รู้จัก "แดชบอร์ด" สปสช. รวมศูนย์ข้อมูลสุขภาพ ใครบ้างที่ได้ประโยชน์
"สปสช." พัฒนาระบบ "แดชบอร์ด" ต่อยอดจากการบูรณาการข้อมูลในช่วงวิกฤติ "โควิด-19" สู่การพัฒนาฐานข้อมูลบริการสุขภาพประชาชน หน่วยบริการ และการจัดงบประมาณ สปสช. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก แก้ปัญหาระบบสาธารณสุข ดีเดย์ เริ่มใช้งาน 9 ส.ค. นี้
“แดชบอร์ด” ในภาคเอกชนมีการใช้และพูดถึงในระยะหนึ่ง เป็นหน้าจอที่สรุปภาพให้เห็น โดยเอาข้อมูลมาเรียงร้อย เสนอในมิติให้เข้าใจง่าย ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา เมื่อเดือน ก.ค. 64 ที่ผ่านมา สปสช. ได้พัฒนา “แดชบอร์ด” ในการใช้งานร่วมกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และกทม. ในการมอนิเตอร์ผู้ป่วยโควิดที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา
ขณะเดียวกัน สำหรับ สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลสิทธิบัตรทอง 48 ล้านคน รวมถึงสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม ที่ใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพ มีการเก็บข้อมูล ผู้ป่วยนอก การส่งเสริมสุขภาพ และ ผู้ป่วยใน รูปแบบดิจิทัลตั้งแต่ปี 2545 รวมกว่า 2,000 ล้านเรคคอร์ด
ดังนั้น การนำข้อมูลทั้งหมดมาบูรณาการร่วมกับหน่วยบริการเพื่อสื่อสารให้ทั้งประชาชน หน่วยบริการ รวมถึงนักวิชาการนักวิจัย ผ่านระบบ “แดชบอร์ด สปสช.” ให้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยจะเริ่มเปิดใช้งานในวันที่ 9 ส.ค. นี้
วันนี้ (2 ส.ค. 65) “พญ.ลลิตยา กองคำ” รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในงานแถลงข่าว มารู้จัก “แดชบอร์ด สปสช.” ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยอธิบายว่า แดชบอร์ด ในภาคเอกชนมีการใช้และมีการพูดถึงมาในระยะหนึ่ง เป็นหน้าจอที่สรุปภาพให้เราเห็น โดยเอาข้อมูลมาเรียงร้อย เสนอในมิติให้เข้าใจง่าย หัวใจสำคัญ คือข้อมูล ในส่วนของ สปสช. มีจำนวนเยอะมาก มีการเก็บในรูปแบบดิจิทัลตั้งแต่ปี 2545 และมีการพัฒนาเก็บมาตลอด แต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
รวมศูนย์ข้อมูลโควิด
ช่วง โควิด-19 สปสช. ได้จับมือกับ กทม. ในการทำแดชบอร์ด เริ่มในช่วง ก.ค.64 ที่เดลตาระบาด เนื่องจากมีประชาชนโทรหา สายด่วน สปสช.1330 จำนวนมาก ทำให้สายล่มทุกวันแม้จะพยายามขยายแล้วก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อมูลสำคัญ คือ การกำกับติดตามแต่ละวัน รายชั่วโมง สายเข้า รวมถึงจำนวนของประชาชนที่ลงทะเบียน และต้องการที่จะเข้ารับการรักษา
ขณะเดียวกัน อุปสรรคสำคัญ ในช่วงที่ยังไม่มีคนดูแล คือ ประชาชนพยายามโทรไปทุกที่ ข้อมูลเกิดการซ้ำซ้อนและทุกหน่วยงานพยายามแก้ไขปัญหา ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การบูรณาการข้อมูลให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อรู้ว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลจากหน่วยงานใดไปแล้วบ้าง เกิดการบูรณาการข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น Co-Lab , CO-link , Co-ward เพื่อดูได้แบบเรียลไทม์ว่ายังเหลือผู้ป่วยที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนรับเข้าดูแลจำนวนกี่คน นับเป็นจุดเริ่มต้นในการนำแดชบอร์ดมาใช้ให้เกิดประโยชน์
จากโควิด สู่พัฒนาระบบสุขภาพ
จุดเริ่มต้นจากโควิด เกิดการใช้ประโยชน์จากแดชบอร์ดมากขึ้น “พญ.ลลิตยา เล่าต่อไปว่า หลังโควิดมีการนำแดชบอร์ดมาใช้ในอีกหลายกลุ่มโรค รวมถึง ข้อมูลบริการครบเกือบทุกอย่างตามสิทธิประโยชน์ โดยเลือกประเด็นสำคัญที่ต้องกำกับติดตาม เช่น การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งเป็น Pain point สำคัญในการป้องกันโรคทั้งประชาชน ระบบบริการ และผู้ให้งบประมาณ รวมถึง ข้อมูลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ใช้ข้อมูลในการจ่ายงบประมาณ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ การให้บริการเทเลเมดิซีน และมะเร็งตามนโยบาย มะเร็งรักษาทุกที่ และการบริหารจัดการยาเวชภัณฑ์ เพื่อมอนิเตอร์ในเรื่องของการใช้และเข้าถึง
“แต่ละปี สปสช. บริหารงบประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท โดยภารกิจของเรา คือ ต้องคืนข้อมูลและตอบกับสังคมว่าเราใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร ประชาชนเข้าถึงบริการหรือไม่ ยุคนี้การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ ในการยกระดับประเทศ ทำให้เกิดการเอาข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะข้อมูลที่เราได้มาจากภารกิจในการบริหารหลักประกัน เป็นหน้าที่ที่จะคืนข้อมูลให้ประชาชน หน่วยบริการ และสังคม” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน “ประเทือง เผ่าดิษฐ” ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนข้อมูลดิจิทัล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเสริมว่า ข้อมูลของ สปสช. ตั้งแต่ข้อมูลผู้ป่วยนอก สร้างเสริมสุขภาพ และผู้ป่วยใน ตอนนี้มีมากกว่า 2,000 ล้านเรคคอร์ด เวลานำมาใช้ประโยชน์ ต้องใช้คำว่าบูรณาการเพราะข้อมูลเก็บอยู่หลายแหล่ง ผ่านมาจากหลายโปรแกรม ต้องแปลงในรูปแบบพร้อมใช้ ดูง่าย เพื่อให้นักวิชาการหรือหน่วยงานอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์
ปัจจุบัน มีการพัฒนาแดชบอร์ด ในการเก็บข้อมูล อาทิ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยติดตาม 3 ส่วนหลัก คือ
1. สถานการณ์การเข้าถึงบริการของประชาชน เช่น คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ฝากครรภ์ โดยมีข้อมูลงบประมาณที่ สปสช. ได้รับจากรัฐบาลมีการใช้จ่ายอย่างไร
2. หน่วยบริการจะสามารถดูได้ว่า ประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายของหน่วยบริการเป็นอย่างไรเบิกได้เร็ว หรือ ช้า
และสุดท้าย 3. ประสิทธิภาพของ สปสช. สามารถดูกระบวนการเบิกว่าถึงขั้นตอนไหน หน่วยบริการก็สามารถติดตามได้
“รวมถึงข้อมูลการเข้าถึงบริการของประชาชน ทั้งในระดับเขต จังหวัด โรงพยาบาล และหน่วยให้บริการ เพื่อการพัฒนาต่อ หากกิจกรรมนี้มีหน่วยบริการน้อย ต้องเพิ่มหน่วยบริการให้ประชาชนเข้าถึง”
ถัดมา เป็นกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ซึ่งมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง ราว 50,000 คน สามารถเห็นสถานการณ์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพ สถานการณ์หน่วยที่ฟอกเลือด ล้างไตแต่ละเขต ศักยภาพของหน่วยบริการ ตรงไหนเป็นพื้นที่ขาดแคลนก็ต้องหาหน่วยมาเพิ่มเพื่อให้บริการประชาชน
“การกำกับติดตามยา ในโครงการพิเศษ” ที่เป็นยาแพง และเข้าถึงยาก แม้จะคนใช้ไม่เยอะ แต่มูลค่าสูง ปัจจุบัน มีประชาชนเข้าถึงราว 2.3 แสนรายกระจายอยู่ทั่วประเทศ หน่วยบริการสามารถดูสต๊อกยา คาดการณ์ปริมาณยาในอีก 7 วันข้างหน้าเป็นข้อมูลประโยชน์ให้กับคนไข้ด้วย
รวมถึงการเก็บข้อมูล ผู้ป่วยโควิดสีเขียวในระบบ “เจอ แจก จบ” ซึ่งสามารถดูข้อมูลได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับเขต และ ข้อมูลการให้ “บริการเทเลเมดิซีน” สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว จาก กู๊ด ด็อกเตอร์ (Good Doctor) และ True HEALTH (ทรู เฮลท์) บอกจำนวนการใช้บริการ ประชานสามารปรึกษาแพทย์ได้ผ่านออนไลน์และมีระบบส่งยาที่บ้าน
ใครสามารถเข้าถึงข้อมูล "แดชบอร์ด" ได้บ้าง
กลุ่มที่สามารถเข้าถึงการใช้งาน “แดชบอร์ด สปสช.” แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน มีการปรับข้อมูลเพื่อให้ดูง่ายขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลเดิม
2. หน่วยบริการ ซึ่งอาจจะต้องมีการเข้ารหัส ข้อมูลอาจจะไม่ต้องปรับอะไรมากเนื่องจากเข้าใจศัพท์เทคนิคการแพทย์อยู่แล้ว
3. กลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย เปิดให้ดาวน์โหลดข้อมูล โดยทำชุดข้อมูลมาตรฐาน ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคล หรือ PDPA
พัฒนาบริการตอบโจทย์ประชาชน
การพัฒนาดังกล่าว นับเป็นการเดินหน้าสู่แผนปฏิบัติราชการฉบับที่ 5 ปี 2566 – 2570 ประเด็นหนึ่งคือ การยกระดับองค์กรให้เป็นดิจิทัล และมีส่วนหนึ่ง คือ การใช้ประโยชน์ของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จึงเป็นเป้าหมายในการพัฒนาระบบของข้อมูล และเปิดข้อมูลให้กับสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักวิชาการ หรือหน่วยบริการมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือ การแก้ปัญหาสาธารสุขของประเทศ ทั้งจากที่ สปสช. ดูแลเรื่องของกองทุน และรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักวิจัย เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ในเชิงลึก และเชิงคาดการณ์ จะเป็นประโยชน์กับ สปสช. อย่างมากในการบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรงกับความต้องการประชาชน และในอนาคตจะมีการทำงานร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพประชาชนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย
สำหรับ “แดชบอร์ด สปสช.” จะเปิดให้เข้าถึงข้อมูล ดีเดย์วันที่ 9 ส.ค. 2565 นี้ สามารถติดตามข้อมูลช่องทางการใช้งาน ได้ที่ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเว็บไซต์ สปสช. คลิก