แหวกม่านเมืองสามหมอก
เส้นทางนับพันโค้งเหวี่ยงให้คนหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งความวุ่นวายสู่กลางหุบเขาและสายหมอกของฤดูฝน
ถ้าประตูไปไหนก็ได้ของโดราเอม่อนมีอยู่จริง คงมีหลายคนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อมัน และหนึ่งในบัญชีรายชื่อจุดหมายอีกฝั่งของประตูที่หลายคนปรารถนาจะเปิดออกไปพบต้องมี ‘แม่ฮ่องสอน’ บรรจุอยู่ด้วยแน่นอน
อาจจะจริงที่เหตุผลคือเพราะไม่อยากวิงเวียนกับโค้งนับพัน แม้ว่านั่นคืออีกเสน่ห์ของแม่ฮ่องสอนที่หลายคนกล่าวขวัญถึง แต่เหตุผลหลักน่าจะเพราะจังหวัดนี้มีต้นทุนทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตของคนหลากหลายเชื้อชาติ หลายหลากวัฒนธรรม มีความสงบเงียบ ง่ายงาม หลายคนจึงหมายปองที่จะมาเที่ยว มาพักผ่อน หรือแม้กระทั่งมาลงหลักปักฐาน
- แม่ฮ่องสอน on the bridge
เมื่อไม่มีประตูไปไหนก็ได้ และโลกความจริงไม่มีโดราเอม่อน เราจึงยังต้องใช้ยานพาหนะที่คุ้นเคยเพื่อมาถึงยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วก็เป็นอย่างที่คาดไว้ กว่าจะผ่านเส้นทาง ‘สุดเหวี่ยง’ มาได้ นับว่าเหนื่อยพอสมควร
ไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินประโยคทำนองว่า “ถ้าลำบาก จะเห็นคุณค่าของความสบาย” หรือเปล่า เพราะเมื่อผ่านพ้นสารพัดความรู้สึกมาได้ สิ่งที่พบคือเมืองเล็กๆ น่ารัก และมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก
จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนมุ่งหน้าไปทางอำเภอปายประมาณ 8 กิโลเมตร จะมาถึงหมู่บ้านกุงไม้สัก เป็นที่ตั้งของสะพานไม้ไผ่ที่เรียกได้ว่ากลายเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอนไปแล้ว
ซูตองเป้ ถูกเผยแพร่ตามหน้าสื่อต่างๆ มากมาย ด้วยความสวยงามของสะพานที่ทอดยาวจากสวนธรรมภูสมะไปยังหมู่บ้านกุงไม้สัก พาดผ่านท้องทุ่งนาและแม่น้ำสายเล็กๆ จนได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยว แต่แรกเริ่มเดิมทีสะพานนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์ว่าเพื่อใช้สัญจรไปมาระหว่างสวนธรรมภูสมะและหมู่บ้านกุงไม้สัก และเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้เพื่อเดินบิณฑบาต สะพานนี้จึงเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของแรงศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อพระพุทธศาสนา
ซึ่งแรงศรัทธาดังกล่าวนั้นก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นสะพานด้วยระยะเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยที่ชาวบ้านระดมสรรพกำลังและบริจาคเสาบ้านและเสาไม้ที่ไม่ได้ใช้มาสร้างเป็นสะพาน มีพื้นทำจากไม้ไผ่สานกันอย่างหนาแน่นแข็งแรง เกิดเป็นสะพานไม้ไผ่กว้าง 2 เมตร ยาว 500 เมตร ที่ดูสอดคล้องกับธรรมชาติรอบข้างซึ่งเป็นทุ่งนา
สำหรับคำว่า ‘ซูตองเป้’ นั้นเป็นภาษาไทยใหญ่ หมายความว่า ความสำเร็จ จึงมีความเชื่อว่าหากได้มายืนอธิษฐานที่กลางสะพานแล้วจะประสบความสำเร็จ สมหวังดังใจหมาย
แต่สำหรับคนที่ต้องการกราบไหว้ขอพรพระอย่างจริงๆ จังๆ ที่สวนธรรมภูสมะมี พระเจ้าพารา ซูตองเป้ หรือ พระพุทธสามัคคีอธิษฐานมหาจักรพรรดิ หรืออีกชื่อคือ มหาจักรพรรดิอธิษฐานสำเร็จ ประดิษฐานให้กราบไหว้และชื่นชมในพุทธศิลป์
ด้วยความยาวราวครึ่งกิโลเมตรพอบวกกับทิวทัศน์ตลอดทางที่เดินผ่านทำให้ได้ใช้เวลาหมดไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว มุมนี้ก็สวย มุมนั้นก็น่าถ่ายรูป นอกจากความสำเร็จด้านประโยชน์ใช้สอยหลัก ตลอดหลายปีที่สะพานเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยังเกิดความสำเร็จเรื่องรายได้ที่เข้าสู่ชุมชนอีกด้วย
ขณะที่กำลังเดินเล่นอยู่บนสะพานซูตองเป้ สังเกตเห็นว่าข้างๆ นั้นมีสถานที่หนึ่งดูแปลกตา แต่ว่าน่าสนใจ เมื่อเที่ยวสะพานไม้ไผ่จนสาแก่ใจจึงได้ลองไปยังสถานที่นั้น
ป้ายที่ทำจากไม้ไผ่ตงเรียงกัน แล้วมีตัวหนังสือที่ได้แรงบันดาลใจจากตัวหนังสือของไทยใหญ่ เขียนว่า กุงคุณลุง ตั้งตระหง่านต้อนรับทุกคนที่มาเยือน
ที่นี่ได้รับการนิยามจากเจ้าของว่าเป็น “สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” นั่นทำให้เมื่อเข้ามา สิ่งแรกที่สะดุดตาจึงเป็นไร่กระเทียมและไร่ถั่วลายเสือ แม้ท้องจะร่ำร้องหาอาหาร และอาการคอแห้งจะเตือนว่าควรจะแวะหาน้ำดื่ม แต่ความน่าสนใจของไร่กระเทียมและไร่ถั่วลายเสือกลับเชื้อเชิญให้เราเดินขึ้นไปบนสะพานสุขวิถีเพื่อชมวิวจากมุมสูงบนสะพานซึ่งเดินไปได้ไกลถึงอีกฟากของไร่ แถมยังมีศาลายื่นออกไปให้นั่งชมวิวรับลมด้วย
ถ้าหากเดินเลาะเลียบไร่ไปด้านหลัง จะพบกับโซนริมธารแสนร่มรื่นเพราะมีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นอยู่ริมลำธาร ตรงนี้มีร้านกาแฟเล็กๆ แต่น่ารักให้ได้นั่งพักจิบเครื่องดื่มเย็นๆ
ทว่าร้านหลักของกุงคุณลุงตั้งอยู่ด้านหน้า เป็นอาคารเรือนกระจกติดแอร์ ตกแต่งด้วยสีสันฉูดฉาดให้ความรู้สึกสนุกสดชื่น และนอกจากบรรยากาศยังมีอาหารและเครื่องดื่มมากมายที่จะเรียกความกระปรี้กระเปร่าให้กลับมาไม่ว่าจะเหนื่อยจากการเดินทางหรือจากการเดินเล่นมาเมื่อครู่ เช่น กาแฟ ชาไทย ชาเขียว โกโก้ น้ำผลไม้ปั่น และที่พลาดไม่ได้คือ ไอศกรีมถั่วลายเสือ ซิกเนเจอร์ของร้าน รสชาติหวานหอมเข้มข้น แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบเนยถั่วอาจไม่ถูกใจนักเพราะมีความละม้ายเนยถั่วมากทีเดียว
สำหรับคนที่หิวจัดหรือต้องการฝากท้องที่นี่ ก็มีอาหารหลายประเภทให้ลิ้มลอง ทั้งแบบจานเดี่ยว ตามสั่ง หรือแม้กระทั่งแบบบุฟเฟ่ต์ราคาย่อมเยา แต่จัดเต็มด้วยเมนูและวัตถุดิบชั้นเยี่ยมซึ่งส่วนมากมาจากไร่จากสวนของร้านเอง โดยเฉพาะถั่ว ซึ่งถั่วคุณลุงได้พัฒนาเป็นสินค้าระดับมาตรฐานสากล โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คุณค่าอาหารของไทย (Thailand Food Forward)
- แม่สะเรียง is calling
ถึงจะไม่ได้ชื่อเรียม แต่ก็คล้ายยินเสียงแม่สะเรียงร้องเรียก (จากเพลงแม่สะเรียง ของไพศาล ปัญโญ) แม้อำเภอแม่สะเรียงจะไม่ค่อยได้รับความนิยมในฐานะเมืองท่องเที่ยวสักเท่าไร แต่ความเป็นแม่สะเรียงที่ไม่ว่าจะมากี่ปี มากี่ครั้งก็ยังรับรู้ถึงความเรียบง่าย หากเปรียบเป็นดนตรีก็คงเป็นแนวเพื่อชีวิตในยุคเริ่มต้น คือมีความหมาย มีความไพเราะ แต่เฉพาะกลุ่ม และไม่มีทีท่าว่าจะง้องอนให้ใครมาสนใจสักเท่าไรนัก วิถีชีวิตของคนอำเภอนี้จึงดำเนินไปตามวิถีจริงๆ
ตั้งแต่เช้าตรู่ ตามตรอกซอกซอยอาจจะค่อนข้างเงียบ แต่ที่อีกมุมหนึ่งกำลังคึกคัก
ที่แม่สะเรียงมีทั้งตลาดสดประจำอำเภอและตลาดนัดขนาดใหญ่ แน่นอนว่าคาแรกเตอร์ของสองตลาดนั้นแตกต่างกัน หากต้องการวัตถุดิบไม่ว่าจะเพื่อทำกินในบ้านหรือทำขายที่ร้าน ตลาดสดตอบโจทย์แน่นอน เพราะมีทั้งวัตถุดิบทั่วไป อย่างหมู เห็ด เป็ด ไก่ ไปจนถึงปลาแม่น้ำตัวโตๆ ที่จับมาจากแม่น้ำยวม ส่วนตลาดนัดนั้นอาจดูคึกคักกว่าเพราะมีสินค้าหลากหลายทั้งอุปโภคและบริโภค แต่ในความหลากหลายก็ยังพอมีกลิ่นอายท้องถิ่นซุกซ่อนอยู่บ้าง
ถึงแม่สะเรียงยามเช้าจะเข้าข่ายเรียบง่าย ซึ่งปัจจุบันผู้คนแสวงหาวิถีชีวิตแบบนี้กันมากขึ้น จนเกิดกระแส Slow life บ้าง Minimalist บ้าง Simple life บ้าง แต่ที่นี่ไม่ต้องพยายามเพราะเป็นอย่างนี้แต่ไหนแต่ไร ทำให้เราทอดเวลาไปได้เรื่อยๆ เมื่อมาที่นี่ ทว่ามาแม่สะเรียงทั้งที จะแค่เดินตลาดไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าที่นี่มีสมญานามว่าเป็น ‘ดินแดนพระธาตุสี่จอม’ เราจึงต้องไปเยือนให้ได้ชื่อว่ามาถึงแล้ว
สำหรับพระธาตุทั้งสี่จอม ได้แก่ วัดพระธาตุจอมแจ้ง วัดพระธาตุจอมทอง วัดพระธาตุจอมกิตติ และวัดพระธาตุจอมมอญ ซึ่งทั้งสี่วัดนั้นตั้งอยู่บนดอยและภูเขาทั้งสี่ทิศของอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยปกปักษ์รักษาเมืองให้ปลอดภัยและผู้คนในเมืองอยู่เย็นเป็นสุข และเชื่อกันว่าถ้าใครได้สักการะพระธาตุครบทั้งสี่จอมจะเป็นสิริมงคลที่สุดและจะมีบุญญาบารมี
แต่คราวนี้ด้วยระยะเวลาและระยะทาง ทำให้ต้องหารสอง จากพระธาตุสี่จอมจึงเหลือแค่สองจอม
จอมแรกที่ไปคือ วัดพระธาตุจอมมอญ ตั้งอยู่บนเขาที่ตำบลบ้านกาด แต่ค่อนข้างสะดวกสบายเพราะมีถนนที่รถขึ้นมาถึงใกล้องค์พระธาตุเพียงนิดเดียว เพียงเดินไม่ทันเหนื่อยก็จะพบองค์พระธาตุลักษณะเป็นเจดีย์แบบล้านนา ชาวบ้านเชื่อกันว่าพระธาตุจอมมอญศักดิ์สิทธิ์มาก จึงมีผู้คนขึ้นมากราบไหว้ขอพรอยู่ตลอด นอกจากนี้ที่นี่ยังมีรอยเท้าอรหันต์ 7 ขวบ ซึ่งในเดือนกรกฎาคมของทุกปีจะมีงานฉลอง และมีพระพุทธรูปหลวงพ่อโต สูง 15 เมตร หน้าตักกว้าง 19 เมตร เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเช่นกัน
แต่หลังจากไหว้พระธาตุเสร็จมั่นใจได้ว่าไม่ว่าใครก็ต้องอ้อยอิ่งอยู่กับวิวแบบพาโนรามาจากลานที่ประดิษฐานพระธาตุ เพราะเมื่อมองออกไปจะเห็นทั้งทิวเขาเป็นฉากหลังและมีทุ่งนาและหย่อมบ้านกระจายตัวอยู่ นับเป็นวิวที่สวยจนต้องกดชัตเตอร์เป็นที่ระลึกหลายภาพทีเดียว
ส่วนพระธาตุจอมที่สอง คือ วัดพระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่บนเขาเช่นกันแต่อยู่คนละตำบล ที่นี่คือตำบลแม่ยวม และอีกอย่างที่แตกต่างคือถนนขึ้นสู่องค์พระธาตุไม่ได้สะดวกสบายนัก ทางเลือกของคนที่ต้องการมานมัสการจึงเหลือแค่เดินขึ้นบันไดนาค 339 ขั้น
เมื่อขึ้นไปถึงจะเจอองค์พระธาตุมีลักษณะเป็นสถูปแบบล้านนา ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงมีชาวบ้านศรัทธาและขึ้นมาสักการะตลอด นอกจากความศักดิ์สิทธิ์แล้วแน่นอนว่าที่นี่เป็นอีกจุดชมวิวชั้นเลิศ จากบนนี้จะมองเห็นอำเภอแม่สะเรียงได้
- See ya ละอูบ
ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน อาทิ ไทยใหญ่ ปกาเกอะญอ ลาหู่ ม้ง ลีซู ฯลฯ มีชาติพันธุ์หนึ่งที่บางคนอาจไม่รู้จัก นั่นคือ ‘เลอเวือะ’ หรือ ‘ละว้า’ หรือ ‘ลัวะ’ นั่นเอง
แต่กับที่ บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อยออกไปถึง 32 กิโลเมตร จนแทบจะถึงอำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่อยู่แล้ว คือบ้านของชาวละว้าอย่างแท้จริง แม้ดั้งเดิมจะอาศัยอยู่ที่ระมิงค์นคร ใต้การปกครองของขุนหลวงวิลังคะซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองเชียงใหม่ แล้วได้อพยพมาอยู่ตามป่าเขาในเขตอำเภอแม่สะเรียงและแม่ลาน้อยจนถึงปัจจุบัน
เมื่อตั้งรกรากกันที่นี่จนกลายเป็นหมู่บ้านชาวละว้าในที่สุด ทำให้บ้านละอูบมีวิถีชีวิตของชาวละว้าอย่างไม่ปรุงแต่งใดๆ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างและเทคโนโลยีได้เข้ามาถึงพื้นที่นี้แล้ว แต่จากที่ได้สัมผัสยังนับว่าชาวละว้ายังไม่ละทิ้งตัวตน สังเกตได้จากพวกเขายังอยู่ กิน ใช้ และทำเกือบทุกอย่างตามประเพณี การสืบสานถูกส่งต่อยังรุ่นสู่รุ่นผ่านภูมิปัญญาต่างๆ เช่น การทอผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวละว้า
การทอผ้าของชาวละว้า เป็นภูมิปัญญาตั้งแต่บรรพบุรุษ เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานบนเขาบนดอยต้องการเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย จึงคิดปลูกฝ้ายแล้วนำมาทอเป็นผ้าด้วยเครื่องมือที่เรียกว่ากี่เอว และมีลวดลายเฉพาะ แบ่งเป็น 3 ลาย คือ ปุ๊กดำ ปุ๊กแดง และลายตวน
ปุ๊กดำและปุ๊กแดงเป็นลายผ้าของผู้หญิงละว้า ส่วนลายตวนใช้ในงานแต่งงานหรืองานศพโดยสีแดงในลายตวนหมายถึงเพศชาย สีดำคือเพศหญิง จึงนำสองสีมารวมกัน
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบันชาวละว้ายังสวมใส่เสื้อผ้าประจำชนเผ่าในงานพิธีสำคัญๆ หรืออย่างการต้อนรับแขกเหรื่อ มีบ้างที่สวมเสื้อผ้าทั่วไปตามสมัยนิยม ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงการเปลี่ยนผันของยุคสมัย สิ่งสำคัญกว่าคือคนรุ่นต่อไปยังได้รับการปลูกฝังให้เห็นคุณค่าอัตลักษณ์ของตัวเองแค่ไหน
นอกจากผ้า ชาวละว้ายังมีชื่อด้าน การทำเครื่องเงิน โดยที่ยังทำด้วยมือและเครื่องไม้เครื่องมือแบบดั้งเดิมเกือบทั้งหมด ยกเว้นพวกถังแก๊สและหัวพ่นไฟ ทำให้เครื่องเงินที่ได้เป็นผลงานศิลปะที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกแน่นอน ยิ่งเป็นลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวละว้ายิ่งทำให้เครื่องเงินของบ้านละอูบได้รับการยอมรับจากผู้ที่ชื่นชอบทั้งในและต่างประเทศ
ภูมิปัญญาของชาวละว้าไม่ได้มีแค่เรื่องศิลปะหรืองานหัตถกรรม แต่ยังสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตด้านต่างๆ ตลอดจนเรื่องอาหารการกิน ซึ่งเป็นธรรมเนียมเมื่อมีแขกแก้วมาเยือน ชาวละว้าจะทำ โต๊ะสะเบื๊อก หรือเรียกสั้นๆ ว่า สะเบื๊อก เพื่อเลี้ยงต้อนรับ
ในห้องครัวที่แสงลอดผ่าน เผยให้เห็นเครื่องครัวที่ถูกใช้งานมานานแรมปี ควันไฟจากกองฟืนซึ่งกำลังให้ความร้อนแก่หม้อใบหนึ่ง ในนั้นมีหมูสามชั้นชิ้นงามสุกกำลังดี หญิงสาวชาวละว้านำหมูชิ้นนั้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ คลุกเคล้ากับผัก พริก และสมุนไพรหลายชนิด ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำมะนาว รสชาติออกไปทางยำแต่มีกลิ่นหอมของเครื่องเทศช่วยตัดเลี่ยนของหมูสามชั้นได้ดี (ซึ่งก็ตรงกับความหมายของคำว่า โต๊ะ คือ เนื้อหมู และสะเบื๊อก คือ ยำ รวมกันคือยำเนื้อหมู)
ก่อนบอกลาจากบ้านละอูบ ที่ตรงจุดสูงสุดของหมู่บ้าน คือที่ตั้งของ วัดละอูบ แม้จะไม่ได้มีหน้าตาเหมือนวัดทั่วไป แต่ความเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านทำให้บริเวณที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ นามว่า พระพุทธนิโรคันตรายนริศรจตุรุทิศประชานาถ ประดิษฐานอยู่นั้นเปรียบดั่งอารามให้ชาวบ้านละอูบได้ยึดเหนี่ยวและประกอบศาสนพิธีตามแบบพุทธ นอกเหนือจากพิธีกรรมดั้งเดิมที่ชาวบ้านนับถือผี
และบนจุดที่สูงที่สุดนี้เอง เราได้เห็นธรรมชาติ เห็นวิถีชีวิต เห็นภูมิปัญญา เห็นความเป็นแม่ฮ่องสอนที่รวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้มากมาย ทั้งหมดคือความงดงามที่ได้เห็นก่อนจะบอกลาจนกว่าจะพบกันใหม่