แนวทางใช้ "กัญชาทางการแพทย์"อย่างเหมาะสม

แนวทางใช้ "กัญชาทางการแพทย์"อย่างเหมาะสม

กรม สบส.เร่งประสาน อสม.ร่วมรณรงค์แนวทาง “รับ รู้ ปรับ ใช้” สร้างความเข้าใจในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเหมาะสม

     นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ รัฐบาลได้ประกาศ “ปลดล็อกกัญชา” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชา และมีพืชกัญชาไว้ในครอบครองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งวัตถุประสงค์ของภาครัฐในการปลดล็อกกัญชาครั้งนี้ มุ่งเน้นในการนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำเนินการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ให้ความรู้ แก่ประชาชนในการใช้กัญชาเพื่อสุขภาพ โดยกรม สบส.ได้ดำเนินการประชุมหารือร่วมกับเครือข่ายประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเครือข่ายสุขภาพทั่วประเทศ

ผ่านระบบออนไลน์ทางไกลเพื่อประสาน ขอความร่วมมือจากพี่น้อง อสม. 1.05 ล้านคน ในการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์ และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชกัญชา ทั้งคุณประโยชน์ และผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการเสพกัญชาเกินขนาด รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามหลัก “รับ รู้ ปรับ ใช้” ได้แก่

1.รับ : รับข้อมูล ข่าวสารด้านกัญชาจากแหล่งที่เชื่อถือได้

2.รู้ : รู้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาที่ถูกต้อง

3.ปรับ : ปรับการใช้กัญชาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

และ 4.ใช้ : ใช้กัญชาเพื่อสุขภาพและรักษาโรค เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการใช้กัญชาทางการแพทย์ในชุมชนอย่างถูกต้องเหมาะสม แทนที่จะใช้เพื่อสันทนาการ

     “ขอขอบคุณพี่น้อง อสม.ที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานระบบสาธารณสุขไทยมาโดยตลอด ทั้งในบทบาทของนักรบด่านหน้าที่ต่อสู้กับโรคระบาดอย่างโรคโควิด 19 และบทบาทแกนนำสุขภาพของชุมชน โดยในวันนี้ที่มีการปลดล็อกกัญชา กรม สบส.ก็หวังว่าพี่น้อง อสม.ทุกท่านจะร่วมเข้ามามีบทบาทในการเป็นกระบอกเสียง และร่วมรณรงค์ เผยแพร่องค์ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องในชุมชน ในการนำพืชกัญชาไปใช้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการแพทย์ และเศรษฐกิจของประชาชนได้อย่างยั่งยืน” นายแพทย์ธเรศ กล่าว

ด้านนพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า แม้พืชกัญชาจะมีสรรพคุณทางการแพทย์ในการบรรเทาอาการได้หลากหลายโรค และประโยชน์ที่เกี่ยวกับสุขภาพด้านอื่นๆก็ตาม แต่ยังมีกลุ่มผู้ที่ควรระมัดระวังในการใช้กัญชา อาทิ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่มีอาการตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด  และผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เป็นต้น

      ดังนั้น ขอให้ประชาชนศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน โดยอาจจะสอบถามข้อมูลในการใช้กัญชาทางการแพทย์จากหน่วยงานสาธารณสุข หรือบุคลากรสาธารณสุขอย่าง อสม.ที่อยู่ใกล้บ้าน และหากต้องการจะปลูกหรือครอบครองกัญชาก็ขอให้สอบถามข้อมูลจากสายด่วน กัญชง กัญชา 1556 กด 3  เพื่อให้การใช้หรือครอบครองพืชกัญชาเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง