"โมเลกุลมณีแดง" อัปเดตคืบหน้า ครั้งแรกของโลก ค้นพบกลไกหวังต้านความชรา

"โมเลกุลมณีแดง" อัปเดตคืบหน้า ครั้งแรกของโลก ค้นพบกลไกหวังต้านความชรา

สุดยอดงานวิจัย "โมเลกุลมณีแดง" อัปเดตคืบหน้า ครั้งแรกของโลก ค้นพบกลไกหวังต้านความชรา เปิดความร่วมมือพัฒนาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ปตท. - อินโนบิก เตรียมผลิตนวัตกรรม "มณีแดง"

ตะลึงไปทั่ววงการ ทั้งการแพทย์และสังคม สุดยอดงานวิจัย "โมเลกุลมณีแดง" อัปเดตคืบหน้า ครั้งแรกของโลก ค้นพบกลไกหวังต้านความชรา เปิดความร่วมมือพัฒนาจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ปตท. - อินโนบิก เตรียมผลิตนวัตกรรม "มณีแดง"

ความคืบหน้า ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด , รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ , ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าว จุฬาฯ จับมือ ปตท. – อินโนบิก พัฒนางานวิจัย ‘โมเลกุลมณีแดง’ นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา เตรียมพร้อมทดสอบในมนุษย์ เพื่อแถลงความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาและวิจัยโมเลกุลมณีแดง หรือ RED–GEMs ที่พร้อมทดสอบในมนุษย์ และการเตรียมความพร้อมในกระบวนการผลิตโมเลกุลมณีแดงสู่สังคม

\"โมเลกุลมณีแดง\" อัปเดตคืบหน้า ครั้งแรกของโลก ค้นพบกลไกหวังต้านความชรา

โดยภายในงานมีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการวิจัยและการผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินงานโดย คณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด โดยมี พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ  ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนางานวิจัยโมเลกุลมณีแดง นวัตกรรมต้านเซลล์ชรานั้น ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร เผยว่า นับเป็น “ครั้งแรกของโลก” จากการที่ได้ค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราสู่การพัฒนา “โมเลกุลมณีแดง” หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules)

โดยทั่วไปในดีเอ็นเอจะมีรอยแยก (youth-DNA-gap) อยู่บริเวณที่มีดีเอ็นเอแมดทิเลชัน (DNA methylation) อันเป็นที่มาของโมเลกุลมณีแดง ซึ่งมีบทบาทในการช่วยปกป้องดีเอ็นเอและป้องกันความแก่ชราในดีเอ็นเอ โดยเมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น รอยแยกดีเอ็นเอจะลดลง ทำให้เกิดแรงตึงทั่วสายของดีเอ็นเอ ดีเอ็นเอไม่สามารถหมุนตัวได้อย่างปกติ และถูกทำลายได้ง่าย เราจึงพบรอยโรคในดีเอ็นเอของเซลล์ที่แก่ชราแล้วเยอะขึ้น ซึ่งรอยโรคดีเอ็นเอนี้จะส่งสัญญาณให้เซลล์หยุดการแบ่งตัวตามปกติและเข้าสู่ความแก่ชรา

\"โมเลกุลมณีแดง\" อัปเดตคืบหน้า ครั้งแรกของโลก ค้นพบกลไกหวังต้านความชรา

รวมถึงอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และมะเร็งได้ โมเลกุลมณีแดงคือยีนที่มีหน้าที่เป็นกรรไกรเพื่อสร้างรอยแยกดีเอ็นเอ เซลล์ที่ได้รับมณีแดงจะมีดีเอ็นเอที่แข็งแรงขึ้น และทำให้เซลล์ที่เสื่อมลงแล้วกลับมาดีขึ้น

“จากการค้นพบนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา จนเข้าสู่การทดสอบในสัตว์คือ หนู หมู และลิง โดยได้ทดสอบกับหนูวัยชราที่มีแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้ พบว่าหนูวัยชรากลับเป็นหนูที่มีความแข็งแรงและกระตือรือร้นขึ้น ทั้งการทำงานของ สมอง ตับ และไต ในส่วนของไขมันในช่องท้องและพังผืดในตับได้ลดหายไปด้วย ด้านแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้หายดี ไม่มีผลข้างเคียง นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ทดสอบในหมูแรกเกิด และทดสอบคุณภาพเนื้อเมื่อมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม พบว่ามีเนื้อสัมผัสที่นุ่มขึ้น แน่นขึ้น ปัจจุบันโครงการได้ทดสอบในลิงแสม และหนูที่เป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และปอดเป็นพังผืด ขณะนี้ได้ทดสอบมณีแดงกับลิงแสมแล้ว 3 เข็มในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จากที่วางแผนไว้ 8 เข็ม ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยลิงแสมทุกตัวปลอดภัยดี และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ” ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ซึ่งจะมีผลกระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านสาธารณสุข ตลอดจนการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ปตท. ตระหนักถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น จึงมุ่งสร้างธุรกิจ New S-Curve เพื่อเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และส่วนร่วมนำพาประเทศให้เดินหน้าได้อย่างแข็งแรง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร Powering Life with Future Energy and Beyond ที่มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โครงการมณีแดง ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่น่ายกย่อง และควรสนับสนุนต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษามีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Real-world Impact Innovation) ตลอดจนมุ่งใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการตอบสนองและบริการสังคม ด้วยการสร้างสรรค์ และบ่มเพาะองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาสังคม ทันต่อการปรับเปลี่ยนและการแข่งขันสู่มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่ยั่งยืน นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยที่เน้นนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสื่อสารสโลแกนใหม่ของจุฬาฯ “Innovations for Society” ตอกย้ำจุดยืนที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม สร้างสรรค์ให้สังคมดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี ไปจนถึงการส่งเสริมองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้าด้วยกัน

\"โมเลกุลมณีแดง\" อัปเดตคืบหน้า ครั้งแรกของโลก ค้นพบกลไกหวังต้านความชรา

ด้าน ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ กล่าวว่า อินโนบิก เอเซีย มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนิเวศน์วิทยาทางธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน โดยนอกเหนือจากการลงทุนด้านยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และโภชนเภสัชแล้ว เรายังมีเป้าหมายเร่งสร้างการพัฒนานวัตกรรมของคนไทยให้เทียบเคียงได้ในระดับสากล ผ่านความร่วมมือกับเครือข่าย ทั้งนักวิจัยและมหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นความท้าทายและต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ทั้งการวิจัยในห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางคลินิก การเตรียมความพร้อมทางด้านการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การตลาด การขึ้นทะเบียน และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างมูลค่าของงานวิจัยให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย โดยอินโนบิก (เอเชีย) จะสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโครงการ การทำการตลาดเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งในเชิงผลลัพธ์และระยะเวลา

ทั้งนี้ มณีแดง ถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจ สามารถต่อยอดในการฟื้นฟูและป้องกันที่มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาโดยเฉพาะพันธุศาสตร์ สนับสนุนยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร และพัฒนาอุตสาหกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน หรือ Wellness

ข้อมูลอ้างอิงจาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย