เช็กตามนี้ รู้เท่าทัน“ปลดล็อกกัญชา” กิน ดื่ม ใช้แบบปลอดภัย

เช็กตามนี้ รู้เท่าทัน“ปลดล็อกกัญชา” กิน ดื่ม ใช้แบบปลอดภัย

 “ปลดล็อกกัญชา” การนำไปใช้ทางการแพทย์ที่เป็นยา และผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางจำเป็นต้องใช้อย่างเข้าใจ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และงดเว้นเด็ดขาด ในการนำไปใช้ทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย 

     สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รายงานสถิติการเข้าใช้งานระบบปลูกกัญ (ข้อมูล 12.00 น. วันที่ 13 มิ.ย.2565) พบว่า  จำนวนการลงทะเบียน 751,086 คน ออกใบรับจดแจ้งกัญชา 728,244 ใบ  ออกใบรับจดแจ้งกัญชง 22,842 ใบ และจำนวนเข้าใช้งานระบบ  36,109,842 ครั้ง


10 คำแนะนำใช้กัญชาทางการแพทย์

     10 คำแนะนำ การใช้กัญชาทางการแพทย์ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) จัดทำโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้แก่ 1.รักษาตามมาตรฐานการแพทย์ก่อน  2.ไม่ใช้หากอายุน้อย แนะนำอายุมากกว่า 25 ปี  3.ใช้กัญชาอัตราส่วน CBD : THC สูง 4.ไม่ใช้กัญชาสังเคราะห์ 5.ไม่ใช้การสูบ 6.หากสูบ ไม่อัดควันเข้าปอด แล้วกลั้นไว้ 7.ใช้อย่างระวัง ใช้บ่อยและเข้มข้นสูง เสี่ยงสูง  8.งดขับรถ ใช้เครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง 9.งดใช้ ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวจิตเวช ตั้งครรภ์ และ10.หลีกเลี่ยงใช้ หากมีหลายปัจจัยเสี่ยง

4 ข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์มี THC

       ส่วนข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีTHC เป็นส่วนประกอบ 1. ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดกัญชา ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่นๆ และ/ หรือสารที่ เป็นตัวทำละลาย (solvent) ที่ใช้ในการสกัด 2.ผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือ มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ 3. ผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อน หรือ มีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือ โรควิตกกังวล และ4. หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด หรือสตรีที่ วางแผนจะตั้งครรภ์เนื่องจากมีรายงานการศึกษาพบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงพบ cannabinoids ในน้ำนมแม่ได้

ยากัญชาแผนปัจจุบัน-แผนไทย 
         ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมและบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 3 รายการ คือ ยาแก้ลม แก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ และยาทำลายพระสุเมรุ  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงยืนยันกรมการแพทย์มีจุดยืนว่า สนับสนุนให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งยาแผนปัจจุบันขณะนี้มี 3 ตัว ที่บรรจุในบัญชีหลักแห่งชาติ คือ 1. ยาที่มีสัดส่วน THC ต่อ CBD 1:1  สำหรับการรักษาผู้ป่วยระยะประคับประคอง

2. ยารักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการให้เคมีบำบัด แต่ยืนยันว่ายาทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ใช่ยารักษาที่เป็นทางเลือกแรก แต่ใช้หลังจากที่ใช้ยารักษาที่มีแล้วไม่ได้ผล

และ 3. ยา CBD เด่น ที่ใช้ในรักษาโรคกรณีลมชักในเด็ก และมีระบบติดตามเฝ้าระวัง ส่วนกรณีอื่นที่จะเกี่ยวกับการแพทย์ เช่น เวชสำอางค์ สถาบันโรคผิวหนังก็มีการเอาไปใช้เป็นเวชสำอาง

    “ไม่อยากให้ใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี ไม่ใช้สันทนาการ คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ กัญชาทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของกรมการแพทย์มีการศึกษาและแนะนำขอให้ใช้ในกลุ่มที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป เพื่อความปลอดภัย  การที่ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก เพราะกัญชามีผลต่อสมอง ระบบประสาท  โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนมีผลต่อพัฒนาการ ทางสมองและการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องขอความร่วมมือทางโรงเรียนครูอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครองทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันเฝ้าระวังรวมถึง ขอให้งดใช้ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช และหญิงตั้งครรภ์ เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาขอให้งดขับรถ งดใช้เครื่องจักรภายใน 6 ชั่วโมง”นพ.สมศักดิ์กล่าว   
 วิธีเลือกผลิตภัณฑ์อาหารกัญชา

      นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า  ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง โดยสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร ชื่ออาหารแสดงชื่อส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงหรือสารสกัด แคนนาบิไดออล (CBD) และข้อความ “คําเตือน” ด้วยตัวอักษรขนาดไม่เล็กกว่า 1.5 มม. ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของตัวอักษรตัดกับสีของพื้นกรอบ และสีกรอบตัดกับสีของพื้นฉลาก ระบุข้อความ “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”

     สามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และหัวข้อ สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา

เช็กตามนี้ รู้เท่าทัน“ปลดล็อกกัญชา” กิน ดื่ม ใช้แบบปลอดภัย

อาหารใบกัญชาปรุงหน้าร้าน

       ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่  9 มิ.ย.2565 ซึ่งหมายรวมถึง  ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่ หรือทางสาธารณะ จะต้องแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร  ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู

       นอกจากนี้ จะต้องแสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชา  ให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสา THC หรือสาร CBDควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล” และห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

      เครื่องสำอางกัญชา

       ส่วนของเครื่องสำอาง อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้ส่วนของกัญชาในเครื่องสำอาง พ.ศ.2564  โดยใช้ส่วนต่างๆ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วล้างออกนั้น  1. ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในช่องปาก หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ บริเวณจุดซ่อนเร้น และ 2.เครื่องสำอางพร้อมใช้จะต้องมีสาร THC ปนเปื้อน ไม่เกิน 0.2%
       ทั้งนี้ จะต้องมีการแสดงสรรพคุณบนฉลากหรือโฆษณาเครื่องสำอาง   อาทิ “ช่วยให้ความนุ่มลื่นแก่ผิว”  “บำรุง ดูแลเส้นผมหรือหนังศีรษะ”  “แต่งกลิ่นจากกัญชาหรือกัญชง” เป็นต้น

เฝ้าระวังพิษกัญชา

      นพ.มานัส โพธาภรณ์ รอง อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมจะมีการดูแลเฝ้าระวังใน 2 ส่วน คือ 1.กรณีพิษเฉียบพลันซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดเหตุในห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาจะมีอาการทางระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด อาการที่พบคือความดันโลหิตสูงใจสั่น ใจเต้นแรงวิงเวียนศีรษะ แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต ยกเว้นไปขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งมีรายงานแล้วในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยยังไม่ได้มีการรวบรวมในส่วนนี้ และ 2. การเฝ้าระวังการ ใช้ในครัวเรือนและการเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่พบเป็นการใช้ไม่ถูกวิธีโดยใช้เพื่อการสูบสันทนาการ โดยประสานกับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ให้เฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

        “จากการเก็บข้อมูลที่รายงานเข้ามาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ปัญหาผลข้างเคียงที่เกิดจากกัญชา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผลิตภัณฑ์กัญชาจำนวนมาก ทั้งนี้  สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ทำ ไลน์ "ห่วงใย" สายด่วน 1165 และออกคำแนะนำความเสี่ยงจากการใช้กัญชา”นพ.มนัสกล่าว