ขั้นตอนรับบริการ ป่วยโควิด-19 เขียว-เหลือง-แดง พื้นที่กทม.
กทม.อัตราครองเตียงสีเขียวทะลุ 98 % ส่วนเหลือง-แดงอยู่ที่ 47.8 % ยันระบบรับ-ส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ยังไม่ติดขัด ให้ศูนย์เอราวัณแกนหลักประสานรพ. ตั้งคกก.ร่วมดูแลการรักษา สธ.เตรียมขยายคลินิกเอกชนจัดซื้อ “ยาโมลนูพิราเวียร์”
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปค.สธ.) ซึ่งมีวาระหารือถึงการรับสถานการณ์โควิด-19ในพื้นที่กทม. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ช่วงต้นก.ค.จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19สูงเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอน BA.4/BA.5 ซึ่งปัญหามากกว่า 50 %ของการติดเชื้อเกิดขึ้นในพื้นที่กทม. โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นแกนหลักในการดูแลสถานการณ์ โดยที่สธ.พร้อมที่สนับสนุนในการดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้ป่วยหนัก
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีการหารือเรื่อง 1.การป้องกันโรค ซึ่งกทม.มีการฉีดวัคซีนเกิน 100 % และมีการฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 มากกว่า 80 % แต่ยังมีปัญหาการติดเชื้อก็จะต้องมาพิจารณาดูว่าเป็นเพราะอะไร 2.การควบคุมโรค ในเรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆของกทม.มีการกำหนดมาตรการอย่างไร 3.การรักษา เรื่องเตียงและยา ซึ่งอัตราการครองเตียงพื้นที่กทม. ที่เป็นผู้ป่วยสีเขียวมากถึง 98 %
ส่วนเตียงผู้ป่วยเหลือง แดงอัตราครองเตียงอยู่ที่ 47.8 % ยังมีเพียงพอรองรับสถานการณ์ในกทม. แต่เนื่องจากเป็นโรคติดต่อจะต้องมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุร่วมกันในการประสานการส่งต่อผู้ป่วย จะต้องบูรณาการทำงาน ส่วนเรื่องยา สธ.พร้อมสนับสนุนโดยบริหารจัดการตามปริมาณที่มี ทั้งนี้ ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม(อภ.) สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้วันละ 2 ล้านเม็ด และเตรียมที่จะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เอง
เตรียมให้คลินิกจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้
“กรณียาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ โดยโรงพยาบาลเอกชนได้รับการสนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์จากสธ.สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาให้บริการผู้ป่วยโควิด-19เองเพิ่มเติมได้ เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวีย์มากขึ้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 (EOC) จึงเตรียมการให้คลินิกเอกชนสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดได้ด้วยเช่นกัน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทำแผนดำเนินการและกรอบระยะเวลาในเรื่องนี้ของโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน โดยให้อภ.ร่วมจัดหายาเพิ่มเติม ซึ่งในอนาคตอาจขยายให้ร้านขายยาสามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้ด้วย แต่ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ คือ เป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองขึ้นไป สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ขณะนี้มีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้ว 3 บริษัท
ทุกรายไม่จำเป็นต้องได้ยาต้านไวรัส
“ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย เพราะอาจจะเกิดการดื้อยาและผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ กรณีมีอาการเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาตามอาการ หรือใช้ฟ้าทะลายโจรได้ ส่วนกรณีมีอาการที่ต้องได้รับยาต้านไวรัส ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ แพกซ์โลวิด รวมถึงแอนติบอดี LAAB ที่จะเข้ามาในสัปดาห์หน้า จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ตามแนวทางและข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ ซึ่งยาเหล่านี้ต้องสั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น การหาซื้อยารับประทานเองอาจได้รับยาปลอมและเป็นอันตรายได้”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ศูนย์เอราวัณแกนหลักประสานเตียง
ด้านพญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์เตียงในกทม.ขณะนี้ยังมีรองรับได้ โดยมีการประสานความร่วมมือให้ไร้รอยต่อในการส่งต่อผู้ป่วย โดยจากนี้จะใช้กลไกของศูนย์เอราวัณเป็นผู้ประสานเตียงกับรพ.หลักใน 6 โซน ส่วนการเพิ่มการให้วัคซีนกับประชาชน ขยายให้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในวันเสาร์ด้วย และมีบริการเชิงรุกเข้าไปฉีดให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน
ขณะที่การใช้ยารักษาโควิด-19ในกทม.อยู่ที่ราววันละ 1 แสนเม็ดจากที่คาดการณ์ว่ามีต้องได้รับยาราว 2,000 รายต่อวัน ซึ่งได้ขอให้สธ.เพิ่มการสำรองยาให้กทม.จาก 7 วันเป็น 10 วัน โดยตอนนี้มีการปรับยาฟาวิพิราเวียร์ให้เด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี และจะให้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาหลักมากขึ้น โดยจะให้ยาตามข้อบ่งชี้ ตามแนวทางกรมการแพทย์ ไม่ใช่ทุกคนจะได้ยา รวมถึง จะมีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการมาดูเรื่องการรักษาเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะขอให้สธ.สนับสนุนกรรมการด้านวิชาการและอื่นๆ
ครองเตียงถึง 80 %ขยายเตียง
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการประสานเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วยกับรพ.เอกชนกรณีต้องรับผู้ป่วยเหลืองแดงอย่างไร พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า ขณะนี้รพ.ในส่วนของภาครัฐยังรองรับได้ โดยอัตราครองเตียงเหลืองแดงอยู่ที่ 47.8 % เป็นในส่วนของภาครัฐยังไม่รวมรพ.เอกชน อย่างไรก็ตาม มีการประสานความร่วมมือกับรพ.เอกชนด้วยดีมาตลอดตั้งแต่มีสถานการณ์ และหากมีความจำเป็นต้องประสานรพ.เอกชนในการรับผู้ป่วยเหลืองก็จะดำเนินการได้ โดยหากมีอัตรการครองเตียงสีเหลืองแดงถึง 80 % ต่อเนื่อง 2-3 วันและมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจะเร่งขยายเตียง จะมีการหารือรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง
ส่วนการเตรียมพร้อมรพ.สนาม หรือ Community Isolation นั้น พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า กทม.พร้อมจะเปิด แต่รพ.สนามยังมีอยู่ โดย CI มีการเตรียมไว้ประมาณ 5 แห่ง 320 เตียง แต่รพ.สนามยังเหลืออยู่ และคนกรุงเทพฯไม่นิยมพักรพ.สนาม แต่ดีตรงโควิด-19ตอนนี้ส่วนใหญ่อาการไม่มาก เป็นกลุ่มสีเขียว
กทม.พร้อมปรับลด-งดกิจกรรม
พญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า กรณีการจัดกิจกรรมต่างๆของกทม. ได้ดำเนินการตามคำสั่งศบค.ช่วงปลายมิ.ย.ข้อกำหนดฉบับที่ 46 ปรับมาตรการให้ผ่อนคลายสมดุลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ กทม.จึงมีการจัดกิจกรรมทั้งหนังกลางแปลงและดนตรีในสวน โดยมีมาตรการควบคุมต่างๆ และที่ผ่านมายังไม่พบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหญ่จากกิจกรรม อย่างไรก็ตาม จะมีการเพิ่มมาตรการโดยกรณีที่เป็นผู้ค้าหากไม่มีผลATKมาแสดงก็จะดำเนินการตรวจหาเชื้อ ผู้ร่วมงานที่ไม่มีหน้ากากอนามัยก็จะแจกให้ และอนาคตหากพบความเสี่ยงมากขึ้นพร้อมปรับลดหรืองดไป
ขั้นตอนรับบริการเขียว-เหลือง-แดง
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า ข้อปฏิบัติของผู้ติดเชื้อในพื้นที่กทม. อยากขอความร่วมมือประชาชน กรณีที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ที่ต้องการยาสามารถติดต่อหน่วยบริกการสาธารณสุขหรือรพ.ใกล้บ้านตามสิทธิ์โดยตรง จะมีระบบจัดส่งยาหรือนัดรับยา
ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง ที่มีอาการอยากนอนรพ.หรือคิดว่าตัวเองต้องนอนรพ. สามารถไปติดต่อรพ.ได้เลย โดยรพ.จะพิจารณาโดยแพทย์ และผู้ป่วยสีแดง ไอ หอบเหนื่อย เดินทางไม่ได้ สามารถโทรสายด่วนฉุกเฉิน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีทีมประเมินอาการ นำรถไปรับและนำส่งรพ. ซึ่งมีเตียงรองรับ และหลังจากได้รับการติดต่อแล้วจะดำเนินการภายใน 1 ชั่วโมง โดยสามารถใช้สิทธิUCEP เข้ารับบริการที่ใกล้ที่สุดได้
“กรณีรพ.เอกชน ทางศูนย์เอราวัณได้ประสานทำงานมาตั้งแต่เดลตาระบาด หลักๆ ถ้าเป็นสีแดง รพ.เอกชน สามารถรับได้อยู่แล้วเพราะเข้าข่ายสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตมีสิทธิทุกที่หรือUCEP แต่หลักๆ จะบริหารจาก รพ.รัฐก่อน หากไม่พอก็ต้องขอความร่วมมือเอกชน ซึ่งเชื่อว่าประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกันไม่เป็นอุปสรรค” นพ.สุขสันต์ กล่าว