10 วัน "ปลดล็อกกัญชา" สิ่งที่ต้องรู้ก่อน "ซื้อ-ขาย-ใช้" ไม่ผิดกฎหมาย
หลังจากมีการ “ปลดล็อกกัญชา” ตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 ผ่านมาแล้ว 10 วัน มีสิ่งที่ประชาชนที่ต้องรู้ก่อน "ซื้อ-ขายกัญชา" และใช้ต้องทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้นำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม จนเกิดอันตรายต่อร่างกาย
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รายงานสถิติการเข้าใช้งานระบบปลูกกัญ (ข้อมูล 07.00 น. วันที่ 19 มิ.ย.2565) พบว่า จำนวนการลงทะเบียน 883,698 คน ออกใบรับจดแจ้งกัญชา 856,515 ใบ ออกใบรับจดแจ้งกัญชง 27,183 ใบ และจำนวนเข้าใช้งานระบบ 40,077,201 ครั้ง
ห้ามขายกัญชา 3 กลุ่ม
อย.ระบุว่า ประชาชนสามารถ ซื้อ-ขายกัญชา
- ครอบครองกัญชาได้ ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ราก ลำต้น ครอบครองสารสกัดที่มีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2%
- ขายกัญชาได้ ส่วนของพืชเช่น ใบ ดอก ลำต้น
- ขายสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2%
แต่แม้จะมีการ “ปลดล็อกกัญชา”พ้นจากยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2 % ยังเป็นยาเสพติด แต่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เสนอให้ “กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม”
มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.2565
สาระสำคัญ คือ “ห้ามผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรเข้าถึงกัญชา” เนื่องจากจัดเป็นสมุนไพรควบคุม
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามประกาศนี้ คนที่นำกัญชาไปให้กลุ่มเปราะบาง คือ ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร จะต้องมีความผิดตามกฎหมาย เช่น ขายกัญชาให้เด็ก ให้คนท้อง จะมีโทษทางอาญา และมีความผิดมาตรา 78 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนสิ่งที่ต้องขออนุญาตก่อนการ “ขายกัญชา” คือ
- การขายเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ และต้นกล้า ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- การซื้อขายสารสกัดที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% ต้องมีใบอนุญาตยาเสพติดให้โทษทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย
- การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ผลติภัณฑ์สมุนไพร ยาจากกัญชา กัญชง ต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
วิธีเลือกซื้อ”ผลิตภัณฑ์กัญชา”
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง โดยสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร ชื่ออาหารแสดงชื่อส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงหรือสารสกัด แคนนาบิไดออล (CBD) และข้อความ “คําเตือน” ด้วยตัวอักษรขนาดไม่เล็กกว่า 1.5 มม. ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของตัวอักษรตัดกับสีของพื้นกรอบ และสีกรอบตัดกับสีของพื้นฉลาก ระบุข้อความ “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
สามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และหัวข้อ สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา
ข้อห้ามใช้กัญชา
- ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ กลิ่นหรือควัญเป็นเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
- ห้ามใช้ และจำหน่ายแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
- ห้ามครอบครอง "สารสกัดกัญชา" ที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่ผ่านการรับรองโดย อย. ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
ส่วนข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีTHC เป็นส่วนประกอบ
1. ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดกัญชา ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่นๆ และ/ หรือสารที่ เป็นตัวทำละลาย (solvent) ที่ใช้ในการสกัด
2.ผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือ มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
3. ผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อน หรือ มีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือ โรควิตกกังวล
และ4. หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด หรือสตรีที่ วางแผนจะตั้งครรภ์เนื่องจากมีรายงานการศึกษาพบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงพบ cannabinoids ในน้ำนมแม่ได้
ใช้กัญชาทางการแพทย์
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กัญชา มีสาระสำคัญหลากหลายชนิด เช่น แคนนาบินอยด์ นำมาใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดของโรค คำแนะนำในการใช้กัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ปี 2564 โดยกรมการแพทย์ ระบุว่า กัญชารักษา 6 โรค/ภาวะ
1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
2.โรคลมชักที่รักษายาก
3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
4.ภาวะปวดประสาท
5.ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
6.เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย
และพบหลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยควบคุมอาการแต่ไม่ได้รักษาให้โรคหายขาดอีก 4 โรค
1.โรคพาร์กินสัน
2.โรคอัลไซเมอร์
3.โรควิตกกังวลทั่วไป
4.โรคปลอกประสาทอักเสบ
ซึ่งควรใช้ตามแพทย์สั่ง ประกอบกับแจ้งยาที่ใช้ส่วนตัว พร้อมศึกษาค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้ที่ถูกต้อง และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด
ใช้ใน “อาหารกัญชา”
ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ซึ่งหมายรวมถึง ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่ หรือทางสาธารณะ จะต้องแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
นอกจากนี้ จะต้องแสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชา ให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสา THC หรือสาร CBDควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล” และห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค