คนไทยยังมีสิทธิ "รักษาฟรี" แม้ "โควิด-19"เป็น "โรคประจำถิ่น" 

คนไทยยังมีสิทธิ "รักษาฟรี" แม้ "โควิด-19"เป็น "โรคประจำถิ่น" 

เป็นไปได้สูงที่ โควิด-19ในประเทศไทยจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นตั้งแต่กลางมิ.ย.หรือต้นก.ค.2565 การรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อหลังจากนั้น  จะยังคงได้รับ”การรักษาฟรี” ตามสิทธิ์หลักประกันสุขภาพภาครัฐที่แต่ละคนสังกัด หรือเลือกจ่ายเงินเอง

คนไทยทุกคน จะมีสิทธิรักษาพยาบาลฟรีในหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 1 ใน 3 กองทุน โดยข้อมูล ณ เม.ย.2565  คือ

1.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) จำนวน 47.11 ล้านคน 

2.ประกันสังคม จำนวน 12.60 ล้านคน

3.ข้าราชการ 5.26 ล้านคน 


เมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น  ในเรื่องการรักษาพยาบาล กรณีติดเชื้อ กล่าวโดยง่าย คือ “ทุกคนเคยเข้ารับการรักษาพยาบาลโรคอื่นๆก่อนมีโควิด-19แบบไหนฟรี ก็เข้ารับการรักษาโควิด-19แบบนั้น ฟรี” ส่วนหากไม่ต้องการเข้ารับการรักษาตามสิทธิ ก็สามารถเลือกไปรักษาในสถานพยาบาลอื่น โดยจ่ายเงินเองได้ 
      “โควิด-19 จะต้องกลายเป็นโรคประจำถิ่นแน่นอน จะเป็นอีกโรคหนึ่ง ที่คนติดเชื้ออาการไม่มากก็รักษาตัวเอง เดินไปร้านขายยาซื้อได้เอง ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงก็จะมียาอีกขนานในการดูแล แนวโน้มค่ายา เวชภัณฑ์ วัคซีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ต้นทุนการรักษาโควิด-19 ก็ดีขึ้น รวมถึง มีการพัฒนายาใหม่ๆ ออกมา ในส่วนของ สธ.ก็มีการเตรียมความพร้อม 3 พออยู่แล้ว หมอพอ ยาพอ และเตียงพอ”อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขกล่าว  

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้เสนอปรับการดูแลในรูปแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (Out-patient with self isolation : OPSI) ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงพยาบาล เน้นการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
     เท่ากับว่า ผู้ติดเชื้อจะมีสิทธิได้รับการรักษาฟรีทั้งในรูปแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งนี้ ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในรพ.กรณีโรคโควิด-19 ปรับปรุงฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2565 ที่ออกโดยกรมการแพทย์ จะแยกผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 

1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดีให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านOPSI หรือhome isolation(HI) หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจแพทย์

2. ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ และภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

3. ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดเล็กน้อยถึงปานกลางแบบยังไม่ต้องให้ออกซิเจนนั้น แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด จาก 4 ตัว คือ ฟาร์วิพิราเวียร์  เรมเดซิเวียร์  โมลนูพิราเวียร์ และเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์(แพกซ์โลวิด)

4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้ยาเรมเดซิเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก และควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด 


สำหรับเรื่องยา จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ยา 4 ตัวหลักในการรักษา ประกอบด้วย  ฟาร์วิพิราเวียร์  เรมเดซิเวียร์  โมลนูพิราเวียร์ และเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์(แพกซ์โลวิด)  โดยยาฟาร์วิพิราเวียร์และเรมเดซิเวียร์ สถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนสามารถจัดซื้อได้

      ทว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ และเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์(แพกซ์โลวิด)นั้น ผู้ผลิตยังขึ้นทะเบียนเป็นแบบการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะขายให้เฉพาะภาครัฐเท่านั้น โดยรัฐจะกระจายยาให้เอกชนในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด แต่หากอนาคตผู้ผลิตมารขึ้นทะเบียนเป็นแบบการใช้ทั่วไป ก็จะสามารถสั่งซื้อได้ทั้งภาครับและเอกชน

ส่วนว่าแต่ละกองทุนจะให้สิทธิการรักษาเหมือนกันหรือไม่เป็นสิ่งที่ทั้ง 3 กองทุนจะต้องหารือร่วมกัน  รวมถึง แต่ละกองทุนจะให้สิทธิใดเพิ่มเติมมากกว่ากองทุนอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่คณะกรรมการกองทุนนั้นๆจะต้องพิจารณา

คนไทยยังมีสิทธิ \"รักษาฟรี\" แม้ \"โควิด-19\"เป็น \"โรคประจำถิ่น\" 

และกรณีอัตราค่าใช้จ่ายที่แต่ละกองทุนจะจัดสรรให้กับแต่ละสถานพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยนอก จะเป็นอัตราเท่าไหร่ ก็จะเป็นสิ่งที่กองทุนจะต้องกำหนดขึ้น เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้มีการกำหนดอัตราค่ารักษาโรคโควิด-19ในระบบงบประมาณปกติ ตลอดช่วงที่โควิด-19ระบาดเป็นการเบิกจ่ายกรณีพิเศษ แต่ส่วนนี้จะไม่ใช่ภาระของผู้ป่วย แต่จะเป็นสิ่งที่สถานพยาบาลจะส่งเบิกค่ารักษาจากแต่ละกองทุนเอง
        ที่จะต้องจับตา ก็คือ ในส่วนของสิทธิUCEP Plus ที่เดิมให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19ทุกสิทธิ กลุ่มสีเหลืองและแดง ฟรีในสถานพยาบาลทุกที่จะยังคงมีต่อไปหรือไม่  หรือจะปรับให้เข้าไปอยู่ในเกณฑ์ของUCEP ปกติทั่วไปที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ที่มีเจ็บป่วยฉุกเฉินรวิกฤติถึงแก่ชีวิต มีสิทธิเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ทุกที่

     "อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน , 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ว่าจะมีการขยายหรือดำเนินการเอย่างไร  คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์นี้" นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  กล่าว


       สำหรับกรณีผู้ที่เคยติดโควิด-19แล้ว อาจมีอาการที่เป็นภาวะลองโควิด(Long COVID) ซึ่งข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า 

จาก การสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19ของกรมการแพทย์ อาการที่มักพบได้บ่อย มีดังนี้

  • ระบบประสาท 27.33  %
  • อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน  ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ ระบบผิวหนัง  22.8%
  • ผมร่วง ผื่นแพ้ ระบบทั่วไป23.41% 
  • อ่อนเพลีย  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ระบบทางจิตใจ 32.1%
  • นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า ระบบหัวใจและหลอดเลือด 22.86% 
  • เจ็บหน้าอก ใจสั่น ระบบทางเดินหายใจ หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง 44.38% 

     ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรีเช่นเดียวกัน โดยหากมีอาการและสงสัยว่าจะเป็นภาวะลองโควิด สามารถไปสถานพยาบาลตามสิทธิ ผ่านการคัดกรองและประเมินอาการเบื้องต้น จากนั้น สถานพยาบาลจะมีระบบการส่งผู้ป่วยไปเข้ารับการดูแลในแผนกที่เกี่ยวข้องกับอาการนั้นๆ รวมถึง มีระบบรองรับกรณีต้องส่งต่อระหว่างสถานพยาบาลด้วย