มติศบค.ชุดใหญ่ “ถอดหน้ากากอนามัย"ได้ แต่4กรณีต้องใส่ “โควิด19”อีก1 ปีครึ่ง

มติศบค.ชุดใหญ่ “ถอดหน้ากากอนามัย"ได้ แต่4กรณีต้องใส่  “โควิด19”อีก1 ปีครึ่ง

มติศบค.ชุดใหญ่ 17 มิ.ย.2565 ผ่อนคลายมาตรการต่างๆเมื่อ นับว่าไทยจะเข้าสู่ “Post Pandemic” ของโควิด19 นับตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 แม้ให้ “ถอดหน้ากากอนามัยได้” แต่ยังต้องใส่ใน 4 กรณี และสธ.คาด “สถานการณ์โควิด19” ที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีก 1 ปีครึ่ง

 “สถานการณ์โควิด19”ใน 1 ปีครึ่งข้างหน้า 

       เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงมติศบค.ชุดใหญ่ ว่า สถานการณ์โควิด19 ตัวเลขติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ อัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ประมาณ 9.3% มีพื้นที่เตียงยังว่าง เน้นย้ำว่าถ้าศักยภาพสาธารณสุขไปได้ดี ก็สามารถเปิดกิจการกิจกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ป่วยรายวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตยังมีทิศทางลดลง โดยเฉพาะใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต เส้นสถานการณ์จริงลดต่ำกว่าเส้นคาดการณ์สีเขียวที่ดีที่สุด

      ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 ระยะขาลง (Declining) ดังนั้น  1 ก.ค.2565 มีโอกาสเป็น Post Pandemic ระยะหลังการระบาด โดยขณะนี้ 50 จังหวัดอยู่ในทิศทางลดลง มี 17 จังหวัดลดลงแล้วแต่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กๆ ได้แก่ กทม. ภูเก็ต อุบลราชธานี ชัยนาท ตราด ยโสธร อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ สตูล ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี สมุทรสาคร กระบี่ และพิจิตร จึงต้องให้มีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เป็นภาระในเรื่องการรักษา

  อย่างไรก็ตาม ในการประชุมศบค.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอ คาดการณ์พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด19 ช่วงก.ค.2565 - ธ.ค.2566 หรือในอีก 1 ปีครึ่ง ระบุว่า ระยะ Post Pandemic คาดการณ์ว่าอาจจะมีการระบาดระลอกเล็กๆ เกิดขึ้นมาได้บ้าง เป็น Small Wave
      โดยเหตุปัจจัยเนื่องจาก
1.ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลงหลังได้รับวัคซีนเกิน 6 เดือนหลังฉีดเข็มล่าสุด

2.ประชาชน ลดการสวมหน้ากากอนามัย และเลี่ยงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคราว 30% ในสถานที่/กิจกรรรมเสี่ยง

และ3.พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะหลังเทศกาล 

“ถอดหน้ากากอนามัยได้” 4 กรณีต้องใส่
     มติศบค.17มิ.ย.2565 ระบุเรื่อง “หน้ากากอนามัย”  โดยระบุว่า หน้ากากอนามัยยังคงมีประโยชน์ในการป้องกัน ทั้งการแพร่เชื้อและการรับเชื้อโควิด19และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึงยังสามารถป้องกันปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงควรพกหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน และสามารถนำมาสวมเมื่อมีความเสี่ยง

      และมี 4 กรณีที่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย คือ
1. ประชาชนกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น  

2.ผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น 
3.สถานที่ภายนอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง ให้ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือมีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬา หรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม ฯลฯ

4.สถานที่ภายในอาคาร ให้ใส่หน้ากากอนามัย 

สามารถ “ถอดหน้ากากอนามัยได้” ในกรณี

  • อยู่คนเดียว
  • หากอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่พำนักเดียวกัน ต้องเว้นระยะห่างได้ ไม่รวมกลุ่มแออัด และพื้นที่ระบายอากาศได้ดี
  • มีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัย เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้า ศิลปะการแสดง ฯลฯ (ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้นควรสวมหน้ากากอนามัยทันที)

มติศบค.ชุดใหญ่เริ่ม 1 ก.ค.2565
       นอกจากนี้ มติศบค.ชุดใหญ่ที่จะมีผลในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ประกอบด้วย
1.ปรับพื้นที่สีเขียว 77 จังหวัดทั่วประเทศ
2.บริโภคสุราในร้านอาหารได้ ผับบาร์ สถานบันเทิงเปิดได้ถึงตี 2

3.ยกเลิกThailand Pass ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยผู้เดินทางเข้าไทยยังคงต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนครบโดส หรือผลตรวจโควิด19เป็นลบ
4.ผ่อนปรนการถ่ายรายการ ถ่ายภาพยนตร์ ทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์

  • ปรับการเว้นระยะห่างเป็นอย่างน้อย 1 - 2 เมตร / ยกเลิกการตรวจวัดอุณหภูมิ
  • การตรวจ ATK ให้ทุกคนตรวจก่อนเข้าพื้นที่ถ่ายทําทุกครั้ง และหากถ่ายทําต่อเนื่องให้ตรวจซํ้าทุก 5-7 วัน
  • ผู้ปฏิบัติงานในกองถ่ายทุกคน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาส่วนผู้ปฏิบัติงานหน้าฉาก (ผู้ประกาศข่าว พิธีกรนักแสดง แขกรับเชิญ ทุกคน) ให้ถอดหน้ากากเฉพาะปฏิบัติหน้าที่หน้าฉากเท่านั้น
  • กรณีผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง/ติดเชื้อ คนทำงานในกองถ่ายให้ทำงานแบบใส่หน้ากากได้ แต่คนทำงานหน้าฉาก ให้งดมาทำงาน