6 หน่วยงานปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข สร้างคนไทยทุกคนสุขภาพดี
6 หน่วยงาน ร่วมขับเคลื่อน “ก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1: Health security” สร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร พัฒนา Digital Health เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ช่วยคนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี
วันนี้ (4 ส.ค.2565) ที่โรมแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมจัดการประชุมปรึกษาหารือ “ก้าวต่อไปของการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 : Health security”
- ปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 : Health security”
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลายหน่วยงานร่วมกันหาแนวทางในการปฎิรูปด้านสาธารณสุข สุขภาพของประเทศ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการดำเนินงานให้เกิดขึ้นได้ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดลำดับนโยบายและประเด็นสำคัญ
ความเชื่อมโยงของการปฏิรูปกับแผนงาน บทบาทของ WHO-CCS PHE Program และ EPI (Ending Pandemic through Innovation) ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปที่สำคัญอย่างต่อเนื่องในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การจัดประชุมปรึกษาหารือฯ ในครั้งนี้ ยังคงกำหนดประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การปฏิรูปและสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร 2. การพัฒนา Digital Health/Health Information Systems 3. การสร้างความเข้มแข็งของ NRA (National Regulatory Authority)
- สร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี
โดยเฉพาะการจัดให้มีรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรแบบใหม่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลสารสนเทศเรื่องสุขภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และข้อมูลสุขภาพไม่ได้อยู่เพียงหน่วยงานในสาธารณสุข ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการใช้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯเข้าถึงการบริการสุขภาพที่ดี
“บทเรียนจากโควิด-19 เป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและมีความเสียหายเกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะวงการแพทย์ แต่เสียหายถึงเศรษฐกิจ กำลังคน และด้านการศึกษา ความร่วมมือครั้งนี้ มีความตั้งใจในการผลักดันเพื่อทำให้คนไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพ ไม่มีสิ่งใดที่สำคัญไปกว่าเรื่องของพื้นฐานการมีความมั่นคงด้านสุขภาพ นั่นคือ คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ. อุดม กล่าว
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าการทำงานของแต่ละกระทรวงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นต่างคนต่างทำ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการปฎิรูปด้านสาธารณสุข หรือสุขภาพ อันเป็นความมั่นคงของประเทศ จะทำให้ทุกกระทรวงได้ทำงานเชื่อมโยงกัน ทั้งในเรื่องของข้อมูลด้านสุขภาพ การวิจัย และนวัตกรรม
“อว.ได้ร่วมมือกับสธ.ในการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านดิจิทัล Telemedicine การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาล UHOSNET และงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำงานหน่วยบริการปฐมภูมิและการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ภายใต้ประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้” ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าว
- ยกระดับการบริการสุขภาพปฐมภูมิ
ทั้งนี้ โดยนำแผนงานและกิจกรรมคณะปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 มาขับเคลื่อนภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้ประสานงานหน่วยงานและขับเคลื่อนหลัก และสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อน เพื่อประโยชน์แก่การบริการสุขภาพประชาชน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องของสุขภาพมากขึ้น และเข้าใจว่าสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก ได้มีการชื่นชมการทำงานของประเทศไทย ในการรับมือกับโควิด-19 ทั้งในส่วนของการกำหนดนโบบายที่เข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะระบบการบริการประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ ปฐมภูมิ
“ เรื่องสุขภาพในเขตเมือง แม้จะมีทรัพยากรจำนวนมาก แต่จากรับมือโควิด พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจำนวนมาก และไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่กทม. แต่อำเภอใหญ่ในทุกจังหวัดของประเทศล้วนมีปัญหาใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะการขาดระบบกลไกในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เรื่องของเห็นปัญหาในการรับมือโควิด ในอำเภอใหญ่ทุกจังหวัดของไทย มีความใกล้เคียงกัน เนื่องจากขาดระบบกลไกบางอย่าง และเรื่องของดิจิทัลเฮลท์ (Digital Health)”นพ.โอภาส กล่าว
ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านยา วัคซีน และการบริการทางการแพทย์ ซึ่งในประเทศเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางของความร่วมมือในครั้งนี้ ดังนั้น ประเด็นต่างๆ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ อีกทั้ง กฎหมายของสธ. เป็นการวางระบบเชิงสาธารณสุขไว้ แต่ในทางปฎิบัติสามารถบูรณาการกำหนดระบบในการใช้ได้
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้บริการสุขภาพ สธ.จึงได้มีแนวทาง นโยบายในการพัฒนา อสม.มาอย่างต่อเนื่อง อย่าง นโยบาย 3 หมอ ที่จะยกระดับอสม.ให้เป็นเสมือนหมอคนแรกของทุกคน และสามารถเชื่อมโยงอสม.ของประเทศเข้าด้วยกัน
นอกจากนั้น จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้ในการบริการทางการแพทย์ เช่น ระบบ Telemedicine, Application Smart อสม. ซึ่งทางสธ.ไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด จะต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งสำคัญมากในการพัฒนาด้านสาธารณสุขให้ประเทศเจริญไปอีกขั้น
- ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปฎิรูปสาธารณสุขไทย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้พัฒนาและขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา โดยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนด้านดิจิทัล พัฒนาระบบเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพการบริการแก่ประชาชนได้ในที่สุด ผ่านระบบ Health Link ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล
ร่วมทั้ง ขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปประเทศเรื่อง Data Repository ให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพร่วมกับ 5 กระทรวง และสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลนำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 13 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทาง สธ. ในการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลสุขภาพ
- ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ถือเป็นจุดอ่อนของกทม.
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าการปฎิรูปสาธารณสุข มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งกทม.ได้รับบทเรียนอย่างหนักจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบูรณาการข้อมูล และการจัดการทรัพยากร กทม.เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนมากแต่กลับพบว่า ผู้ป่วยโควิด ไม่มีเตียง ทำให้เห็นว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิ ถือเป็นจุดอ่อนของกทม.
"กทม.จึงได้จัดทำนโยบายด้านสุขภาพไว้กว่า 34 ข้อ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพ ให้ชีวิตประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียม ระบบบริการปฐมภูมิเป็นหน่วยบริการที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพราะเป็นหน่วยเชื่อมต่อการบริการสุขภาพพื้นฐานสู่การบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ" รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าว
จากการประชุมแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิครั้งก่อน กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือและ ความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น การขับเคลื่อนราชพิพัฒน์ model (Sandbox) เป็นหนึ่งนโยบายที่เราจะทดลองการทำงานภายใต้ข้อเสนอแนะของคณะปฏิรูป และนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ
- กทม.พร้อมขับเคลื่อนปฎิรูปสุขภาพ
การบริการจัดการระดับเขต System manager model เป็นส่วนที่มีความสำคัญและเราคิดว่าจะมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงระบบ ร่วมถึงการเพิ่มจำนวนอาสาสมัครในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เพียงพอและคลอบคลุมกลุ่มประชากร
เพิ่มการนำเทคโนโลยี Telemedicine เข้ามายกระดับการบริการซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและบริการโดยจากความร่วมมือของ 12 หน่วยงานภายใต้เขตสุขภาพที่ 13 และสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญ
รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าวอีกว่ากทม. พร้อมให้ความร่วมมือ และให้นโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินการ เพื่อให้การขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูปประเทศไปด้วยกัน
- กสทช.เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประเทศ
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กล่าวว่า การร่วมขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง
กสทช.ได้จัดตั้งกองทุนการบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) เรียกโดยย่อว่า USO เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง อันจะเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม
ในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมาเราพบการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและบริการด้านสาธารณสุขของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นตัวกำหนดในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของประชาชนอย่างมาก
"กสทช. เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดสรรงบประมาณบางส่วน เพื่อสนับสนุนการขยายผลการระบบดิจิทัล Telemedicine ช่วยส่งเสริมการบริการด้านสาธารณสุข โดยส่วนที่เราได้เริ่มนำร่องไปแล้ว คือ การจัดสรรงบประมาณร่วมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดทำคลาวด์สำหรับเขตสุขภาพช่วยให้การเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น" ศ.คลินิก นพ.สรณ กล่าว