สปสช.ประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทองกทม.

สปสช.ประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทองกทม.

สปสช.ส่งทีมประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) 22 หน่วยทั่ว กทม. คาดดำเนินการเสร็จสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ ชี้เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงหาจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่ม 

วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทีมตรวจประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนหรือหน่วย 50 (5) เขต 13 กทม. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมตรวจประเมินหน่วย 50(5) เขตจตุจักรและเขตดอนเมือง โดย รศ.นพ.จันทร์ชัย เจรียงประเสริฐ อนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เขต 13 กทม. กล่าวว่า วันนี้เป็นการตรวจเยี่ยมประเมิน 2 หน่วยแรก โดยทีมประเมินจะลงพื้นที่ประเมินหน่วย 50(5) ให้ครบทั้ง 22 หน่วยในพื้นที่ กทม.ให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนจะสรุปข้อมูลเสนอให้อนุกรรมการระดับเขตพื้นที่ไปจนถึงส่วนกลางเพื่อพิจารณาว่าจะสนับสนุนการทำงานหรือจัดสรรงบประมาณของหน่วย 50(5) อย่างไรต่อไป

วัตถุประสงค์เรามาประเมินเพื่อบอกว่าตรงไหนดี ตรงไหนได้คะแนนน้อยต้องพัฒนาเพิ่ม ในการประเมินเราก็จะดูทุกอย่าง ทั้งในแง่ของพื้นที่ทางกายภาพ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงาน ระบบงาน รวมถึงบุคลากร สิ่งที่เราเน้นคือมีทำงานในเชิงรุกหรือเปล่า มีระบบการบริหารจัดการงานอย่างไร ซึ่งจากการเยี่ยมประเมิน 2 หน่วยแรกนี้พบว่ามีบุคลากรเป็นคนสูงอายุที่ทำงานด้วยจิตอาสา เราต้องรักษากลุ่มนี้ไว้ แต่ที่สำคัญคือตอนนี้เราต้องการคนรุ่นใหม่ที่คล่องตัวทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งต่อไปก็ต้องคิดว่าจะหาวิธีอย่างไรดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานได้อย่างไร

ส่วนกลางต้องลงมาช่วยเหมือนกัน เพราะถ้า สปสช.ต้องการใช้ Big Data ในระดับประเทศก็ต้องเอาระบบไอทีมาใช้ เช่น อาจจะแจกไอแพดให้หน่วยละเครื่องแล้วในนั้นมีโปรแกรมข้อมูลต่างๆที่ สปสช.ต้องการ รวมทั้งมีอินเทอร์เน็ต ไว-ไฟ ให้ฟรี คือช่วยให้ทีมงานของหน่วย 50(5) ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ส่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

   ด้าน นางมีนา ดวงราษี คณะทำงานพัฒนาหน่วย 50(5) และกรรมการประเมินฯ กล่าวว่า จากการเยี่ยมประเมิน 2 หน่วยแรกของพื้นที่ กทม. พบว่ามีจุดเด่นตรงที่คนทำงานมีจิตอาสามาก สามารถเข้าถึงพื้นที่ช่วยเหลือ สปสช. ทำงานเชิงรุกได้เป็นอย่างดี หากติดอาวุธเพิ่มอีกนิด สนับสนุนกลุ่มแกนนำให้เข้มแข็ง การทำงานของหน่วย 50(5) จะเข้มแข็งมากขึ้น

     ซึ่งเท่าที่ดูยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้คือเรื่องการรับข้อร้องเรียนตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ที่ทั้ง 2 หน่วยยังไม่กล้ารับเคสร้องเรียน อาจจะกลัวหรือไม่มั่นใจ ดังนั้น สปสช. ต้องหนุนเสริมศักยภาพของคนทำงาน ตั้งแต่การปูพื้นฐานปรับทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบบริการ ไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ เพื่อคนทำงานมีความมั่นใจ เมื่อมีผู้มาขอรับความช่วยเหลือก็จะสามารถให้ข้อมูลคำแนะนำได้อย่างมั่นใจ 

นอกจากนี้ พื้นที่การทำงานของหน่วย 50(5) อยู่ใน กทม. ปัญหาจะมีความซับซ้อนกว่าในต่างจังหวัด มีปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อม ยาเสพติด เรื่องเพศ ความรุนแรง คุณภาพชีวิต ดังนั้นหน่วย 50(5) ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสิทธิสุขภาพ เช่น ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิสุขภาพของตัวเองได้ว่ามีสิทธิอะไร สามารถรู้ได้ว่าตัวเองได้รับสิทธิตามกฎหมายครบถ้วนหรือไม่ ถ้าเจอปัญหาในการรับบริการสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับอะไร บริการไม่มีมาตรฐาน เกิดความเสียหาย หรือเกิดความล่าช้าในการเข้าถึงสิทธิเป็นต้น

ขณะที่นางบุญศรี สุวรรณดี ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขตหลักสี่/ดอนเมือง กล่าวว่า ในพื้นที่ดอนเมืองมักจะมีเวทีชุมชนในประเด็นต่างๆค่อนข้างมาก ตนมักจะนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องหลักประกันสุขภาพตามเวทีต่างๆและแจกข้อมูลเบอร์ติดต่อไว้ เพื่อที่ว่าหากมีปัญหาก็จะได้มารับบริการหรือขอคำปรึกษาที่หน่วย รวมทั้งการทำงานเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจหรือให้ความรู้ประชาชน เช่น เรื่องคลินิกเรียกเก็บเงินยาความดัน/เบาหวาน ได้รับแจ้งมาว่ามีคลินิกเรียกเก็บเงิน จึงไปสอบถามคลินิกทำให้ทราบว่าเป็นผู้ป่วยเองที่เลือกใช้ยานอกบัญชียาหลัก พอโดนเรียกเก็บก็เลยไม่เข้าใจ การไกล่เกลี่ยในลักษณะนี้มีมาตลอดแต่ปัจจุบันดีขึ้นมากแล้ว

  อีกส่วนที่ได้รับการขอความช่วยเหลือมาเยอะคือการขอให้ประสานหน่วยบริการในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีประชาชนขอให้ประสานงานหาที่รักษาให้ ซึ่งทางหน่วยจะแจ้งหน่วยบริการทราบหรืออย่างน้อยประสาน สปสช. ขอส่งยาและอาหารให้ก่อน รวมทั้งช่วยทำความเข้าใจหรืออธิบายความยากลำบากของ สปสช. ในช่วงที่โทรสายด่วน 1330 ไม่ติด เป็นต้น

"งานที่เราทำมีเยอะมากแต่ยอมรับไม่ค่อยได้บันทึกข้อมูล ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเพิ่มในเรื่องการบันทึกข้อมูลให้มากขึ้น และจะพยายามทำเต็มที่เพื่อประชาชน ถ้าเดือดร้อนอะไรมาเราก็สามารถชี้แนะให้คำปรึกษาได้" นางบุญศรี กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คลิก