เพิ่ม “องค์กรประชาสังคมด้าน HIV” เป็นสถานบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง
บอร์ด สปสช. เห็นชอบประกาศกำหนด “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านเอดส์
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน
มีมติเห็นชอบการประกาศกำหนดให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ภายในปี 2573 โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ 2560–2573 โดยมุ่งเน้นและเร่งรัดจัดชุดบริการที่มีประสิทธิภาพสูงและรอบด้านให้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีโอกาสรับและถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีสูง
- องค์กรภาคประชาสังคมด้านHIV เป็นสถานบริการสาธารณสุข
การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรชุมชนที่ให้บริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่
โดยรับการสนับสนุนจาก สปสช. มาอย่างต่อเนื่อง โดยการทำสัญญาดําเนินงานตามโครงการแบบปีต่อปี ทำให้เกิดช่องว่างการดำเนินการในช่วงรอยต่อปีงบประมาณในลักษณะที่ไม่สามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง
"จากปัญหาข้างต้นนี้ ทางองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความพร้อมในการให้บริการจำนวนกว่า 60 แห่ง จึงมีหนังสือเสนอมายัง สปสช. เพื่อขอให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อด้านเอชไอวีฯ ตามขั้นตอนแล้วจะต้องให้ บอร์ด สปสช. ประกาศกำหนดให้เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ก่อน" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
ก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างมาบ้างแล้ว เช่น ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป เป็นต้น เมื่อถูกประกาศให้เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แล้ว ต่อไป
- ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการสาธารณสุข
องค์กรเหล่านี้ก็จะมาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ซึ่งเป็นรูปธรรมความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่ปรับบทบาทจากผู้รับบริการมาเป็นผู้ร่วมให้บริการ
ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนที่ถูกประกาศเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีประสบการณ์การให้บริการไม่น้อยกว่า 1 ปี
รวมถึง ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช. รับรอง และมีบุคลากรที่มีประสบการณ์และได้รับรองสมรรถนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
องค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช.รับรองหรือมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตร ที่สอดคล้องกับบริการหรือกิจกรรมที่จะจัดบริการ จากเงื่อนไขข้างต้น จะเป็นการยืนยันการให้บริการโดยองค์กรภาคประชาสังคมที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการ
ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand