรือระบบสุขภาพของประเทศไทยหลักๆจะมี 3 ระดับ คือ
- ระดับปฐมภูมิ ที่จะให้บริการด้านส่งเสริมป้องกันโรค ดูแลสุขภาพ และรักษา
- ระดับทุติยภูมิ เรื่องการรักษาพยาบาลที่มากขึ้น พื้นที่กทม.มีรพ.สังกัดกทม. กรมการแพทย์ เอกชน
- ระดับตติยภูมิ ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการรักษา เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และเอกชน
ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเป็นแม่ทัพหลัก ขณะที่หน่วยบริการนั้นสังกัดอยู่หลากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมการแพทย์ สธ., มหาวิทยาลัย ,กทม. และเอกชน
หากผู้ว่าฯกทม.ไม่สามารถประสานการทำงานร่วมของทุกส่วนได้ ผลกระทบย่อมเกิดกับประชาชนในพื้นที่ การ เลือกตั้งผู้ว่า กทม. 2565 จึงเป็นความหวังในเรื่องนี้
ระบบสุขภาพปฐมภูมิในกทม.
ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ในกทม. เมื่อแยกย่อย จะประกอบด้วย ศูนย์สุขภาพชุมชน และศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีอยู่ 69 ศูนย์ใน 50 เขต สังกัดกรุงเทพมหานคร และคลินิกเอกชน ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ภายใต้ชื่อ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” โดยจะได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดูแลรักษาปฐมภูมิ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
ด้วยระบบสุขภาพปฐมภูมิของกรุงเทพฯ ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขภาครัฐที่มีอยู่ 69 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนและคลินิกเอกชนชุมชนอบอุ่น ที่ไม่ได้รับผู้ป่วยเข้าไว้ดูแลรักษาแบบค้างคืน ต่างกับพื้ที่ต่างจังหวัดที่ระบบปฐมภูมิมีรพ.สต.เกือบ 10,000 แห่ง และรพ.ระดับอำเภออีกกว่า 800 แห่ง สังกัดสธ.ที่สามารถดูแลผู้ป่วยแบบพักรักษาที่รพ.ได้ด้วย
เมื่อระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภาครัฐมีรองรับเพียง 69 แห่ง จึงไม่แปลกนักที่เมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด19 มีผู้ติดเชื้อและป่วยจำนวนมาก ระบบในเมืองหลวงจะไม่สามารถดูแลได้
เป็นเหตุผลที่ทำให้สปสช.ที่ปกติแล้ว ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่า “มีส่วนดูแล”ระบบสุขภาพปฐมภูมิในเมืองกรุง เข้ามาร่วมจัดระบบการเข้าถึงบริการให้กับคนกรุง ผ่านการโทรแจ้งสายด่วน 1330
แต่ด้วยจำนวนที่มาก แม้จะขยายคู่สายเพิ่มขึ้นก็ยังไม่เพียงพอกับผู้ติดเชื้อที่ต้องการแจ้งเข้ารับการรักษามีมาก ทำให้อัตราการรอประสานนาน บวกกับ จำนวนเตียงในรพ.ทุกระดับที่ล้น จนกระทบต่อการรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา
กระทั่ง หลายภาคส่วนร่วมกันจัดตั้งรพ.สนามและศูนย์แยกกักในชุมชน(CI)
กระนั้นแล้ว ก็มีผู้ติดเชื้อในชุมชนกรุงเทพมหานครอีกจำนวนมาก เข้าไม่ถึงการดูแลรักษา จนชาวบ้านหลายชุมชน ต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลคนในชุมชนด้วยกันเอง
ข้อเสนอถึง ผู้ว่ากทม.
ในการเสวนาเรื่อง “ร่วมสร้างกรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดีสำหรับคนในกรุงเทพฯทุกคน” จัดโดย มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท สำนักสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ที่เดอะ แจม แฟคทอรี่ คลองสาน มีข้อเสนอถึงแนวทางการปรับปรุงระบบสุขภาพเมืองหลวง ที่จะฝากถึง ผู้ว่ากทม. คนใหม่ ที่จะผ่านเข้ามาจากการ เลือกตั้งผู้ว่า กทม. 2565
สุรสักย์ ธไนศวรรยางกูร นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ต้องปรับการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในกทม. ให้สอดคล้องประสานกัน โดยมีตัวกลางในการเชื่อมทำงานร่วมกัน รวมถึง ปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐสังกัดกทม. ในระดับปฐมภูมิ จะต้องมีศูนย์สุขภาพชมุชนที่มีส่วนร่วมของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งชุมชนในกทม.มีประมาณ 2,000 ชุมชน แต่อยู่ภายใต้ระเบียบกทม.ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนแรงงานข้ามชาติ
จัดตั้งเป็นชุมชนได้ ภายใต้เงื่อนไขของฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ซึ่งหากได้รับการจัดตั้งจะได้รับเงินอุดหนุนในการทำงานร่วมกันในชุมชน จึงต้องแก้ไขระเบียบ จะเป็นส่วนที่สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิของพื้นที่ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นมา ก็จะสามารถเข้าถึงบริการได้ และจะเชื่อมต่อไปสู่การลงทะเบียนเป็นบัตรสุขภาพชุมชน
วรรณนา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ข้อเสนอถึง ผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ คือ
1.ผู้ว่าคนใหม่ต้องมีคำสั่งหรือแกเระเบียบของกทม.ให้มีความคล่องตัว มียโยบายชัดเจนให้ศูนย์สาธารณสุขชุมชน เข้ามาจัดการปัญหาสุขภาพในเขตตนเอง เช่น ผลักดันให้ศูนย์สาธารณสุขชุมชนหลายแห่งทื่มีความพร้อมเป็นรพ.
2.ต้องมองว่าคนที่อยู่ในกทม.ทุกคน ต้องเข้าถึงสิทธิการรักษาพยายาลทุกคน เพราะสิทธิสุขภาพรอไม่ได้ ผู้ว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้
เช่นเดียวกับ สุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ บอกว่า กรุงเทพฯต้องดูแลคนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินของกทม. ไม่เฉพาะคนที่มีสิทธิ เลือกตั้งผู้ว่า กทม. เท่านั้น ถึงจะดูแล รวมถึง แรงงานข้ามชาติที่มาช่วยสร้างเศรษฐกิจก็ต้องดูแล ผู้ว่ากทม.คนใหม่ควรปรับระบบให้ถือบัตรใบดัยวไปรักษรตรงไหนก็ได้ ไม่ใช่รักษาตรงไหนก็ได้เฉพาะฉุกเฉินเท่านั้น อยากเห็นระบบที่เจ็บป่วยตรงไหนก็เข้ารักษาได้เลย เพราะแรงงานนอกระบบไม่ได้มีงานประจำวัน บางวันอาจจะขายของอยู่กันคนละที่ ถ้าสามารถถือบัตรใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ทำให้พี่น้องเข้าถึงระบบสุขภาพได้สะดวกขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
วาสนา ลำดี มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กลุ่มแรงงานไทยย้ายถิ่น กล่าวว่า ในกทม.นโยบายปกติใช้ไม่ได้ ต้องใช้นโยบายแบบพิเศษ ในการดูแลคนทุกคนแบบเท่าเทียมกัน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพ การเดินทาง ซึ่งกรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนไหลไปไหลมา ไม่ใช่คนอยู่กับที่ การดูแลจึงไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพที่ ผู้ว่ากทม. ควรดูแล เพราะฉะนั้น ผู้ว่ากทม. ต้องดูแลคนในกรุงเทพฯทุกคนที่เข้ามาพัฒนากรุงเทพฯให้มีความเจริญ ไม่ใช่ปล่อยทิ้งขว้าง ให้ใช้ชีวิตตามยถากรรม
เลือกตั้งผู้ว่า กทม. 22 พ.ค.นี้
ความซับซ้อนของโครงสร้างทางประชาชนที่ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพในพื้นที่ โครงสร้างที่อยู่อาศัยที่มีอย่างหลากหลายรูปแบบ และบางชุมชนก็ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนรองรับเป็นชุมชน และโครงสร้างของหน่วยงานด้านสุขภาพ
กลไกเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องมีการจัดระบบให้มีความพร้อมมากขึ้น ในการรองรับโรคระบาด และการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมป้องกันโรค ในพื้นที่ที่เรียกว่า “เมืองหลวงของประเทศไทย”
เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในวันที่ 22 พ.ค.2565 จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ ผู้ว่ากทม. คนใหม่ ว่าจะใส่ใจต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างความั่นคงให้ประเทศ มากน้อยเพียงใด
สามารถ ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่ากทม. ได้ที่นี่